ตีมีด

วิถีชีวิตและอัตลักษณ์

บ้านขามแดงเป็นชุมชนดั้งเดิม ความเป็นอยู่ของชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม และอาชีพตีมีด ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ชาวบ้านขามแดงอยู่กันอย่างมีความสุข รักใคร่ปรองดอง รักสงบ ชอบทำบุญโดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษา และงานทำบุญประจำปีต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้ทำบุญแล้วยังได้พบปะกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน และให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน

กลุ่มตีมีดบ้านขามแดง

ในสมัยโบราณมีการใช้อาวุธและของมีคมกันทุกบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ทั้งในการทำสงครามและการทำกิจวัตรประจำวัน ทั้งการออกล่าสัตว์หรือทำงานในไร่นา หรือแม้แต่ในครัวเรือน เรียกว่ามีดหรืออุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กจำเป็นจะต้องมีทุกครัวเรือน

กลุ่มตีมีดมีมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นอาชีพที่มีการสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยมีผู้อาวุโสเป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่เยาวชนในลักษณะการลงมือปฏิบัติเมื่อเกิดความชำนาญแล้วก็จะเข้ามาร่วมงานกับกลุ่ม และด้วยการผลิตมีดที่มีคุณภาพทำให้มีดบ้านขามแดงมีชื่อเสียง จึงเป็นแหล่งความรู้ด้านตีมีดที่สำคัญของจังหวัดลำปางและได้นำงานตีมีดไปเผยแพร่และเข้าร่วมแสดงผลงานในงานต่าง ๆ มากมาย

ขั้นตอนในการตีมีดเริ่มจาก ตัดเหล็กตามขนาดและชนิดมีดที่ต้องการ นำมาเผาที่อุณหภูมิสูงมาก จนทำให้เหล็กร้อนเป็นสีแดง นำมาตัดและตีขึ้นรูป แล้วนำไปเผาไฟเพื่อตีตบแต่งขึ้นรูปอีกครั้ง จากนั้นจะใช้หินเจียระไนทำการปัดแต่งเพื่อให้มีดสวยงามและมีความคม แล้วนำไปเผาไฟและชุบคมในน้ำให้เหล็กมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น นำไปเข้าด้ามโดยการใช้ตัวครั่งเป็นตัวประสาน ก็จะได้มีดที่พร้อมจะนำส่งออกไปขายสู่ท้องตลาด

นอกจากการตีมีดทั่วไปแล้ว ที่บ้านขามแดงยังมีการตีมีดดาบโบราณอีกด้วย โดยพ่อครูบุญตัน สิทธิไพศาล ได้ศึกษาการตีมีดดาบ ทำฝักมีดดาบ และการตีมีดทุกชนิดจากสล่าบุญมาซึ่งเป็นช่างตีมีดาบที่เก่งและมีชื่อเสียงมากของหมู่บ้านขามแดง ต่อมาได้ศึกษาจากตำราเกี่ยวกับคุณลักษณะของดาบทั้งดาบโบราณและดาบของต่างชาติประกอบกับเป็นคนช่างคิด ช่างทำ และช่างสังเกตจึงพัฒนารูปแบบของมีดรวมทั้งกระบวนการและวิธีตีมีดให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นตัวอย่างมีดดาบ ได้แก่ ดาบโบราณ ดาบแลว เทวมาสเตอร์ กูละข่า ซามูไร ขวานโทมาฮอก เป็นต้น และที่บ้านของพ่อครูบุญตัน ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการตีมีดดาบโบราณอีกด้วย

ชุมชนบ้านขามแดงยังคงยึดถืออาชีพตีเหล็กเรื่อยมาจนปัจจุบันแม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปเพราะมีคู่แข่งคือเครื่องจักสานเข้ามาแทนที่ ทำให้หมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลเดียวกันต้องเลิกราไปมีการปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ตามยุคสมัย โดยเฉพาะช่วยสงครามโลกครั้งที่สอง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตคือเหล็กจะหายากแต่ชาวบ้านยังประยุกต์โดยเอาลูกระเบิดที่ด้านมาทำเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตมีดและสินค้าอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้รักการทำอาชีพนี้แม้ในยามที่เกิดวิกฤต ดังนั้นชุมชนแห่งนี้จึงรักชีพนี้และหวงแหนให้เป็นอาชีพมรดกแก่รุ่นลูก รุ่นหลานสืบไป