ประวัติ กศน.ตำบล

ประวัติความเป็นมาของกศน.ตำบล

ศูนย์การเรียนชุมชนตำบลป่าซาง ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ บ้านป่าซาง หมู่ที่ ๑ ตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ผู้ดูแลศูนย์การเรียนชุมชนป่าซางคนแรก คือ นางสาวชรินธร มณีรัตน์ ตำแหน่งพนักงานราชการ ซึ่งเป็น ผู้จัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนตำบลป่าซาง โดยได้ประสานงานกับเทศบาลตำบลป่าซาง ขอใช้ชั้นบนของอาคารห้องสมุดประชาชนเทศบาลตำบลป่าซาง ซึ่งเป็นอาคารไม้อยู่ในที่ว่าการอำเภอป่าซาง เป็นศูนย์การเรียนชุมชนตำบลป่าซาง ซึ่งทางเทศบาลตำบลป่าซาง ก็ได้อนุญาตให้ใช้ และได้ออกค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคทั้งหมดให้ศูนย์การเรียนชุมชนตำบลป่าซาง ครูศูนย์การเรียนชุมชนตำบลป่าซางคนที่สองถึงปัจจุบันคือ นางสาวเหมือนฝัน ศิริจันทร์บุตร ได้ดำเนินการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ๕ ประเภทด้วยกัน คือ การศึกษาสายสามัญ (ประถม ม.ต้น และ ม.ปลาย) การศึกษาสายอาชีพ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมชุมชน และการศึกษาตามอัธยาศัย ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวผลปรากฏว่าได้รับการตอบสนองจากประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว

อีกทั้งยังได้รับนโยบายจากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และสำนักงาน กศน.จังหวัดลำพูดจัดโครงการหมู่บ้านฐานความรู้โดยนำเอาประเด็นหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ พรบ.การศึกษาชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และพรบ.กศน.๒๕๕๑ ที่มีเจตจำนงให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนั้นการที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้จึงเป็นประเด็นสำคัญ ประสบการณ์ที่ผ่านมาประชาชนโดนเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ได้ให้ความสนใจเข้ารับการศึกษารูปแบบนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของหน่วยงาน กศน.น้อย สาเหตุสำคัญที่พบประการหนึ่งคือการศึกษาที่หน่วยงานจัดแปลกแยกจากชีวิตของประชาชน การศึกษาเป็นเรื่องไกลตัวผู้เรียน ทำให้ประชาชนไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ดังนั้นความคิดของการศึกษานอกระบบในจังหวัดลำพูนจึงมีแนวความคิดว่าชีวิตคือการศึกษา การศึกษาถือวิถีชีวิต และการเรียนรู้ของประชาชนต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตวิถีชุมชน ประชาชน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่อยู่นอกระบบโรงเรียนมีประสบการณ์มามากมาย สะสมองค์ความรู้ในตัวเองมามากเช่น องค์ความรู้ในเรื่องการทำสวนของเกษตรกร องค์ความรู้เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องลำไย เรื่องวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องอื่น ๆ มากมาย ดังนั้นประชาชนไม่ใช่จะเป็นศูนย์ของความรู้ แต่มีอะไรในตนเอง ที่มีคุณค่าในตัวเอง การยอมรับในประสบการณ์ องค์ความรู้ของบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

หมู่บ้านฐานความรู้จึงเริ่มจากแนวคิดของการยอมรับองค์ความรู้ของบุคคลและชุมชน สำรวจและทำความเข้าใจในองค์ความรู้และวิถีชุมชน นำองค์ความรู้ที่เขามีอยู่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่เขามีอยู่พัฒนาต่อยอด และขยายองค์ความรู้ที่เขามีไปสู่บุคคลอื่นและเพิ่มเติมในส่วนที่เขาขาด จะเป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับตังของประชาชนเองทำให้ประชาชนคิดว่าการศึกษาและการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อตัวเขาเอง การดำเนินโครงการหมู่บ้านฐานความรู้ของจังหวัดลำพูนจึงเริ่มจากการที่มอบหมายและจัดส่งครู กศน.รับผิดชอบหมู่บ้านเป้าหมาย ทำความรู้จักคุ้นเคยกับประชาชนในชุมชนทุกคน ศึกษา และเก็บข้อมูลชุมชนอย่างละเอียดกระทำตัวเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในชุมชน ค้นหาปัญหาและสภาพของชุมชน รวมกลุ่มสมาชิกชุมชนเปิดเวทีชาวบ้านในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง แล้วมากำหนดแนวทางรูปแบบของการจัดการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการเรียนรู้ ๓ ลักษณะกิจกรรมด้วยกัน ได้แก่ กิจกรรมการเรียนรู้ที่กลุ่มและสมาชิกดำเนินการเองจากผู้รู้ชุมชน เรียนรู้ร่วมกัน หรือลงมือปฏิบัติจริงในชุมชน รูปแบบที่ ๒ เรียนรู้จากองค์การหรือหน่วยงานอื่นที่ชุมชน หรือ ครู กศน.ประสานให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ และประการสุดท้ายคือกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครู กศน. ดำเนินการจัดเอง หัวใจสำคัญของโครงการหมู่บ้านฐานความรู้คือการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสนใจ ใฝ่รู้ มีทักษะของการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยกลุ่ม กิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชนที่เกิดขึ้นมีหลากหลายรูปแบบตามความพร้อมความสนใจ และวิถีการที่เหมาะสมของแต่ละชุมชนเช่น การเรียนรู้จากการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มสมาชิก การเรียนรู้จากผู้รู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากวิทยากรภายนอก จากการศึกษาดูงาน จากการส่งไปศึกษาเรียนรู้แหล่งเรียนรู้อื่น เป็นต้น ซึ่งจะมีหลากหลายรูปแบบวิธีการของชุมชน สิ่งที่ กศน.ต้องรองรับคือ ยืดหยุ่นในการจัดกิจกรรมโดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้งพัฒนาหลักสูตรบนฐานความรู้ของชุมชน มีระบบของการรองรับกระบวนการเรียนรู้ การเทียบโอน การประเมินสะสมความรู้ และการประเมินเทียบวัดประสบการณ์เข้าสู่หลักสูตรพื้นฐาน หากบุคคลใดมีความต้องการที่จะเทียบวัดเข้าสู่ระบบของการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบทางเลือกหนึ่งของการศึกษาประชาชน ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนในชุมชนได้รับการเรียนรู้ที่จำเป็นและต่อเนื่องตลอดชีวิต อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และการศึกษาเป็นการตอบสนองและแก้ปัญหาของชุมชน ของชาติต่อไปในที่สุด

โดย นางสาวเหมือนฝัน ศิริจันทร์บุตร

การจัดกิจกรรมดิจิทัลชุมชน สร้างร้านค้าออนไลน์

กิจกรรม Smart Farmer

กิจกรรมการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน

กิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมชุมชน

กิจกรรมการศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง