กศน.ตลาดแตก

สวนทุเรียนที่ อ.นายูง ซึ่งปลูกได้ผลผลิตดี รสชาติเข้มข้นมีลูกค้ามาสั่งจองถึงสวนและไม่พอขาย

ที่สวนสวรรณยา บ.ท่าโปงทอง ม.5 ต.โนนทอง อ.นายูง ของนายเส็ง ทองเหง้า อายุ 54 ปี เกษตรกรผสมผสานตัวอย่าง มีรายได้จากสวนยางพารา 10 ไร่ , เงาะโรงเรียน 4 ไร่ , ทุเรียนหมอนทอง 1 ไร่ , บ่อปลา 2 ไร่ และปรับลดพื้นที่สวนยางพาราเก่า 13 ไร่ มาปลูกไม้ผล , กล้วย , มะละกอ , อื่นๆ และปลูกแปลงหญ้าเลี้ยงวัว แม่พันธุ์ลูกผสมเพื่อผลิต วัวลูกชาโลเล่ป้อนผู้เลี้ยงโคขุน

โดยเฉพาะ “ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง” ปลูกอยู่บนเนินดินสูงหลังบ้าน ผสมอยู่กับเงาะโรงเรียน ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่ปลูกมาตั้งแต่ปี 2544 ได้ผลผลิตปีแรกปี 2549 บางส่วนเก็บวางขายที่หน้าบ้าน จนปี 2558 โฮมเคเบิ้ลทีวี และสื่อท้องถิ่น ได้นำเสนอข่าวนี้ ทำให้มีคำสั่งซื้อมามาก บอกว่าเป็นทุเรียนมีรสชาติเข้มข้น หลายคนเรียกว่า “ทุเรียนป่านายูง” จนมาถึงปี 59 , 60 มีคำสั่งซื้อจนไม่มีวางขายหน้าบ้าน ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อทางโทรศัพท์(087-8647967) และเฟสบุ๊คลูกสาว (Milk Sawanya) ของหน่วยงานราชการ และลูกค้าในตัวเมือง กก.ละ 80-95 บาท


นายเส็ง เล่าว่า ไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมแถว จ.ระยอง 4-5 ปี ได้รู้จักและนับถือ “พ่อมา สุขขัง” เป็นพ่อบุญธรรม ท่านปลูกทุเรียนส่งออก และนำความรู้กลับมาปลูกที่อุดรธานี เอามา 25 ต้น ตายก่อนปลูก 5 ต้น ปลูกไปโตรอดทั้งหมด โดยไม่ได้ใช้สารเคมีเพราะแพ้ และพื้นที่ปลูกเป็นที่สูง จึงถูกแมลงกัดกินลำต้น และลมพัดล้มตายไปเหลือ 11 ต้น เฉลี่ยแต่ละต้นจะให้ผลผลิตราว 100 กก. นำไปขายในราคาตลาด ได้เงินปีละ 7-8 หมื่นบาท ทั้งนี้ จะปลูกทุเรียนและไม้ผลอื่นๆ เพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากยางพาราเป็นหลัก ปลูกเท่าที่มีกำลังดูแลได้ แม้ได้ผลน่าพอใจก็ไม่ได้ปลูกเพิ่ม เพียงแต่เอามาปลูกเสริมที่ตายไป ส่วนชาวบ้านแถบนี้ไม่ได้ปลูก เพราะยางพารา มันสำปะหลัง ราคาผลผลิตยังสูงอยู่ แต่เมื่อราคาสินค้าเกษตรตกลง ทำให้หลายคน จะลดพื้นที่ปลูกยาง โดยมีชาวบ้านห้วยโปงทอง ปลูกทุเรียนไปแล้ว ราว 20 ไร่ และยังมีพื้นที่อื่นๆ อีก