การเลี้ยงนกเขาใหญ่

การเลี้ยงนกเขาใหญ่

คุณพ่อประครอง ใคร่นุ่นกา

ถ้าเข้าไปในย่านชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนชนบทหรือชุมชนเมือง เรามักจะเห็นกรงนกที่แขวนไว้ตามบ้าน ซึ่งมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล หนึ่งในนั้นที่มีจำนวนไม่น้อยคือ นกเขาใหญ่ ซึ่งนกเขาใหญ่ได้มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตัั้งแต่โบราณ เป็นนกที่เลี้ยงง่าย น่ารัก ช่างจดจำเจ้าของ นิยมเลี้ยงเป็นงานอดิเรกไว้ฟังเสียงขัน กระทั่งเป็นเกมกีฬาประชันเสียง และต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยง ผู้เพาะพันธุ์ ส่งผลให้วงการ นกเขาใหญ่ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีอีกบางกลุ่มที่มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เลี้ยงเพื่อจะเป็นนกต่อ หล่อนกป่าเข้ามาเพื่อจับไปเลี้ยงต่อ หรือไม่ก็ทำเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัว

นกเขาใหญ่หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า นกเขาหลวง นกเขาหม้อ เป็นสมาชิกหนึ่งในวงศ์นกพิราบและนกเขา กระจายพันธุ์ในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา ทางตะวันออกถึงตอนใต้ของประเทศจีน ในเมืองไทยพบทั่วทุกภาคตามป่าเปิด พื้นที่การเกษตร และในเมือง ลักษณะทั่วไปของนกเขาใหญ่คือ ลำตัวมีขนสีน้ำตาล ขนด้านหลังสีเข้มกว่าท้อง หัวสีเทา ด้านข้างของคอและท้ายทอยมีแถบสีดำกว้าง และมีจุดกลมเล็ก ๆ สีขาวกระจายอยู่เป็นจำนวนมากคล้ายปกเสื้อ จะงอกปากสีดำงุ้มลง ม่านตาสีเหลืองถึงสีส้มจาง ขาและนิ้วเท้าสีแดง เล็บสีน้ำตาลเหลือบดำ สำหรับประเภทของนกเขาใหญ่ มีเกณฑ์การจำแนกหลายอย่าง เช่น แบ่งตามแหล่งที่มา ลักษณะสีขน ลักษณะการร้องในสำนวนต่าง ๆ โดยเฉพาะการแบ่งประเภทนกตามตำราโบราณซึ่งได้มีการรวบรวมไว้ รวมถึงนกเขาใหญ่สวยงามที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ในเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วทุกภาคของเมืองไทย รวมถึงในต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลางและเพื่อนบ้านของเรา อาทิ เวียดนาม ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็สั่งซื้อนกเขาใหญ่สวยงามไปเพาะเลี้ยงเช่นกัน

ทาง กศน.ตำบลนาทม อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี ได้ลงพื้นที่สำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่น จนได้รู้จัก คุณพ่อประครอง ใคร่นุ่นกา อายุ 53 ปีอยู่บ้านที่ 32 หมู่ที่ 4 บ้านโนนสวรรค์ ตำบลนาทม อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี ที่ท่านมีประสบการณ์ในการเลี้ยงนกเขาใหญ่มากว่า 30 ปี โดยคุณพ่อประครอง เล่าให้ฟังว่าที่ตนเลี้ยงไว้เพื่อออกต่อ หล่อนกเขาใหญ่ตามธรรมชาติเพื่อมาเป็นอาหาร ตัวไหนเห็นว่าเสียงดีหรือมีลักษณะพิเศษตามตำรานกมงคลก็เก็บไว้เลี้ยงต่อไป ปัจจุบันคุณพ่อประครอง ใคร่นุ่นกา เลี้ยงนกเขาใหญ่ไว้ประมาณ 40 ตัว โดยขังแยกกรงเลี้ยงเดี่ยว อาหารที่ใช้เลี้ยงนกเขาใหญ่คุณพ่อประครอง บอกว่าจะให้ข้าวเปลือกเป็นหลัก และก็เสริมด้วยเมล็ดหญ้ามินเล็ตอาหารนกเขาที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป มีอาหารลูกไก่เสริมบ้างเล็กน้อย หินกรวดเม็ดเล็กๆ และก็ดินดำที่ผ่านกระบวนการทำเพื่อให้นกเขาใหญ่โดยเฉพาะ ขาดไม่ได้คือน้ำสะอาด ทั้งหมดนี้จะใส่ภาชนะไว้ในกรงให้กินตลอดเวลา

โดยธรรมชาติแล้วนกเขาใหญ่จะมีเสียงขันอยู่ ๓ ลักษณะ ดังนี้

1. ขันโยน หรือขันธรรมดา เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของถิ่น ด้วยเสียงขัน “กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก หรือกุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก กุ๊ก ” ซึ่งถือว่าเป็นเสียงขันธรรมดาทั่วๆ ไปตามปกติ แต่ถ้าตัวผู้ขันโยน (กุ๊ก…กรู…กรู…กุ๊ก) แล้วเห็นตัวเมียหรือตัวผู้ตัวอื่นจะเปลี่ยนจากการโยนเป็นเสียงขันเรียกทันที

ลักษณะของการขันโยน

1) ปกตินกเขาจะขันโยน 4 เสียง หรือ 4 พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก เรียกว่าขัน 1 ชุด แล้วก็จะขันชุดใหม่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ

2) ขัน 2 กุ๊ก หรือเรียกว่านก 2 กุ๊ก คือนกเขาที่ขันครบ 1 ชุดแล้วจะมีเสียง กุ๊ก เพิ่มต่อมาอีก นับรวมแล้วเป็น 5 เสียง หรือ 5 พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก กุ๊ก และถ้าขัน 2 กุ๊ก แล้วถ้ามีเสียง กุ๊ก เพิ่มต่อมาอีก นับรวมแล้วเป็น 6 เสียง หรือ 6 พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก เรียกว่านก 3 กุ๊ก ดังนั้นจะเรียกว่านก 4กุ๊ก 5 กุ๊ก ให้ฟังจากเสียง กุ๊ก แล้วนับรวมว่าทั้งหมดมีกี่เสียงหรือกี่พยางค์ อย่างไรก็ตาม บางท้องถิ่นเห็นว่าท้ายเสียง 3-4 กุ๊ก ที่กระแทกกระทั้น เรียกว่า “นกเขากระทุ้งโลง” เป็นนกที่เบิกไม่ดีหรือไม่ต้องโฉลกจึงมักไม่นิยมเลี้ยงกัน

3) นกหลิ่ว คือ นกที่ขันเพียง 3 เสียง หรือ 3 พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….โดยไม่มีเสียง กุ๊ก เพิ่มมา แต่ถ้านกหลิ่วขันมากกว่า 1 ชุดหรือขันหลาย ๆ ชุด เรียกว่า นกหลิ่วตัน เช่น ชุดที่ 1 กุ๊ก…กรู…กรู…. ชุดที่ ๒ กุ๊ก…กรู…กรู… ชุดที่ 3 กุ๊ก…กรู…กรู….เป็นต้น

4) นกหลิ่วแกมกุ๊ก คือนกหลิ่วขัน 3 เสียง หรือ 3 พยางค์ คือ กุ๊ก…กรู…กรู….แล้วพอขันชุดใหม่กลับเพิ่มเสียง กุ๊ก ในเสียงที่ 4 หรือพยางค์ที่ 4 เช่น ชุดที่ 1 กุ๊ก…กรู…กรู…. ชุดที่ 2 กุ๊ก…กรู…กรู….กุ๊ก

2. ขันคู เมื่อนกเขามาประจันหน้ากันก็จะขันด้วยเสียง จู้ กรู…จู้ กรู ในทำนองแสดงอำนาจขู่ ขับไล่ หรือไม่ก็เป็นการท้าทาย บางตัวอาจตะเบ็งเสียงแข่งด้วยความไม่พอใจ

3. ขันเรียก เป็นเสียงขันที่เรียกว่า “คารม” บางท่านเรียกว่า “เบิกดี” ถ้าตัวผู้เห็นตัวเมียจะส่งเสียง “ขันเรียก” ด้วยคารมให้มาสนใจ แต่ถ้าเห็นตัวผู้ตัวอื่นจะขันท้าทายด้วยคารมหรือท้าคารม อีกทั้งเพื่อโอ้อวดแสดงให้ตัวเมียเห็นถึงความสามารถ ความเก่งกาจ ในช่วงนี้นกขันปะทะคารมกัน นกจะรู้โดยธรรมชาติว่าใครมีอำนาจของเสียงที่เหนือกว่า หรือมีคารมที่ขันถี่เพื่อข่มคู่ต่อสู้ให้ยอมสยบ นกตัวที่รู้ว่าตนด้อยกว่าหรือไม่มีทางสู้ได้ก็จะบินหนีไป

กรงที่สำหรับใช้เลี้ยงนกเขาใหญ่พ่อประครอง บอกว่าขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน คนที่เลี้ยงไม่กี่ตัวก็อาจจะใช้กรงที่มีราคาแพงได้เพราะมีความสวยงามประณีตทำจากวัสดุธรรมชาติชั้นดีพวกนี้จะสวยงามคงทน ส่วนมากมักจะซื้อมาใส่นกมงคลที่มีราคาแพง ส่วนนกทั่วไปเลี้ยงฟังเสียงขันก็อาจจะเป็นกรงไม้ไผ่ธรรมดา หรือกรงลวดที่มีราคาถูก จะทำใช้เองก็มีต้นทุนต่ำ ส่วนตัวจะชอบกรงแบบต้นทุนต่ำเพราะนกคุณพ่อประครองมีจำนวนมากถ้าซื้อหรือทำกรงที่มีราคาหรือต้นทุนแพงคงไม่ไหว แกพูดแล้วหัวเราะเล็กน้อย

แต่หลังๆมามีสื่อโซเชียลเปิดความรู้โดยการแนะนำของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอทุ่งฝนจังหวัดอุดรธานี สำนักงาน กศน.จังหวัดอุดรธานี ทำให้ได้ศึกษาการเลี้ยงนกเขาจากพื้นที่อื่นๆ ที่ต่างจากตนเคยเลี้ยงมาแต่ก่อน จึงลองนำมาใช้กับนกเขาที่เลี้ยงไว้ซึ่งแต่ก่อนเคยเลี้ยงแต่ในกรง แต่ที่แปลกใหม่คือเลี้ยงแบบผูกขายืนบนชานก็แปลกไปอีกแบบ

คุณพ่อประครอง เล่าให้ฟังว่าชานนกก็จะมีหลายแบบเช่นทำมาจากหวายจริงบ้าง หวายเทียมบ้าง ฝาพัดลมเก่าบ้างแต่ตนชอบฝาพัดลมเก่าเพราะมันหาง่าย ชานนกเขาใหญ่ เขาใช้เลี้ยงนกเขาต่อดิน โดยทางอีสานบ้านเราแต่ก่อนไม่มีมีแต่ต่อแบบเพนียดที่เอาไปไว้ตามต้นไม้ แต่ต่อดินนี่จะล่ามขานกหรือใส่กระโจมไว้พื้นดิน โดยนกป่าจะมาติดครุนที่ปักไว้รอบๆตัวนกต่อ ซึ่งก็เป็นวิธีจับนกที่ตนใช้ในปัจจุบันนี้ เพราะมันได้นกป่าเร็วกว่าการต่อแบบใช้เพนียดเหมือนแต่ก่อนนี่เป็นความเห็นของตนไม่รู้ว่าคนอื่นจะคิดยังไง

ทางผู้สำรวจได้สอบถามคุณพ่อประครองใคร่นุ่นกาถึงตำรานกมงคลที่คุณพ่อได้สืบทอดมาว่ามีอะไรบ้างแตกต่างจากที่อื่นไหม คุณพ่อประครองบอกว่าไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ภาพรวมก็เหมือนๆกัน เช่นคูอ่างคือคู3พยางค์ ขันโยน3กุก และมีอย่างอื่นอีก ดังต่อไปนี้

1. ถ้าแข้งสีแดงจัด และมีเล็บขาวสะอาด ท่านว่า เลี้ยงไว้ในบ้านเรือนสามารถป้องกันอัคคีภัยได้ดีนักแล

2. ถ้าสร้อยคอขาวคาดจุดดำจำนวนมาก ท่านว่า เป็นนกนำโชคมาให้เจ้าของจะทำให้ได้ลาภเงินทอง ของใช้จากคนอื่นเสมอ ๆ

3. ถ้าเกร็ดที่หน้าแข็งมีครบ 9 คู่ หรือ 18 เกร็ดเรียงสลับกันโดยลำดับท่านว่าดีปานกลาง

4. ถ้าเล็บดุด คือสลับกันเล็กบ้างใหญ่บ้างเหมือนแข้งไก่ชน ท่านว่าเป็นลักษณะของนกเขาที่ให้คุณ จะเป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป เจ้าของจะมีอำนาจวาสนามีบริวารมาก

5. ถ้าฟังเสียงร้องเสียงคู่สำเนียงฟังคล้ายกับว่า กรุก กรู ติดต่อกัน 3 ครั้ง 9 ครั้ง โดยไม่หยุดพักเลย ท่านว่าเป็นนกเขาค่าควรเมือง จะให้ลาภแก่เจ้าของทุกประการ ดีนักแล

6. ถ้าเสียงขันเสียงคู ออกสำเนียงคล้ายกับว่า กวัก กรู กวัก กรู หลาย ๆ ครั้ง ยิ่งครบ 5 หรือ 9 ครั้งยิ่งดี ท่านว่า เจ้าของและครอบครัวจะประสบโชคทางการเงินไหลมา เทามา ทรัพย์สินเนืองนอง ไม่อดอยากเลย คำคุณเจ้าของ และบริวารในครอบครัวดีนัก

7. ถ้าเสียงขันเสียงคูฟังนิ่มนวลเป็นเสียงเดียวกัน และอ่อนหวานเวลาขันทำท่าคล้ายเอาศีรษะกวักเข้ามาด้วย ท่านว่าเป็นลักษณะวิเศษ จะนำโชคลาภเกียรติยศชื่อเสียงมาให้เจ้าของ และบริวารดีนักควรเอาเงินทองใส่ในภาชนะน้ำ ให้นกดังกล่าวดื่มกินเถิดจะได้ลาภภายใน 3 วัน 7 วันแน่แท้เลย

8. ถ้านกเขาใหญ่ตัวใด มีขนตรงหัวมีลวดลายคล้ายองค์พระพุทธรูป ที่ปีกมีลวดลายคล้ายตัวนะ กลางหลังมีคล้ายตัวโม ขนที่คอมีคล้ายตัว พุทกลางหลังมีคล้ายตัว ธา และที่หางมีคล้ายตัวยะ ริมขอบตามทั้ง 2 ข้าง มีคล้าย ขนอุณาโลม ท่านว่า นกเขาตัวนั้นหาค่ามิได้ ค่าควรเมืองยิ่งนัก ถ้าได้พบเห็นราคาเท่าไรก็ขอให้ซื้อมา แล้วทำกรงทาสีทองให้อยู่เถิด เจ้าของจะร่ำรวยภายใน 3 วัน 7 วัน จะทำราชการค้าขายหรือประกอบกิจการใด ๆ ท่านว่าเจริญก้าวหน้า มีกำไรทุกอย่าง ดีนักแล

9. ถ้านกเขาใหญ่ ตัวใด ขับคูออกเสียงเป็นจังหวะ "กรุก กรู ๆ ๆ เจ้าหัวกู ๆ ๆ กรู ๆ" ทำนองคล้ายกันนี้ ท่านว่านกตัวนั้นเป็นนกอุดมโชคเจ้าของจะทำมาค้าขึ้น ประกอบกิจการงานใด จะรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไปสารทิศใด ๆ จะมีคนอุปถัมภ์ค้ำชู ไม่อดอยากเลย ดีนักแล

10. ถ้านกเขาตัวใด มีขนคอปนจุดสีดำรอบคอ มองเห็นได้ชัดเจนดี ท่านว่านกตัวนั้นจะให้คุณ ถึงแม่ว่าเจ้าของจะยากจน ก็จะร่ำรวยในไม่ช้า จะมีลาภผลเกิดขึ้นมาโดยเร็ว อย่างประหลาดใจทีเดียว ค้าขายไม่น่าจะร่ำรวยก็ร่ำรวย เป็นข้าราชการก็จะได้ยศได้ขั้นเงินเดือนมากกว่าใคร ๆ ในรุ่นเดียวกันดีนักแล

11. ถ้านกตัวใดมีขนออกที่ริมฝีปากทั้งสองข้าง ท่านว่าเป็นนกนำลาภมาให้เลี้ยงไว้เถิดจะให้ผู้เลี้ยงประสบโชคดีเสมอ ๆ ดีนักแล

ทางผู้สำรวจได้คุยกับคุณพ่อประครอง ใคร่นุ่นกา จนมาถึงช่วงท้ายๆได้ถามพ่อประครองว่า คุณพ่อมีรายได้จากการเลี้ยงนกเขาใหญ่ทั้งหมดนี้ไหม หรือเลี้ยงเพราะความชอบส่วนตัวเลย คุณพ่อประครองบอกว่าอันดับแรกเลยเลี้ยงเพราะความชอบส่วนตัว เพราะการเลี้ยงนกเขาใหญ่มันคือศิลปะอีกอย่างหนึ่งก็ว่าได้ เช่นเราเริ่มจากต่อนกป่ามาได้ เราต้องฝึกให้นกนิ่งไม่กลัวเรา รู้จักเจ้าของ กล้าขัน กล้าคู พอนิ่งแล้วก็ฝึกต่อเพื่อจะล่อนกป่าอีก พอนกเราเป็นงานแล้ว ต่อเป็นแล้วก็จะมีราคา ประมานตัวละ 2000-5000 บาทเลย มีคนอยากได้เราก็ขายรายได้ก็จะมาเอง คุณพ่อประครองไม่ใช่ว่าจะจับแต่นกป่ามาอย่างเดียวคุณพ่อประครองได้ ผสมนกเขาใหญ่ใว้ด้วยหากลูกนกออกมาใช้ไม่ได้ ต่อไม่เป็นก็จะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อรักษาความสมดุลย์ของระบบนิเวศในท้องถิ่นต่อไป.