ทอผ้ากะเหรี่ยง

ความเป็นมา

ชาวกะเหรี่ยง หรือ ปกากะญอ เป็นชนเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาชาวเขา กระจายกันอยู่ทุกจังหวัดในประเทศไทย ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ชอบใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบในสังคมปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงทั่วไปนอกจากหนุ่มสาวยุคใหม่ที่เดินทางออกจากหมู่บ้านไปศึกษาและทำงานในเมือง จะมีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามชาวเมือง แต่ยังคงมีการแต่งกายและพูดภาษากะเหรี่ยงกันทั่วไป

กะเหรี่ยง หรือ ชาวปกากะญอ นิยมใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอมือมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งแต่เดิมชาวกะเหรี่ยงจะปลูกฝ้ายเอง นำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้าย ย้อมด้วยสีธรรมชาติ สร้างลวดลายด้วยการทอ การปักด้วยเส้นไหม และลูกเดือย สตรีชาวกะเหรี่ยง จะถ่ายทอดภูมิปัญญากระบวนการผลิตผ้าทอ แก่บุตรสาอายุ 12-15 ปี เริ่มจากแบบง่ายๆ ฝึกฝนจนมีความชำนาญ และสามารถออกแบบลวดลายด้วยตนเองได้ สำหรับลวดลายผ้าทอของชาวกะเหรี่ยงนั้น มีเรื่องราวเล่าสืบมาว่า ได้มาจากลายหนังงูใหญ่ ซึ่งเป็นคู่รักในอดีตของหญิงสาวชาวกะเหรี่ยง โดยงูจะเปลี่ยนลายทุกวัน และหญิงสาวก็ทอผ้าตามลายที่ ปรากฏจนครบ 7 วัน ทอได้ 7 ลาย ผ้าทอกะเหรี่ยง มีความงดงามและเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอทีไม่เหมือนใคร การทอผ้าทอกะเหรี่ยง เป็นภูมิปัญญาการทอผ้าแบบ กี่เอว ด้วยเทคนิคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะชาวกะเหรี่ยงเผ่าปกากะญอ การกี่เอว ซึ่งเป็นวิธีการทอผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูง มีการสืบทอดมายาวนานกว่าร้อยปี ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะแห่งเดียวในโลก

เพื่อเป็นการสร้างให้ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เกิดความตระหนัก รักและหวงแหน ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ เป็นการอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ถึงลูกถึงหลาน พร้อมทั้งนำทรัพย์สินทางปัญญามาสู่การพาณิชย์เป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ขจัดปัญหาการไม่มีงานทำนำมาซึ่งความยากจนในชาวเขา เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้กับชาวกะเหรี่ยงชุมชนบนพื้นที่สูงที่มีศักยภาพและมีภูมิปัญญาในการทอผ้าที่สวยงามให้เป็นที่รู้จัก ลวดลายผ้าที่สวดสดงดงาม ออกมาโชว์ให้ชาวโลกได้เห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และ กระจายสินค้าออกไปได้ทั่วประเทศและทั่วโลก

ที่มา..

เรียบเรียงโดย...ดวงพร กิติกาศ ครู กศน.ตำบลทาขุมเงิน