กศน.ตำบลแหลมฟ้าผ่า สังกัดกศน.อำเภอพระสมุทรเจดีย์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัย จังหวัดสมุทรปราการ ที่ตั้งสำนักงาน 149 หมู่ 5 ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 10290

ครู กศน.ตำบลแหลมฟ้าผ่า นายวิมล ยิ่งหาญ โทร : 0818019611

นายวิมล ยิ่งหาญ

ครูกศน.ตำบลแหลมฟ้าผ่า

ประวัติความเป็นมาของตำบลแหลมฟ้าผ่า

ประวัติความเป็นมาของตำบลแหลมฟ้าผ่า

ตำบลแหลมฟ้าผ่า เป็นชุมชนเก่าแก่มีประวัติการตั้งชุมชนมายาวนานเป็นชุมชนชายทะเลอ่าวไทยบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งมาตั้งแต่เดิมและยังเป็นจุดขนถ่ายสินค้าทางเรือที่สำคัญจากการพบซากเรือบรรทุกสินค้าและภาชนะต่างๆ เช่น ถ้วย ชาม ไห เครื่องประดับต่างๆจำนวนมากบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านขุนสมุทรจีนแต่ต่อมาเมื่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีลมมรสุมพัดกระหน่ำชายฝั่งอย่างรุนแรงเกิดการกัดเซาะผืนดินชายฝั่งสูญหายไปเป็นจำนวนมากจนประชาชนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ประกอบกับทางราชการได้เวนคืนที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วนเพื่อใช้ในการราชการทหารประชาชนบางส่วนจึงได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ตามบริเวณริมฝั่งคลองต่างๆซึ่งมีอยู่หลายสายในพื้นที่

ในอดีตพื้นที่ตำบลแหลมฟ้าผ่าถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทยโดยตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นที่ตั้งของป้อมปราการที่มีประวัติศาสตร์การสู้รบเพื่อป้องกันประเทศจากลัทธิการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกโดยในปี2427สถานการณ์ไทยกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกมีความตึงเครียดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้ปรับปรุงและซ่อมแซมป้อมปราการที่ตำบลแหลมฟ้าผ่าให้มีความทันสมัยโดยการจัดซื้อปืนหลุมหรือปืนเสือหมอบขนาด152 มิลลิเมตร จากประเทศอังกฤษ ซึ่งนับว่าเป็นปืนใหญ่ที่ทนสมัยที่สุดในขณะนั้นเข้าประจำการโดยวันที่ 10เมษายน2436พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรีมายังปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อทอดพระเนตรภูมิฐานป้อมตลอดจนทรงทดลองยิงปืนป้อมด้วยพระองค์เองเหล่าเสนาบดีในขณะนั้นจึงได้ลงความเห็นให้ป้อมที่ตำบลแหลมฟ้าผ่ามีชื่อว่า“ป้อมพระจุลจอมเกล้า”ในวันที่13กรกฎาคม2436(ร.ศ.112)ป้อมพระจุลจอมเกล้าได้มีส่วนร่วมสำคัญในการปกป้องอธิปไตยครั้งสำคัญของชาติโดยได้ยิงต่อสู้กับเรือรบของฝรั่งเศสที่จะพยายามรุกล้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อที่จะเข้ามายักรุงเทพมหานครซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์ หนึ่งในประวัติศาสตร์การป้องกันอธิปไตยของชาติไทย

ประวัติ การก่อตั้ง กศน.ตำบลแหลมฟ้าผ่า

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตำบลแหลมฟ้าผ่า เดิมชื่อศูนย์การเรียนชุมชนแหลมฟ้าผ่า เริ่มก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ.2541 ตอนนั้นสถานที่ตั้งอยู่ที่องค์กรบริหารส่วนตำบลแหลมฟ้าผ่า หมู่ที่ 5 ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาในปี พ.ศ.2543 ได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่ทำการสภาหลังเก่าของตำบลแหลมฟ้าผ่าหมู่ที่ 3 ตำบลแหลมฟ้าผ่าอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

ในปี 2551 สถานที่ตั้งศูนย์การเรียนชุมชนแหลมฟ้าผ่า ได้รับงบประมาณโครงการจัดตั้ง ศูนย์กีฬาชุมชน เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกายและทางศูนย์ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอพระสมุทรเจดีย์ได้ขอความอนุเคราะห์จากทางอำเภอพระสมุทรเจดีย์ที่ตั้งอยู่ในหมู่5ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ว่าการ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2552

คณะรัฐมนตรี ได้มติเป็นชอบเห็นชอบ ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่ 2 พ.ศ.2552-2561 ได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย จัดให้มี ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตำบลทุกตำบล จึงเปลี่ยนชื่อศูนย์การเรียนชุมชนแหลมฟ้าผ่า เป็นศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตำบลแหลมฟ้าผ่า และทำพิธีเปิดในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2553

ที่ตั้งสำนักงานปัจจุบัน 149 หมู่ 5 ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 10290

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง กศน.ตำบล

1.เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

2.สร้างและขยายภาคีเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของ กศน.

3.ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของภาคีเครือข่าย

4.ประสานงานและเชื่อมโยงการดำเนินงานจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน

หลักการทำงานของ กศน.ตำบลแหลมฟ้าผ่า

การทำงานของ กศน.ตำบลแหลมฟ้าผ่า ยึดหลักชุมชนเป็นฐานในการดำเนินงานและจัดการเรียนรู้โดยใช้ต้นทุนของชุมชนเช่นอาคาร สถานที่ แหล่งเรียนรู้ วิทยาการภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณีมีการประสานงานเครือข่ายในชุมชนร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในชุมชน/สังคมเข้ามีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรม กศน.ตำบล ทั้งในฐานะผู้ให้บริการผู้รับบริการมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมคิดร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา บูรณาการเรียนรู้และจัดประสบการณ์การเรียนรู้และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับ วิถีชีวิตในชุมชน มีคณะกรรมการกศน.ตำบลเป็นคนในชุมชนให้การส่งเสริมสนับสนุนติดตามดูแลและร่วมประเมินผลการดำเนินงานของ กศน.ตำบลแหลมฟ้าผ่า