วิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย

จังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติความเป็นมา

วิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย จังหวัดสมุทรปราการ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของศิษย์มูลนิธิพระดาบสที่ผ่านการอบรมจากอาจารย์บุญเลิศ ไทยทัตกุล หลักสูตรการเพาะเห็ดแบบครบวงจร ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่ถดถอยหรือวิกฤตเศรษฐกิจ การ พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนจึงต้องเรียนรู้ประเมินค่า ทดลอง และนำไปปฏิบัติ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวบนพื้นฐานของทางสายกลาง เพื่อสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางสภาพการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของ โลกาภิวัฒน์

การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือการพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ภายใต้เงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม เพื่อประกอบการวางแผนการตัดสินใจและการกระทำนำไปสู่ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมที่สมดุลมั่นคงและยั่งยืน การพัฒนานำมาใช้ในการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคม และคู่แข่ง โดยใช้ความรู้จากการเรียนรู้ ประสบการณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาบริหารจัดการช่วยเหลือกันในระบบของวิสาหกิจชุมชน

วิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย จังหวัดสมุทรปราการ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการฝึกอบรมการเพาะเห็ดแบบครบวงจรและการเพาะเห็ดถั่งเช่ารวมถึงการสอนแปรรูปจากเห็ดเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรและลดความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรที่มากเกินความจำเป็นของผู้บริโภคในบางฤดูกาล โดยวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นได้จากการรวมตัวของคนในพื้นที่ ในการเริ่มจัดตั้งนั้นมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 8 คน โดยมีท่านอาจารย์บุญเลิศ ไทยทัตกุล เป็นประธาน ท่านเป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 3 ด้านเกษตรกรรม(การเพาะเห็ดแบบครบวงจร) สำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและเป็นอาสาดาบสในโครงการลูกพระดาบส ปัจจุบันท่านได้เป็นผู้ดูแลวิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย จังหวัดสมุทรปราการแห่งนี้ เนื่องด้วยท่านมีจิตอาสาที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับบุคคลทั่วไปและผู้ที่มีความสนใจเพาะเห็ดเพื่อใช้ทานภายในครัวเรือนโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถขยายเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ได้ ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย จังหวัดสมุทรปราการมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจัดจำหน่ายทั้งขายปลีกและขายส่ง ทั้งสิ้นจำนวน 13 ชนิด ได้แก่ เห็ดกรอบสวรรค์ เห็ดกรอบสมุนไพร เห็ดกรอบขี้เมา น้ำพริกเผาเห็ดตระกูลนางรม น้ำพริกเผาเห็ดหอม น้ำพริกเผาเห็ดโคน เห็ดหลินจือสไลด์ เห็ดหูหนูอบแห้ง น้ำเห็ดแปดเซียน อาหารเสริมเห็ดถั่งเช่าสูตรผู้หญิง อาหารเสริมเห็ดถั่งเช่าสูตรผู้ชาย อาหารเสริมเห็ดหลืนจือ-ถั่งเช่าและยาสีฟันเห็ดหลินจือ-ถั่งเช่า โดยจะเน้นในส่วนของกลุ่มผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพและกลุ่มผู้ทานอาหารมังสวิรัตเป็นหลักหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจและรักสุขภาพ

ความรู้เรื่องการเพาะเห็ดและการแปรรูป

1. การเพาะเลี้ยงเห็ดแบบครบวงจร

ข้าพเจ้าได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงเห็ด แบบครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน 6 ขั้นตอนดังนี้

1. ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด จะแบ่งออกเป็น 3 ขบวนการย่อย

1.1. การเตรียมวุ้น PDA

1.2. การตัดถ่ายเนื้อเยื่อเจริญจากดอกเห็ด

1.3. การตัดถ่ายวุ้น PDA ที่มีเส้นใยสู่วุ้น PDA ขวดใหม่

2. ขั้นตอนการทำหัวเชื้อข้าวฟ่าง จะแบ่งออกเป็น 3 ขบวนการย่อย

2.1. การต้มข้าวฟ่าง

2.2. การนึ่งขวดข้าวฟ่าง แบบระบบสเตอร์ริไลส์

2.3. การตัดถ่ายวุ้น PDA ลงข้าวฟ่าง

3. ขั้นตอนการทำก้อนเห็ด จะแบ่งออกเป็น 4 ขบวนการย่อย

3.1. การเตรียมวัสดุในการเพาะ

3.2. การนึ่งก้อนเชื้อเห็ดแบบระบบพาสเจอร์ไลส์

3.3. การต่อเชื้อเห็ดจากขวดข้าวฟ่างสู่ก้อน

3.4. การบ่มก้อนหรือระยะการเจริญเติบโตของเส้นใย

4. ขั้นตอนการเปิดดอกเห็ด จะแบ่งออกเป็น 4 ขบวนการย่อย

4.1. การเปิดก้อนเห็ดตระกูลนางรม

4.2. การเปิดก้อนเห็ดหูหนู

4.3. การเปิดก้อนเห็ดหอม

4.4. การเปิดก้อนเห็ดลม เห็ดขอนขาว เห็ดหูกวาง

5. ขั้นตอนการแปรรูป

5.1. การทำเห็ดสวรรค์

5.2. การทำคุกกี้เห็ดหลินจือ

5.3. การทำเค้กเห็ดหลินจือ

6.4. การทำเห็ดผัดขี้เมา

6.5. การทำเห็ดแดดเดียว

6.6. การทำไวน์เห็ดหลินจือ

5.7. การทำแหนมเห็ด

6. ขบวนการรีไซเคิล

6.1. การนำก้อนขี้เลื่อยเก่ากลับมาใช้ใหม่

6.2. การน้ำก้อนขี้เลื่อยมาเป็นอาหารสัตว์

6.3. การนำก้อนขี้เลื่อยมาทำปุ๋ยหมัก

6.4. การทำเห็ดฟาง

ผู้เข้าเยี่ยมชมฟาร์ม ได้มีกระบวนการถ่ายทอด ดังนี้

1. แนะนำถึงความเป็นมาของเห็ดที่สามารถปลูกได้ในเมืองไทย ตั้งแต่แหล่งกำเนิดตลอดถึงสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาการเพาะเห็ด

2. อธิบายถึงกระบวนการเพาะเห็ด 6 ขั้นตอน พร้อมทั้งชมวีดีทัศน์ประกอบ

3. พาชมขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเห็ด ภายในฟาร์มเห็ด พร้อมทั้งตอบข้อซักถามต่างๆ

4. สรุปและให้คำแนะนำในการทำฟาร์มเห็ด โดยชี้แนะให้ผู้เข้าเยี่ยมชมฟาร์มเห็ดถึงการเลี้ยงเห็ดเป็นอาชีพ ว่าควรเริ่มที่ขั้นตอนใดจึงจะเหมาะสมกับตนเองดังนี้

ในกระบวนการเพาะเลี้ยงเห็ดแบบครบวงจร ขั้นตอนที่ 1,2 ข้าพเจ้าจะไม่แนะนำให้เกษตรกรทำเนื่องจากการลงทุนค่อนข้างสูง และเสียเปล่าเนื่องจากการลงทุนเพราะหม้อนึ่งความดัน 1 ใบ ราคา 30,000.- 40,000 บาท แล้วยังต้องมีห้องปลอดเชื้อ อุปกรณ์ในการตัดถ่ายเนื้อเยื่อเสร็จ ซึ่งต้องลงทุนมาก ในความเป็นจริงผู้ที่ทำฟาร์มเห็ดจะใช้เชื้อมากที่สุดไม่เกิน 30 ขวด ต่อวัน ซึ่งราคาหัวเชื้อข้าวฟ่างหนึ่งขวดราคาขวดละ 6 บาท สามารถต่อเชื้อลงก้อนเชื้อเห็ดได้ 60 ก้อนต่อขวด ส่วนการเพาะเนื้อเยื่อนั้นยิ่งไม่เหมาะกับเกษตรกร เพราะวุ้นหนึ่งขวดราคา 200-300 บาท สามารถต่อลงในขวดเชื้อข้าวฟ่างได้ 105 ขวด ซึ่งหัวเชื้อข้าวฟ่างขายราคาขวดละ 6 บาท ต่อเชื้อก้อนได้ 60 ก้อนต่อขวด ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไป ขั้นตอนที่ 1-2 จึงเหมาะสมสำหรับกลุ่มที่จะผลิตเชื้อขายเท่านั้น ส่วนในขั้นตอนที่ 3 การทำถุงขี้เลื่อย ข้าพเจ้าจะแนะนำในกลุ่มเกษตรกรที่เพาะเห็ดเป็นแล้วทำเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนในขั้นตอนที่4 การเปิดดอกเห็ด ข้าพเจ้าจะแนะนำให้กับเกษตรกรที่ไม่เคยปลูกเห็ดเลยทำในขั้นตอนนี้ก่อน เพราะเป็นขั้นตอนที่ได้ประโยชน์สูงที่สุด ลงทุนน้อยที่สุด ก่อนที่จะไปทำในขั้นตอนอื่น เพราะก้อนเห็ดที่มีเส้นใยเจริญเติบโตเต็มถุงแล้วจะขายในราคาก้อนละ 5 บาทในการลงทุนที่จะมีฟาร์มเห็ดเองไม่ยาก โดยการซื้อก้อนเห็ดที่มีเส้นใยเดินเต็มแล้วมาเปิดดอก โดยเกษตรกรสามารถลงทุนตามที่ตนเองมีกำลังทรัพย์ แต่สิ่งที่เกษตรกรจะได้เรียนรู้ในขั้นตอนนี้คือ

1. เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ด

2. เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการประกอบอาหารจากเห็ด

3. เกษตรกรได้เรียนรู้ตลาดรอบบริเวณที่อยู่อาศัยว่ารับซื้อเห็ดที่ตนเพาะในราคาเท่าไหร่

4. เกษตรกรได้เรียนรู้ราคา และปริมาณความต้องการของตลาด

5. ประการสุดท้ายเมื่อเกษตรกรเรียนรู้ทั้ง 4 อย่างด้วยตนเองแล้ว เกษตรกรสามารถที่จะตัดสินใจที่จะทำการขยายกิจการหรือจะเลิกกิจการ ซึ่งเกษตรกรสามารถที่จะตัดสินใจได้เพราะการลงทุนนั้นมิได้ใช้ทุนมากนัก เมื่อตัดสินใจที่จะทำเห็ดต่อก็สามารถซื้อก้อนเห็ดมาเพิ่ม เมื่อตลาดมีความมั่นคงก็ขยับมาทำในขั้นตอนที่ 4 เพื่อลดต้นทุนการผลิต ถ้าทำการผลิตก้อนเองนั้นต้นทุนต่อก้อนจะอยู่ที่ประมาณ 2.50 บาท แต่ถ้าไม่พร้อมก็สามารถซื้อก้อนมาเปิดดอกขายก็มีกำไร

ขั้นตอนที่ 5 เป็นขั้นตอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด เป็นขั้นตอนรองรับในขั้นตอนที่ 4 เพราะการปลูกจะต้องอาศัยธรรมชาติด้วยเมื่ออากาศเหมาะสมเห็ดก็จะเกิดดอกได้ดีทำให้เห็ดมีปริมาณมากกว่าความต้องการของตลาด ถ้าเกษตรกรนำเห็ดสดเข้าตลาดทั้งหมดจะทำให้ราคาเห็ดสดตกลง เกษตรกรควรที่จะส่งเห็ดสดเข้าตลาดเท่าที่ตลาดรับได้ส่วนที่เหลือก็นำมาแปรรูป เป็นอาหาร เป็นขนม ราคาเห็ดสดในตลาดก็จะคงที่ ส่วนเห็ดที่นำมาแปรรูปการถนอมอาหาร และยกราคาเห็ดให้สูงขึ้นเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 6 การรีไซเคิลวัสดุจากการเพาะเห็ด ในการเปิดก้อนเพาะดอกเห็ดนั้นก้อนวัสดุเพาะจะมีอายุการให้ดอกเห็ดประมาณ 4-6 เดือน ก้อนก็จะเสื่อมสภาพ โดยปกติเกษตรกรก็จะนำไปทิ้ง แต่ในปัจจุบันได้นำก้อนเห็ดมาใช้ประโยชน์ได้อีก อาทิเช่น

1. นำวัสดุจากการเพาะเห็ดมาใช้ใหม่

2. นำวัสดุจากการเพาะเห็ดมาเป็นอาหารสัตว์

3. นำวัสดุจากการเพาะเห็ดมาทำเป็นปุ๋ยหมัก

4. นำวัสดุจากการเพาะเห็ดมาทำเห็ดฟางกล่องหรือเห็ดฟางคอนโด

จากการเข้าเยี่ยมชมฟาร์มดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอด สามารถนำไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงเห็ดได้อย่างดี