สวนเกษตรอินทรีย์ลุงมนู กาญจนะ

สวนเกษตรอินทรีย์ ลุงมนู กาญจนะ

"ลุงมนู กาญจนะ" ทำแปลงเกษตร และ Sky walk ใช้หลักเดียวกับศูนย์ศึกษาฯ ห้วยฮ่องไคร้ เชียงใหม่

ทำความรู้จักกับ ลุงมนู

ลุงมนู กาญจนะ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 141/1 หมู่ที่ 11 ตำบลนาพูน โทรศัพท์ (086) 183-9626 ผมเคยพบและได้ยินชื่อเสียงของลุงมนูมาก่อนแล้ว จากการไปฟังท่านบรรยาย เล่าประสบการณ์ต่างๆ หรือเห็นรูปภาพจากการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการเกษตร ก็ถือว่าลุงมนูเป็นปราชญ์เกษตรคนหนึ่งของจังหวัดแพร่ก็ว่าได้ ท่านยังกระฉับกระเฉง เข้มแข็ง ร่าเริง ท่านบอกว่าท่านพร้อมที่จะสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวคิดโดยไม่ปิดบังอะไร ท่านจึงได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรหลายครั้ง หลายหน่วยงานให้การยอมรับ และการันตีด้วยหนังสือรับรอง ใบประกาศยกย่องสารพัดรางวัล

ลุงมนู กาญจนะ เป็นปราชญ์เกษตรที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงเกษตรกรคนทั่วไปรู้จักท่านดี แม้จะอายุมากแล้วแต่ความคิดในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นอยู่ในใจท่านเสมอ จุดเริ่มต้นที่จุดประกายความคิดให้แก่เกษตรกรผู้นี้คือ การได้ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วนำหลักการมาประยุกต์ ปรับพื้นที่การเกษตรของตนเองคล้ายๆ กับที่ศูนย์การศึกษาฯ แบ่งพื้นที่วางผังแปลงเกษตรเป็นด้านๆ ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านเกษตรกรรม ด้านประมง และด้านปศุสัตว์

เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ ก็เปิดพื้นที่ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปศึกษาและเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตสินค้าเกษตร หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ศพก. มีฐานเรียนรู้ด้านต่างๆ มีการนำผลผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นใน ศพก. มาใช้กับพืชผลทางการเกษตรภายในสวน โดยพึ่งปัจจัยภายนอกเพียงน้อยนิด

ไม่เพียงเท่านั้น เกษตรกรผู้นี้ยังมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะให้จังหวัดแพร่มีแลนด์มาร์ก มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้ประชาชนได้มาเที่ยวชม มาศึกษา มาซื้อ มาชิม ผลผลิตทางการเกษตรในสวนของตน ของเพื่อนเกษตรกรและของจังหวัดแพร่ ด้วยการสร้างสกายวอล์ก (Sky walk) เป็นแห่งแรกของจังหวัดแพร่ สร้างขึ้นด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของคนในท้องถิ่น และมีหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น โดยมีเกษตรอำเภอนำทีมงานเข้าไปร่วมหนุนเสริม เมื่อสร้างเสร็จเพียงไม่นานก็มีผู้สนใจเข้ามาเที่ยวชมหลายร้อยคนเข้าไปแล้ว และในอนาคตเขียนฝันไว้ว่า จะสร้างโอมสเตย์ (Home stay) ภายในสวนเกษตรในไม่ช้านี้

แบ่งพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวและผสมผสาน

ลุงมนู เล่าว่า จากการได้ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เกิดแรงบันดาลใจ คิดวางแผนทำแปลงเกษตร โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 แปลง แปลงละ 12 ไร่ แปลงหนึ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ ส้มเขียวหวานสีทอง อีกแปลงทำเกษตรผสมผสาน ประกอบด้วยไม้ผล จำพวกมะม่วง ส้มโอ กระท้อน มะยงชิด เงาะ ลำไย ขนุน ทุเรียน ลิ้นจี่ ลองกอง มะขามป้อม และพืชผักสวนครัว รวมถึงพืชสมุนไพรอีก 20 กว่าชนิด และได้กันพื้นที่ 3 ไร่ ใช้แนวทางที่ไปศึกษาดูงานมาจำลองรูปแบบจัดพื้นที่ทำการเกษตร รวม 4 ด้าน คือ

1. ด้านการบริหารจัดการน้ำ ขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ 2 สระ และนำไปใช้ในแปลงเกษตร

2. ด้านเกษตรกรรม ปลูกไม้ผล มะนาว พืชผักสวนครัว

3. ด้านประมง เลี้ยงปลา เลี้ยงกบในกระชัง

4. ด้านปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ 3 สายพันธุ์ ในโรงเรือน

สวนเกษตรเชิงเดี่ยว ส้มเขียวหวานสีทอง

ลุงมนู เล่าว่า ด้วยลักษณะภูมิประเทศบริเวณรอบๆ สวนส้มเป็นเนินคล้ายหลังเต่า น้ำไม่ท่วมและน้ำก็ไม่ขังด้วย สภาพดินเป็นดินลูกรัง เป็นดินในพื้นที่ดอน ชุดที่ 48 แต่ก็ได้ปรับปรุงฟื้นฟูดินจนมีความเหมาะสมกับการปลูกส้มเขียวหวาน (ดินชุดที่ 48 เป็นกลุ่มดินตื้นถึงชั้นก้อนกรวดหรือเศษหินมาก ภายในความลึก 50 เซนติเมตร จากผิวดิน ดินมีสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีแดง การระบายน้ำดี ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัด ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ) มีจำนวน 600 ต้น ปลูกมานาน 20 ปีแล้ว ได้รับการปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุทุกปี ส้มก็ยังให้ผลผลิตที่ดีอยู่ ปีหนึ่งๆ เก็บขายได้ 2 รุ่น ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เป็นส้มรุ่นแรก รุ่นที่ 2 ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ผลผลิตส้มจะมีพ่อค้ามาตั้งจุดรับซื้อในเขตอำเภอวังชิ้น ดูจากตัวเลขทางบัญชี ลุงมนู บอกว่า มียอดขาย 626,000 บาท ต้นทุน 190,000 บาท

ทำอย่างไร จึงมีต้นทุนต่ำ

"อยู่ที่การดูแล เอาใจใส่ เมื่อเก็บผลผลิตจะตัดแต่งกิ่ง กองไว้ไม่เผา ปลูกผัก เช่น ผักปลัง ฟัก ให้เลื้อยขึ้นกองกิ่งส้ม รอให้กิ่งส้มผุพัง สลายไปเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ปลูกปอเทืองในสวนส้ม ไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช หญ้าก็ตัดเอง ใช้ปุ๋ยหมักเป็นหลักคู่กับน้ำหมักชีวภาพ หากมีโรคแมลงรบกวนแม้เล็กน้อยก็ใช้น้ำหมักจากพืชสมุนไพรฉีดพ่น แรงงานก็ใช้จากครอบครัว ลุง ป้า และบุตรสาว จะจ้างแรงงานจากภายนอกบ้างก็เมื่อเก็บผลส้ม" ลุงมนู กล่าว

สวนส้มเขียวหวานสีทองของลุงมนู ได้รับการส่งเสริมให้เข้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เมื่อปี 2559 กรรมวิธีการทำสวนส้มของลุงมนู ถือว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ เพียงแต่ลุงมนูไม่ได้ขอหนังสือรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ จากหน่วยงานราชการ ซึ่งขณะนี้สมาชิกแปลงใหญ่ส้มเขียวหวานสีทอง อยู่ระหว่างขอ GAP กับกรมวิชาการเกษตร และรอผลการตรวจ

ความคิดก้าวไกล

สร้างสกายวอล์กให้คนมาเที่ยว

คำว่า สกายวอล์ก ในภาษาอังกฤษ เขียนว่า Sky walk คนกรุงเทพฯ อาจจะคุ้นเคยกับภาพหรือรูปลักษณ์กันดี แต่ในสวนเกษตรยังไม่พบที่แห่งใด บางจังหวัดอาจจะมีสกายวอล์กให้ชมธรรมชาติหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่สวนลุงมนูแห่งนี้สร้างสกายวอล์กเป็นสะพานลอย เป็นทางเดินเหนือยอดไม้ผล เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงานสวนเกษตร ดูทัศนียภาพพรรณไม้ในสวน และเป็นที่พักผ่อน

ลุงดิษฐ์ คนเดิม หรือ คุณประดิษฐ์ สลีหล้า เกษตรอำเภอวังชิ้น บอกว่า ตนเองมีส่วนร่วมคิดร่วมทำสกายวอล์กที่สวนลุงมนูมาตั้งแต่ต้น เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนเมษายน 2560 มีวัตถุประสงค์ร่วมกันว่า จะสนับสนุนให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งแรกของจังหวัดแพร่ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนทั้งในและนอกพื้นที่รู้จัก และมาเที่ยวชมสวนเกษตรในอำเภอวังชิ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของอำเภอวังชิ้นและจังหวัดแพร่ ด้วยการเปิดช่องทางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร

วัสดุที่นำมาก่อสร้างสกายวอล์ก ลุงดิษฐ์ บอกว่าได้ติดต่อไปยังสวนป่าแม่สิน-แม่สูง สังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ก็ได้รับความอนุเคราะห์บริจาคไม้สัก ซึ่งเป็นไม้สักเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว แรงงานก็ได้จากเกษตรกรใน ศพก. โดยไม่ได้เบิกค่าแรง และยังมีการบริจาคซื้ออาหาร ตะปู วัสดุอื่นๆ ความยาวของสกายวอล์ก 110 เมตร สูง 2.50 เมตร ความกว้าง 1.50 เมตร มีจุดพักสำหรับนั่งเล่น นั่งพักผ่อน 1 จุด

ถ้าคิดคำนวณเป็นมูลค่าทางการเงินแล้ว ค่าก่อสร้าง 187,600 บาท

ทางด้านลุงมนู บอกว่า สกายวอล์กที่สวนของลุงต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดแพร่ จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยวิสาหกิจชุมชน ใช้ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตำบลนาพูน ลุงมนูเป็นประธานเอง มีสมาชิก 53 คน ลงหุ้นกันคนละ 100 บาท ไม่เกิน 10 หุ้น มีเงินทุนอยู่ 10,000 บาท ตั้งแต่ก่อสร้างเสร็จ มีผู้สนใจทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักเรียน เข้ามาศึกษา มาเที่ยวชมแล้วหลายร้อยคน ต่างจังหวัดก็มีจากจังหวัดชลบุรี กาฬสินธุ์ เหตุผลที่ผู้มาเยือนมีการลงบันทึกในสมุดเยี่ยมบอกว่า มาดูเพราะไม่เคยเห็นในจังหวัดแพร่ ไม่มีใครสร้างมาก่อน

พาชมสวนบนสกายวอล์ก

ลุงมนู ได้พาคณะเยี่ยมชมสวนเกษตรผสมผสาน เริ่มจากจุดแรกเดินผ่านหน้าเวทีสำหรับให้ผู้มาเยือนได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ก้าวย่างเดินขึ้นทางลาดชันของสกายวอล์ก มีราวไม้กั้นทั้ง 2 ด้าน ป้องกันอุบัติเหตุ ตลอดทางเดินมองเห็นรอบๆ สวนเกษตรอยู่ใต้สกายวอล์ก ทั้งยอดไม้ผล มะนาว ไม้เลื้อยต่างๆ เห็นรูปแบบการจัดวางผังแปลงเกษตร แหล่งน้ำ ปศุสัตว์ เมื่อเดินไปสุดทางซ้ายมือเป็นเพิงพักสำหรับนั่งเล่นและพักผ่อน เดินลงพื้นดินชมไม้ผล การจัดระบบน้ำใช้ภายในสวนด้วยสปริงเกลอร์

แปลงต่อไปลุงมนูพาไปชม เป็นบ่อเลี้ยงปลา จำนวน 2 บ่อ ขนาดเนื้อที่ 2 งาน และ 3 งาน เลี้ยงปลาหลากหลายชนิด เมื่อนำอาหารปลาโรยลงไปในน้ำ ปลาขนาดใหญ่ พร้อมที่จะจับขายแหวกว่ายโผล่ขึ้นมาแย่งอาหารกัน ทั้งปลาสวาย ปลาบึก (ตัวยังเล็กอยู่) ปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุก ปลากดหลวง ข้างๆ สระมีกระชังเลี้ยงกบอยู่รวมกันในบ่อปลา

ถัดจากบ่อปลา ลุงมนู พาไปดูการเลี้ยงไก่ 3 สายพันธุ์ ลุงมนู บอกว่า มีอยู่ 100 กว่าตัว เมื่อเห็นคนเดินเข้าใกล้ต่างกรูกันเข้ามา คงคิดว่าจะนำอาหารมาให้ แล้วก็พาคณะเดินกลับไปยังจุดเริ่มต้น นั่งพักผ่อน ป้าออนนำผลไม้มาให้กินเป็นเงาะในสวน กับผลไม้ป่าชื่อ มะคั่งน้ำข้าว ลักษณะผลคล้ายๆ ละมุดอินเดีย แต่ผลเล็กกว่า มีรสหวาน กินไปสนทนากันไป

ก่อนอำลา ลุงมนูกล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตต้องการสร้างส่วนต่อขยายสกายวอล์กให้ยาวออกไปอีกสัก 100 เมตร และสร้างที่พักหรือโฮมสเตย์ (Home stay) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

ท่านใดที่สนใจ จะไปดูให้รู้หรือจะขอรายละเอียด ติดต่อ ลุงมนู กาญจนะ หรือสำนักงานเกษตรอำเภอวังชิ้น คุณประดิษฐ์ สลีหล้า โทรศัพท์ (093) 136-9044

น้ำหมักชีวภาพ จากหน่อกล้วย สูตรของ ลุงมนู กาญจนะ

วัสดุ

1. หน่อกล้วย 15 กิโลกรัม

2. สารเร่ง พด.2 2 ซอง

3. กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม

4. น้ำเปล่า 200 ลิตร

วิธีทำ

1. หั่นหรือสับหน่อกล้วยให้เป็นชิ้นเล็กๆ

2. กากน้ำตาล ผสมน้ำ 10 ลิตร นำสารเร่ง พด.2 ผสมลงไป คนให้เข้ากันนาน 5 นาที

3. นำหน่อกล้วยสับแล้ว ใส่ในถังพร้อมน้ำเปล่าทั้งหมด และส่วนผสมกากน้ำตาลกับสารเร่ง พด.2 คนส่วนผสมให้เข้ากัน

4. ปิดฝาไม่ต้องสนิท ตั้งไว้ในที่ร่ม ระหว่างการหมักคนหรือกวนทุกวัน วันละ 1 ครั้ง เพื่อการระบายก๊าซและทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าได้ดีขึ้น

5. หมักนาน 21 วัน กรองน้ำใส่ขวดไว้ใช้ได้

การใช้

น้ำหมัก 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 100 ลิตร ใช้ฉีดพ่นลงดิน จะทำให้ดินร่วนซุย ฉีดพ่นทางใบลดปริมาณน้ำหมักลงครึ่งหนึ่ง

ฉีดพ่น ปีละ 2 ครั้ง ช่วงก่อนออกดอกและช่วงหลังตัดแต่งกิ่ง

สารควบคุมศัตรูพืช

วัสดุ

1. หัวกลอย/รากหางไหล/หนอนตายหยาก/เมล็ดสะเดา/ฟ้าทลายโจร/ตะไคร้หอม/บอระเพ็ด/เมล็ดมันแกว/ผลดีปลี/ผลพริก รวมน้ำหนัก 15 กิโลกรัม

2. กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม

3. สารเร่ง พด.7 2 ซอง

4. น้ำเปล่า 200 ลิตร

วิธีทำ

1. สับพืชสมุนไพรให้เป็นชิ้นเล็กๆ ทุบหรือตำให้แตก

2. นำสมุนไพรใส่ลงในถัง

3. ละลายกากน้ำตาลในน้ำ 10 ลิตร ใส่สารเร่ง พด.7 ผสมให้เข้ากัน ด้วยการคนนาน 5 นาที

4. เทสารละลายลงในถังหมักพร้อมกับน้ำที่เหลือ และคนให้เข้ากัน

5. ปิดฝาถังไม่ต้องสนิท ตั้งไว้ในที่ร่ม และคนทุกๆ วัน หมักนาน 21 วัน กรองเอาน้ำใส่ขวดไว้ใช้

การใช้

สารควบคุมศัตรูพืช 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 100 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน เป็นจำนวน 5 ครั้ง

สรรพคุณ

กำจัดเชื้อรา เพลี้ยอ่อน แมลงต่างๆ

การผลิตปุ๋ยหมัก

วัสดุ

1. กากอ้อย/มูลวัว/มูลหมู/ฟางข้าว/แกลบดิบ น้ำหนักรวม 1 ตัน

2. สารเร่ง พด.1 2 ซอง

3. กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม

4. น้ำเปล่า 10 ลิตร

วิธีทำ

1. กองวัสดุ 1 ตัน คลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากันแล้วกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

2. ผสมสารเร่ง พด.1 กากน้ำตาล ในน้ำ 10 ลิตร คนนาน 5 นาที

3. ราดสารละลายสารเร่งให้ทั่วกองวัสดุ

4. ใช้ท่อ PVC ขนาด 1.5 นิ้ว ที่เจาะรูรอบท่อ เป็นชั้นๆ ปักลงไปจนถึงพื้น เพื่อระบายอากาศ นำความร้อนออก

5. การดูแลกองปุ๋ย ให้รักษาความชื้น 50%

6. ใช้เวลาหมักนาน 1 เดือน นำไปใช้ได้

การใช้

ใช้หว่านรอบทรงพุ่มต้นส้มเขียวหวาน อัตราต้นละ 20 กิโลกรัม ใส่ในเดือนพฤษภาคม


ขอขอบคุณ...

ผู้เขียน บุญฤทธิ์ เผือกวัฒนะ

เผยแพร่ วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2560

สารควบคุมศัตรูพืช

วัสดุ

1. หัวกลอย/รากหางไหล/หนอนตายหยาก/เมล็ดสะเดา/ฟ้าทลายโจร/ตะไคร้หอม/บอระเพ็ด/เมล็ดมันแกว/ผลดีปลี/ผลพริก รวมน้ำหนัก 15 กิโลกรัม

2. กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม

3. สารเร่ง พด.7 2 ซอง

4. น้ำเปล่า 200 ลิตร

วิธีทำ

1. สับพืชสมุนไพรให้เป็นชิ้นเล็กๆ ทุบหรือตำให้แตก

2. นำสมุนไพรใส่ลงในถัง

3. ละลายกากน้ำตาลในน้ำ 10 ลิตร ใส่สารเร่ง พด.7 ผสมให้เข้ากัน ด้วยการคนนาน 5 นาที

4. เทสารละลายลงในถังหมักพร้อมกับน้ำที่เหลือ และคนให้เข้ากัน

5. ปิดฝาถังไม่ต้องสนิท ตั้งไว้ในที่ร่ม และคนทุกๆ วัน หมักนาน 21 วัน กรองเอาน้ำใส่ขวดไว้ใช้

การใช้

สารควบคุมศัตรูพืช 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 100 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน เป็นจำนวน 5 ครั้ง

สรรพคุณ

กำจัดเชื้อรา เพลี้ยอ่อน แมลงต่างๆ

การผลิตปุ๋ยหมัก

วัสดุ

1. กากอ้อย/มูลวัว/มูลหมู/ฟางข้าว/แกลบดิบ น้ำหนักรวม 1 ตัน

2. สารเร่ง พด.1 2 ซอง

3. กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม

4. น้ำเปล่า 10 ลิตร

วิธีทำ

1. กองวัสดุ 1 ตัน คลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากันแล้วกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

2. ผสมสารเร่ง พด.1 กากน้ำตาล ในน้ำ 10 ลิตร คนนาน 5 นาที

3. ราดสารละลายสารเร่งให้ทั่วกองวัสดุ

4. ใช้ท่อ PVC ขนาด 1.5 นิ้ว ที่เจาะรูรอบท่อ เป็นชั้นๆ ปักลงไปจนถึงพื้น เพื่อระบายอากาศ นำความร้อนออก

5. การดูแลกองปุ๋ย ให้รักษาความชื้น 50%

6. ใช้เวลาหมักนาน 1 เดือน นำไปใช้ได้

การใช้

ใช้หว่านรอบทรงพุ่มต้นส้มเขียวหวาน อัตราต้นละ 20 กิโลกรัม ใส่ในเดือนพฤษภาคม


ขอขอบคุณ...

ผู้เขียน บุญฤทธิ์ เผือกวัฒนะ

เผยแพร่ วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2560