ข้อมูลทั่วไปตำบล

สภาพทั่วไปของตำบลนาเหลือง

ลักษณะทางภูมิศาสตร์

ตำบลนาเหลืองมีเนื้อที่ทั้งหมด 10,833 ไร่ ตำบลนาเหลืองตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเวียงสา ห่างจากอำเภอ 17 กิโลเมตร

ทิศเหนือ ติดต่อตำบลกองควาย อำเภอเมือง และตำบลน้ำแก่น กิ่งอำเภอภูเพียง โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากกึ่งกลางแม่น้ำน่านบริเวณที่ห้วยน้อยไหลมาบรรจบที่บริเวณพิกัด PA 871655 ใช้กึ่งกลางของลำห้วยน้อยเป็นแนวแบ่งเขตไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงบริเวณพิกัด PA 871657 แยกไปตามลำห้วยทางทิศตะวันออกไปจนถึงสันเขาหินกลิ้งไปตามสันเขาทางทิศตะวันออกจนถึงถนนสายบ้านก๊อด – บ้านนาเหลืองที่บริเวณพิกัด PA 928665 ใช้ถนนสายบ้าน ก๊อด – นาเหลือง เป็นแนวแบ่งเขตลงมาตามถนนจนถึงบริเวณพิกัด PA 921662 อ้อมบ้านนาเหลืองในไปทางทิศตะวันออก ผ่านห้วยนาเหลืองที่บริเวณพิกัด PA 933661 ตัดขึ้นเนินทางทิศตะวันออกที่บริเวณพิกัด PA 953659 พบห้วยฝาใช้กึ่งกลางห้วยฝาเป็นแนวแบ่งเขตไปทางทิศตะวันออกไปสิ้นสุดที่สันเขาดอยแปรขวางที่บริเวณพิกัด QA 017650 รวมระยะทางทิศเหนือประมาณ 18 กิโลเมตร

ทิศตะวันออก ติดต่อตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากสันเขาดอยแปขวาง บริเวณพิกัด QA 018650 ไปตามสันเขาทางทิศใต้ ไปสิ้นสุดที่สันเขาดอยแปขวาง บริเวณพิกัด QA 031642 รวมระยะทางด้านทิศตะวันออก ประมาณ 5 กิโลเมตร

ทิศใต้ ติดต่อตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากสันเขาดอยแปขวาง บริเวณพิกัด QA 031642 ตัดลงร่องเขาทางด้านทิศตะวันตกตามลำห้วยหลับมืน ใช้ลำห้วยหลับมืนเป็นแนวแบ่งเขต

ไปจนถึงบริเวณพิกัด PA 978636 ตัดขึ้นสันเขาทางด้านทิศเหนือไปตามสันเขาสันปันน้ำไปทางทิศตะวันตก ตัดลงสันเขาตามลำห้วยไปสิ้นสุดที่กึ่งกลางแม่น้ำน่าน บริเวณพิกัด PA 869629 รวมระยะทางด้านทิศใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร

ทิศตะวันตก ติดต่อตำบลกองควาย อำเภอเมืองน่าน และตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา โดยมีแนวเขตเริ่มต้นจากกึ่งกลางแม่น้ำน่าน บริเวณพิกัด PA 869629 ตรงที่ลำห้วยไหลมาบรรจบ ใช้กึ่งกลางแม่น้ำน่านเป็นแนวแบ่งเขตไปทางทิศเหนือ ไปสิ้นสุดที่กึ่งกลางแม่น้ำน่าน บริเวณที่ลำห้วยน้อยไหลมาบรรจบ ใช้กึ่งกลางแม่น้ำน่านเป็นแนวแบ่งเขตไปทางทิศเหนือ ไปสิ้นสุดที่กึ่งกลางแม่น้ำน่าน บริเวณพิกัด PA 871655 รวมระยะทางด้านทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร

เนื้อที่

พื้นที่ทั้งหมดของตำบลนาเหลือง มีเนื้อที่ทั้งหมด 10,833 ไร่ โดยแยกเป็น

หมู่ที่ 1 บ้านนาเหลืองใน มีเนื้อที่ทั้งหมด 4,814 ไร่

หมู่ที่ 2 บ้านห้วยม่วง มีเนื้อที่ทั้งหมด 582.75 ไร่

หมู่ที่ 3 บ้านนาเหลือนอก มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,404 ไร่

หมู่ที่ 4 บ้านเมืองราม มีเนื้อที่ทั้งหมด 416.25 ไร่

หมู่ที่ 5 บ้านป่าคา มีเนื้อที่ทั้งหมด 747.75 ไร่

หมู่ที่ 6 บ้านท่าดอนไชย มีเนื้อที่ทั้งหมด 555.25 ไร่

หมู่ที่ 7 บ้านดอนไชยพระบาท มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,313 ไร่

บ้านนาเหลืองใน หมู่1

บ้านนาเหลืองใน เมื่อ 419 ปีมาแล้ว ได้มีกลุ่มคนจากในเมือง ได้หนีศึกโยกย้ายเกาะกลุ่มมาอยู่บ้านนาเหลืองใน เดิมชื่อบ้านเขื่อน เนื่องจากมีเขื่อนช้างอยู่กลางบ้าน ตั้งอยู่ริมห้วยน้ำเหลือง อาศัยอยู่ประมาณ 10 กว่าหลังคาเรือน เมื่อเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน ได้ไปเที่ยวตรวจตระเวนดูถิ่นฐานสำคัญภายในขอบเขตของเมืองน่าน ก็ได้ผ่านไปพบหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านได้ทำไร่ทำสวนเลี้ยงชีพของตนอยู่ในแถบนั้น จากนั้นท่านก็ได้เที่ยวดูสถานที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ ท่านจึงอยากส่งเสริมชาวบ้าน และอยากมาสร้างไร่นาแถบนี้ เพราะบริเวณนี้มีที่ราบลุ่มพอที่จะสร้างนาได้ เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว ท่านเจ้าเมืองจึงได้ให้ราชบุตรคนหนึ่ง แต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยา ชื่อว่า “เจ้าพระยาหลวงมณเฑียร” เพื่อจะให้เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรองค์นี้ ได้มาสร้างไร่นาและดูแลบริหารคนในถิ่นนี้ ให้มีที่อยู่ที่กินดีขึ้น จึงได้ให้ทรัพย์สมบัติ ได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย คนใช้ และเครื่องใช้สอยต่าง ๆ และมีบัญชารับสั่งให้ เจ้าพระยาหลวงมณเฑียร ซึ่งเห็นว่าเป็นผู้มีความสามารถ ได้มาสร้างสรรค์ที่แห่งนี้

เมื่อเจ้าพระยาหลวงมณเทียร ได้รับคำสั่งก็ปฏิบัติตามความประสงค์ของเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน ได้ออกเดินทางจากเมืองน่านพร้อมกับบริวารทั้งหลาย รวมถึงช้าง ม้า วัว ควาย ข้าวของเครื่องใช้ เมื่อมาถึงก็ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณแห่งนั้น และลงมือทำงานเป็นเวลาหลายปี ได้ปรับปรุงสถานที่ที่จะทำนา เมื่อได้มากพอสมควรแล้วจึงได้สร้างฝายกั้นน้ำห้วยน้ำเหลือง และได้สร้างเหมืองส่งน้ำเข้าในนา และให้ประชาชนช่วยกันขุดเหมืองไปไกลเท่าที่จะไกลได้ หากเทียบกับสมัยนี้ นับได้หลายกิโลเมตร เมื่อมีลำเหมืองทั้งสองเส้น ก็ทำนาไปตามลำเหมืองที่สร้างได้หลายร้อยไร่ เรียกว่า “นาหลวง” เมื่อสร้างนาหลวงได้ผลดีมากแล้ว เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน จึงได้มีพระบัญชาสั่งให้เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรสร้างฉางข้าวขึ้น อยู่ใกล้กับบริเวณบ้านพอสมควร ประมาณ 300 เมตร ซึ่งสถานที่ตั้งบ้านของเจ้าพระยาหลวงมณเฑียร และสถานที่ตั้งฉางข้าว ได้ตกทอดเป็นของลูก หลาน เหลน แหลน หล้อน และปัจจุบันยังมีปรากฏอยู่

เมื่อเจ้าพระยาหลวงมณเฑียร มีฉางข้าวแล้ว เมื่อถึงเวลาทำนา ก็จะบัญชาให้ประชาชนในหมู่บ้านและตามหมู่บ้านต่าง ๆ มาช่วยกันทำนาเจ้าเสียก่อน เมื่อเสร็จจากการทำนาเจ้าแล้ว จึงค่อยมาทำนาของตนเอง และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าว ก็ให้คนใช้เก็บเกี่ยวบ้าง ให้คนที่ไปทำการปลูกนั้นไปช่วยเก็บเกี่ยวบ้าง เมื่อทุบข้าวเสร็จ ก็บัญชาให้เอาข้าวไปหล่อฉางที่ “บ้านนาเหลืองใน” ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า “บ้านนาเหลืองฉางข้าว” เมื่อเจ้าพระยาหลวงมณเฑียรสร้างนาได้มากแล้ว ชื่อของ “ห้วยน้ำเหลือง” จึงหายไป ต่อมาจึงเรียกว่า “ห้วยนาเหลือง” มาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้

ฉางข้าวที่บ้านนาเหลืองฉางข้าว ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสู่กันมาว่า เมื่อทำนาเสร็จแล้วเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวและทุบข้าวเสร็จแล้ว แต่ละบ้านจะต้องเอาข้าวไปหล่อยุ้งฉางที่บ้านนาเหลืองฉางข้าว เมื่อหล่อเสร็จแล้ว เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรจะแบ่งข้าวไว้ให้เพียงพอกินของพวกเจ้านายและพวกคนใช้ให้พอสมควรกินได้ตลอดทั้งปี ที่เหลือนอกนั้นจึงให้ช้างหรือวัวต่าง บรรทุกข้าวไปส่งส่วยให้แก่เจ้าผู้ครองนครเมืองน่านทั้งหมด คนที่อาศัยตามบ้านต่าง ๆ ที่ทำมาหากิน ทำไร่ทำนาอยู่บริเวณใกล้เคียงที่ได้เอาข้าวมาหล่อฉางข้าวของเจ้าพระยาหลวงมณเฑียรนั้น ได้แผ่ขยายอาณาเขตไปกว้างขวางมาก ซึ่งเรียกว่า “ผ้ง” ผ้งของเจ้าพระยาหลวงมณเทียรกว้างขวางอยู่ในแถบนี้ สันนิษฐานว่าคงจะเป็น “ตำบลนาเหลือง” และตำบลใกล้เคียงก็ได้มาหล่อบ้าง เพราะเจ้าพระยาหลวงมณฑียรนี้ เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่มาก ขณะที่ยังเป็นที่ปรึกษาของเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน เมื่อเจ้าผู้ครองนครเมืองน่านจะใช้ให้ผู้คนนำข่าวสารไปมาถึงเจ้าพระยามณเทียร จะใช้ม้าซึ่งเป็นพาหนะไปมาหาสู่อย่างรวดเร็ว เจ้าพระยาหลวงมณเทียรเมื่อสร้างฝายบ้านนาเหลืองฉางข้าวเสร็จแล้ว ก็ขุดเรือซึ่งทำด้วยไม้สักไว้ประจำฝาย ใช้สำหรับบรรทุกดินมาถมฝาย เรือลำนั้นมีขนาดปากกว้าง 24 นิ้ว ยาว 3 วา 3 ศอก ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีแล้วแม้แต่ซาก เนื่องจากไม้หมดสภาพแตกผุพังเสียหาย

เมื่อสร้างเรือเสร็จแล้ว เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรก็ได้ไปสร้างฝายบ้านม่วงขวา ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อเจ้าพระยาหลวงมณเฑียรไปสร้างฝายลูกนี้ มีนายของคนกลุ่มนี้ อยู่หมู่บ้านนี้ชื่อว่า “นายขวา” เมื่อเจ้าพระยาหลวงมณเฑียรไปสร้างฝายนั้น มีต้นมะม่วงต้นหนึ่งมีขนาดใหญ่มาก มีร่มที่อาศัยกว้างขวาง ห่างจากลำห้วยน้ำเหลืองฝั่งเหนือไปประมาณ 20 วา คนกลุ่มนั้นจึงสร้างที่พักบริเวณนั้นให้เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรได้พักรับประทานอาหาร โดยทำร้านขึ้นให้สูงกว่าคนทั้งหลายเล็กน้อย และได้อาศัยร่มมะม่วงนั้นกินข้าวกันร่วมกับประชาชน เมื่อสร้างฝายเสร็จแล้วจึงเอาชื่อของต้นมะม่วง และชื่อของนายบ้านเข้ารวมกัน เรียกว่า “บ้านม่วงขวา” มาตลอดจนถึงทุกวันนี้ เมื่อสร้างฝายเสร็จ จึงแต่งตั้งให้ นายขวา และ นายหยาด เป็นผู้กำกับดูแลการปรับปรุงบุกเบิกทุ่งนาแห่งนี้จนสำเร็จ และได้ทำกินตลอดมา ต้นตระกูลคนบ้านม่วงขวาครั้งแรกมาจากในเมืองน่าน และมาจากเมืองบ่อว้า (อำเภอแม่จริม)

ประวัติบ้านห้วยม่วง

บ้านห้วยม่วง เป็นหมู่บ้านที่มีมาทีหลังไม่นานนัก เป็นคนบ้านนาเหลืองนอกไปตั้งหลักฐานอยู่ ต่อมาพ่อเฒ่าใจคำ และพ่อแสนทนะ ที่ไปอยู่ ต่อมามีชาวบ้านบ้านนาเหลืองนอกบ้าง บ้านนาเหลืองในบ้างมาอยู่อาศัยและทำไร่ทำนากัน สร้างบ้านเรือนอยู่ด้วยกันจนเป็นปึกแผ่น คนบ้านนาเหลืองในที่มาเป็นหลักที่บ้านห้วยม่วงคือ พ่อเฒ่าแก้ว และแม่เฒ่าติ๊บ แต่ฝายและเหมืองบ้านห้วยม่วงที่สร้างขึ้นมาได้อาศัย “พ่อกันทะวงค์” คนบ้านนาเหลืองนอก และ “พ่อแสนขาว” คนบ้านนาเหลืองใน ช่วยกันเอาใจใส่ร่วมกับคนบ้านนาเหลืองนอก บ้านนาเหลืองใน และบ้านห้วยม่วง เหมืองและฝายจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ส่วนที่นา ชาวนาได้ขุดคุ้ยเขี่ยออกมาเอง จึงพอมีไร่น่าทำกินเลี้ยงชีพมาตลอดจนถึงบัดนี้ ต่อมาได้มีวัดขึ้นที่บ้านห้วยม่วง เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยมีพระบุญช่วย หิตฺตผโล มาจากวัดนาเหลืองในเป็นเจ้าอาวาส จนในปี พ.ศ. 2488 จึงได้มีพระอยู่กับวัดแล้ว จึงลากลับไปอยู่วัดนาเหลืองในตามเดิม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2491 จึงลาสิกขาเป็นฆราวาสมีครอบครัวอยู่บ้านห้วยม่วง จนอวสานแห่งชีวิต เมื่อวันที่ 18 เดือนธันวาคม พ.ศ.2527 เดือน 3 เหนือ แรม 11 ค่ำ เผาศพเมื่อวันที่ 19 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2527 เดือน 3 เหนือ แรม 12 ค่ำ

ผู้เป็นศรัทธาใกล้ชิดกับวัดห้วยม่วงได้นิมนต์ “พระอาจารย์บุญช่วย” มาอยู่วัดห้วยม่วงครั้งแรกคือ

1. พ่อหนานอาทิตย์ สมภารวงค์

2. พ่อหนานนันทา มะโนนัย

3. พ่อหนานวงค์ ปาสุยะ

4. พ่อน้อยไชย วุธนู (เป็นสล่าหาไม้มาทำกลองเพลป

5. พ่อใจแก้ว ไชยสมทิพย์

6. ผู้ใหญ่บุญณะ บุญสุยะ

ผู้ใหญ่บุญณะ และผู้เฒ่าผู้แก่ ไปนิมนต์พระอาจารย์บุญช่วย มาอยู่วัดห้วยม่วง ตรงกับวันที่ 9 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2482 เดือน 9 เหนือ ขึ้น 13 ค่ำ เมื่อพระอาจารย์บุญช่วย มาอยู่วัดแล้ว ได้มีลูกศิษย์เข้ามาร่ำเรียนพระธรรมวินัย บวชเป็นพระภิกษุสามเณร อยู่เฝ้ารักษาวัดวาอารามไม่ได้ขาดมาตลอดจนถึงบัดนี้

บ้านห้วยม่วงครั้งแรก เดิมมีชื่อเรียกว่า “บ้านนาใหม่” ต่อมาไม่นาน ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านทุ่งใต้” (บ้านโต๋งใต้) ที่เรียกกันว่าบ้านห้วยม่วง เพราะ “ขุนยศ ธรรมสมบูรณ์” มีความเห็นว่า หมู่บ้านนี้อยู่ใต้ปากสบห้วยม่วง จึงให้ชื่อว่า “บ้านห้วยม่วง” มาจนถึงบัดนี้

ประวัติบ้านนาเหลืองนอก

เมื่อสร้างฝายบ้านม่วงขวาเสร็จแล้ว เจ้าพระยาหลวงมณเฑียร จึงได้มาสร้างฝายห้วยน้ำเหลืองอีกแห่งหนึ่ง ในขณะนั้น “บ้านนาเหลืองนอก” เดิมมีชื่อว่า “บ้านนาไชย” หรือ “บ้านทุ่งชัย” มีบ้านเรือนประมาณ 10 กว่าหลังคาเรือน ทุ่งนายังมีไม่มากและไม่กว้างขวาง ทีทุ่งไชยอยู่เลียบ ๆ ตีนดอยช้างกลิ้งเพียงเล็กน้อย เพราะต่างอาศัยน้ำที่ไหลจากบนดอยลูกนี้มาใส่นาเพื่อเลี้ยงลำต้นข้าว บางปีก็ได้กินดี บางปีก็แห้งแล้ง ไม่ได้ผลผลิตเอาเสียเลย เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรได้มาสำรวจดูพื้นที่แล้ว จึงได้เรียกชาวบ้านมาประชุม เพื่อจะสร้างฝายกั้นน้ำที่ห้วยน้ำเหลืองอีกแห่งหนึ่ง เพื่อส่งน้ำใส่นาบ้านทุ่งไชย เมื่อประชุมตกลงแล้ว จึงมีมติให้ชาวบ้านไปสำรวจที่ดินและจับจองดูว่า ใครจะเอาที่ตรงไหนและให้ถากถางดูว่าจะมีเนื้อที่กว้างเท่าไหร่ และได้คำนวณเนื้อที่ไปถึงใต้วัดวัดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “วัดนาออน” เป็นที่ราบสูงเล็กน้อย จึงคาดว่าจะเอาน้ำจากเหมืองห้วยน้ำเหลืองไปไม่ถึง จึงได้เอาถ้ำเขตเดิมของทุ่งไชยไปเล็กน้อย แต่ต่อมาภายหลังที่ราบสูงเหล่านั้นได้กลายเป็นที่นาไปหมด และป่าไม้หกเหนือวัดนาออนก็กลายเป็นที่นาไปหมดเช่นกัน และมีหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่กันหย่อมหนึ่งในเขตป่าไม้หกนั้น จากนั้นเจ้าพระยาหลวงมณเฑียรได้สำรวจมาทางทิศตะวันตกและทางทิศใต้ ติดกับบ้านนาไชยได้เนื้อที่พอสมควร จึงได้นำชาวบ้านมาสร้างฝายและสร้างเหมือง เพื่อจะเอาน้ำใส่นาบ้านนาไชยต่อไป

ต่อมาเจ้าพระนาหลวงมณเฑียร ให้ชาวบ้านนาไชยเลือกบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้นำขึ้นมาคนหนึ่ง เพื่อให้เป็นผู้ช่วยบริหารงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและรวดเร็ว ชาวบ้านจึงเลือกเอานายบ้านคนเดิม ชื่อ “นายนา” และเป็นเพราะบ้านของนายนาคนนี้ ตั้งอยู่ข้างนอกห่างจากกลุ่มชาวบ้าน เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรจึงขนานนามชื่อเดิมข้างหน้าอีกว่า “แสนหลวงนอกบ้านนายนา” เพื่อให้เป็นลูกมือของเจ้าพระยาหลวงมณเฑียร และมีเบี้ยให้เป็นเดือน ๆ ไป และได้ตั้งอีกคนหนึ่งเพื่อให้ช่วยเหลือกันกับนายแสนหลวงนอกบ้านนายนา ชื่อว่า “แสนอินทร์” เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรได้ใช้สองคนนี้เป็นผู้ช่วย ดูแลเอาใจใส่ จนฝายและนาก็เจริญขึ้นตามลำดับ ได้ใช้เป็นที่ทำกินของคนในหมู่บ้าน ต่อมาผู้ที่อาศัยทำกินต่างช่วยกันบุกเบิกออกไปจนกว้างขวาง เมื่อสร้างฝายสร้างเหมืองเสร็จแล้ว มีที่นาเกิดขึ้น ชื่อของห้วยน้ำเหลืองก็หายไป กลายเป็น “ห้วยนาเหลือง และบ้านนาเหลือง” มาจนถึงทุกวันนี้

บ้านนาเหลืองนี้ มีสมัยหนึ่งได้เรียกกันว่า “บ้านนาเหลืองริน” เพราะมีรินไม้ขนาดใหญ่ สร้างยาวติดต่อกัน เพื่อใช้เป็นรางส่งน้ำไปใส่นา จึงเรียกชื่อบ้านว่า “บ้านนาเหลืองริน” ต่อมาขุนยศยิ่งบรรทุเขต “พ่อขุนยศธรรมสมบูรณ์” เป็นกำนันบ้านดอนไชย ตำบลนาเหลือง จึงได้ปรึกษากับผู้ใหญ่บ้านและผู้เฒ่าผู้แก่ภายในตำบลว่า “บ้านนาเหลือง” ในตำบลนาเหลืองซึ่งมีอยู่ 2 หมู่บ้าน มีขนาดเกือบเท่ากัน คือ หมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 4 เพราะบ้านม่วงขวา หมู่ที่ 1 ก็สังกัดอยู่ในอำเภอเวียงสา บ้านห้วยม่วงเป็นบ้านหมู่ที่ 3 พ่อขุนยศธรรมสมบูรณ์ จึงเสนอต่อที่ประชุม ขอให้บ้านนาเหลืองหมู่ที่ 2 นั้น ให้ชื่อว่า “บ้านนาเหลืองใน” เพราะอยู่ข้างใน ส่วนบ้านนาเหลือง หมู่ที่ 4 ขอให้ชื่อว่า “บ้านนาเหลืองนอก” เมื่อตกลงกันในที่ประชุมได้แล้ว ก็เรียกชื่อหมู่บ้านใช้มาจนถึงปัจจุบัน

พ่อขุนยศธรรมสมบูรณ์ เป็นบุคคลที่ได้สร้างคุณงามความดีแก่ตำบลนาเหลือง ซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. ย้ายโรงเรียนบ้านนาเหลืองในจากที่ลุ่มต่ำ มาตั้งไว้ในที่สูง และขยายบริเวณให้กว้างขวางออกไป

2. นำประชาชนสร้างถนนจากบ้านท่ามาตามทุ่งนา จนถึงบ้านนาเหลืองนอก

3. ย้ายโรงเรียนบ้านดอนไชยไปไว้ในเขตบ้านเมืองราม โดยให้บ้านนาเหลืองนอก บ้านดอนไชย และบ้านเมืองราม เข้าใช้บริการ ภายหลังได้มีการตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนนาเหลืองไชยราม”

4. แยกบ้านท่าป่าคา ไปสร้างโรงเรียนใหม่อีกแห่งหนึ่ง

ประวัติบ้านเมืองราม

บ้านเมืองราม เดิมชื่อว่า “บ้านเค้า” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของถนน ร.พ.ช. ประมาณ 1 กิโลเมตร แต่เดิมบ้านเค้านั้นเป็นป่าทึบ และเป็นเนิน ปลูกสิ่งใดก็ไม่ได้ผล เพราะไกลจากลำน้ำ จึงได้พากันโยกย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ตั้งปัจจุบัน และยังคงชื่อเดิมว่า บ้านเค้า และมีวัดชื่อว่า “วัดเค้า” ซึ่งได้ย้ายมาจากที่เดิม มาตั้งอยู่ก่อนที่หมู่บ้านจะย้ายตามมาทีหลัง สาเหตุที่วัดเค้าได้ย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันนี้คือ ครั้งแรกมีครูบาที่อยู่วัดเค้าองค์หนึ่ง ได้มาภาวนาอยู่ในป่าแห่งนี้เป็นประจำ จึงเกิดญาณขึ้นในดวงจิต คราวหนึ่งมีอุบาสกคนหนึ่งเป็นคนบ้านป่าสัก มาตามหาช้างที่หาย และได้ใช้ให้ควาญช้างตามหาช้าง รอควาญช้างอยู่หลายวันก็ไม่กลับไปหา จึงออกจากบ้านเพื่อติดตามถามข่าว และตามรอยช้างเข้ามาในบริเวณป่า เห็นครูบานั่งบำเพ็ญสมณะธรรมอยู่ จึงได้แวะเข้าไปถามท่านครูบาว่า “ท่านครูบาเห็นช้างกับควาญช้างของข้าน้อยมาที่นี้หรือเปล่า” ท่านครูบาก็ตอบไปว่า “ไม่เห็น” อุบาสกก็ต่อว่าครูบา “โอ ท่านครูบาถ้าเห็นก็ขอบอกข้าน้อยด้วย ลำบากจริง ๆ เดินหาได้หลายวันแล้ว” ครูบาจึงนั่งดูและเห็นด้วยญาณ จึงบอกอุบาสกว่า “ช้างอยู่โน้นเกือบจะถึงน้ำน่านแล้ว แต่ช้างตัวนั้นเอาหัวดันกับต้นไม้ไว้ และมีน้ำตาไหลอยู่ที่ต้นไม้นั้น เพราะช้างเสียใจที่ได้ฆ่าควาญของมันตาย” ท่านครูบาได้ชี้ทางให้ไปตามนี้ เมื่ออุบาสกไปถึงจึงพบว่าเป็นความจริงตามที่ท่านครูบาบอก ควาญช้างตายแช่น้ำบวกอยู่ พอเห็นช้างจึงจับช้างขี่กลับบ้าน และได้แวะบอกท่านครูบา “เหมือนอย่างที่ท่านครูบาบอกทุกประการ ข้าน้อยขอลาก่อน” เมื่อไปถึงบ้านแล้ว อุบาสกก็จัดการพาญาติพี่น้องของควาญช้างมาเผาศพ ต่อมาชาวบ้าน “บ้านเค้า” ก็ย้ายมาตั้งบ้านเรือน ณ ที่ปัจจุบัน และยังใช้ชื่อเดิมอยู่

ต่อมาเจ้าผู้ครองนครเมืองน่านได้ตระเวนสำรวจขอบเขตเมืองน่าน ตั้งแต่อำเภอท่าปลา ขึ้นมาจนถึงบริเวณนี้ และมีดำริว่าจะเอาเมืองมาตั้งที่นี้ แล้วให้ประชาชนมาสร้างพลับพลาที่พักบริเวณนี้ขึ้น เพื่อสำรวจพื้นที่ที่จะสร้างเมือง ได้ให้มหาดเล็กไปตรวจตราดูแล้ว เห็นว่าไม่เพียงพอจะสร้าง จึงได้ล้มเลิกความคิดนั้น และไปสร้างทางฝั่งน่านตะวันตกตามเดิม ดังนั้นวัดและหมู่บ้านที่ชื่อว่า “บ้านเค้า” ที่แต่เดิมมีประมาณ 15 หลังคาเรือน จึงกลายมาเป็น “บ้านเมืองฮาม” (บ้านเมืองราม) จนถึงปัจจุบัน

ประวัติบ้านป่าคา

บ้านป่าคา เดิมตั้งอยู่ที่ราบสูงริมฝั่งแม่น้ำน่าน ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีวัดอยู่หนึ่งวัด ชื่อว่า “วัดซ้าย” ต่อมาวัดซ้ายได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่วัดปัจจุบัน หมู่บ้านที่อยู่ทางตะวันออกของวัดซ้ายนี้ชื่อว่า “บ้านดอนมูล” แต่ตั้งอยู่ไม่นาน เพราะฝั่งแม่น้ำน่านได้พังทลายเข้ามา จึงได้ย้ายไปตั้งอยู่ทางใต้วัดปัจจุบัน เดิมมีประมาณ 10 กว่าหลังคาเรือน ประชาชนต่างทำมาหากินเลี้ยงชีวิตด้วยการทำไร่ ทำนา ทำสวน ตามกาลสมัย ต่อมาเมื่อมีผู้คนมากขึ้น การปกครองหมู่บ้าน ตำบล พัฒนาไปตามสมัย หมู่บ้านนี้มีกำนันมาตั้งอยู่หลายสมัย ประมาณปี พ.ศ.2460 ก็ได้ตั้ง “แคว่น”ขึ้น (กำนัน สมัยนั้นเรียกว่า แคว่น) ต่อมาเลิกใช้คำว่า แคว่น เปลี่ยนเป็น “กำนัน” เรียกชื่อว่า กำนันยศ มโนนัย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อกำนันยศ มโนนัยถึงแก่กรรม ก็ตั้งขุนยศ ธรรมสมบูรณ์ เป็นกำนันคนต่อมา มีการตั้งกำนันต่อกันมาหลายรุ่น ได้แก่ กำนันสอน มโนนัย , นายอาจ ปวงจันทร์หอม , นายจันต๊ะวงศ์ โปทาหมุด และนายบุญยงค์ มีสุข ตามลำดับ บ้านป่าคานี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “บ้านเชียงบาล” ตั้งขึ้นโดยครูบานามวงค์

ประวัติบ้านท่าดอนไชย

“บ้านท่า” เป็นบ้านที่คนบ้านดอนไชยลงไปตั้งรกรากอยู่ เดิมมีไม่กี่หลังคาเรือน ดังนั้นบ้านท่า กับบ้านดอนไชยจึงเป็นบ้านพี่บ้านน้องกัน เป็นศรัทธาเดียวกันมาตั้งแต่โบราณ การทำบุญให้ทานก็ขึ้นกับวัดดอนไชย ครั้งแรกมีพระอาจารย์องค์หนึ่งชื่อ “ตุ๊เจ้าธนะ” ได้ตั้งอารามอยู่ที่บ้านท่า ต่อมาได้ยุบไป เหตุที่เรียกบ้านท่า เพราะมีเรือข้ามฟากอยู่ตรงนั้น

บ้านเมืองราม บ้านดอนไชย บ้านท่า บ้านป่าคา มีเนื้อที่รวมกันเป็นเนื้อที่ ทำไร่ ทำนา รวมเป็นอันเดียวกันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรได้สร้างฝายบ้านนาไชยเสร็จแล้ว ก็ได้ตระเวนลงมาในหมู่บ้านแถบนี้เห็นเป็นเนื้อที่กว้างขวางพอสมควร และได้สำรวจลงไปถึงห้วยทองแดงอันเป็นเขตของเจ้าจันตะโมกข์ ก็รู้สึกว่ากว้างขวางพอสมควร จากนั้นก็ได้กลับขึ้นมาที่บ้านเค้า หรือ บ้านเมืองราม และได้เรียกชาวบ้านเมืองราม บ้านดอนไชย บ้านป่าคา มาประชุมปรึกษาหารือเรื่องที่จะสร้างฝายกั้นน้ำที่ห้วยน้ำเหลืองเพื่อเอาน้ำใส่นาข้าว พร้อมทั้งสร้างเหมืองส่งน้ำด้วย และบุกเบิกที่นาของบ้านเมืองราม บ้านดอนไชย บ้านป่าคา เมื่อผู้คนมาประชุมพร้อมแล้ว ก็ให้เลือกผู้นำขึ้นมา 4 คน เพื่อเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างฝาย สร้างเหมือง และถากถางที่ดินเพื่อทำนาอีกต่อไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะที่แห่งนี้มีที่ราบกว้างขวางพอสมควร ประกอบกับผู้คนที่อาศัยอยู่แถบนี้ก็มีมาก การคัดเลือกบุคคลที่เห็นสมควรจะเป็นหัวหน้าและเป็นผู้เข้าใจในวิธีการสร้างเหมือง ฝาย และที่ดินที่จะจัดสร้างให้เป็นเนื้อนาดีขึ้น เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็ให้ใช้เป็นที่ปลูกข้าว และมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ เมื่อชาวบ้านเลือกขึ้นมาได้แล้ว เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรก็แต่งตั้งให้ท่านเหล่านั้นมีหน้าที่ต่างกันดังนี้ คือ แต่งตั้งให้เป็น “แสน” “ท้าว” และมอบหมายหน้าที่เมื่อสร้างเหมือง ฝายเสร็จแล้ว ก็ให้มีหน้าที่ทำที่ดินที่นาต่อไป บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง มีดังต่อไปนี้

1. พ่อเมืองแสนอุ้ม มีหน้าที่ จัดที่ดินที่จะขุดลำเหลือง เป็นคนบ้านเมืองราม

2. พ่อเมืองแสนพัน มีหน้าที่ จัดหาไม้มาทำฝาย เป็นคนบ้านดอนไชย

3. พ่อเมืองปงสนิท มีหน้าที่ จัดทำออกแบบ ร่างฝาย เป็นคนบ้านเมืองราม

4. แสนหลวงธนันชัย เป็นหัวหน้าหมวดขุดดินถมหน้าฝาย เป็นคนบ้านดอนไชย

5. ท้าวกอบวิชา มีหน้าที่ จัดหลักไม้ทั้งใหญ่และเล็กมาลง เป็นคนบ้านดอนไชย

เพื่อความมั่นคงของฝาย

6. ท้าวกาวิละ เป็นผู้ควบคุมพวกคนงานในการจัดทำ เป็นคนบ้านเมืองราม

ให้แข็งแรงเพื่อความมั่นคงของฝาย

7. ท้าวคำลือ มีหน้าที่ส่งหมายไปให้หัวหมวดแต่ละหมู่บ้านให้รู้ว่า ใครขาดใครมาทำงาน

และมากี่วัน ขาดกี่วัน เพื่อให้มาทำให้เสมอหน้ากันหมด

เมื่อเจ้าพระยาหลวงมณเฑียร ได้จัดตั้งผู้เป็นนายไว้แล้ว ก็ลงมือทำงานกันไป ดังนั้นเหมืองและฝายแห่งนี้ จึงเป็นเหมืองและฝายของบ้านเมืองราม บ้านดอนไชย บ้านป่าคา คลอดจนถึงที่นาทั้งหมดที่มีพื้นฐานที่ไร่ที่นาเป็นอันเดียวกันมาแต่ดั้งเดิม เมื่อได้จัดทำและลงมือไปแล้ว เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรก็ได้บัญชาให้บ้านที่ทำมาก่อน และได้เรียกให้ผู้คนแถบนี้ให้มาช่วยทดแทนกันไป เช่น บ้านนาเหลืองฉางข้าว ได้ให้บุคคลเหล่านี้ คือ

1. แสนวิชา

2. แสนหลวงจันต๊ะ

3. แสนหลวงกุศล

4. แสนขาว

ได้นำผู้คนมาช่วยกัน ส่วนบ้านนาไชย หรือบ้านทุ่งไชย ก็คือบ้านนาเหลืองนอก ได้บัญชาให้บุคคลดังต่อไปนี้ คือ

1. แสนหลวงนอกบ้านนายนา

2. แสนอินทร์

3. แสนกันทะวงค์

4. ท้าวสมทิพย์

ได้นำคนมาช่วยทางนี้อีก ความเป็นปึกแผ่นของคนโบราณก็มีมาเป็นเช่นนี้ จึงมีผลสำเร็จให้ลูกหลานได้สืบมือ ถือทำมาหากิน ที่สำเร็จก็ทำเป็นเนื้อนา ทำกินได้ ที่เป็นเนินสูง น้ำไม่ถึงก็ทิ้งไว้ ให้กุลบุตรผู้เกิดมาได้รับมรดกตกทอดก็คุ้ยเขี่ยขุดทำไปจึงได้ที่ ที่กว้างขวางออกไปและเป็นที่ทำกินตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อคิดคำนวณถึงหนหลังแล้วก็เป็นเวลาได้ 400 ปีกว่าเกือบ 500 ปี เจ้าพระยาหลวงมณเฑียรผู้นี้เป็นทั้งนักรบ และนักพัฒนา เป็นที่ปรึกษาของเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน ตามที่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่าท่านมีอายุ 101 ปี จึงมรณะ แต่ก่อนเคยมีเครื่องสำหรับเข้ารบออกศึก อยู่ที่บ้านนาเหลืองใน คือ หอก 1 อัน ดาบ 1 เล่ม หมวกสวมหัว 1 ใบ ปืน 1 กระบอก คะแนงเผาใหญ่ 1 อัน ข้องลูกปืน 1 อัน เอาไว้ในห้องเรือน ห้องที่ไว้ของเหล่านี้เด็กก็เข้าไปไม่ได้ ถ้าเข้าไปจะเป็นไข้ แต่ของดังกล่าวนี้ไม่มีเหลือ ใครเอาไปไหนไม่รู้ คงจะหักหรือแตกไปเพราะไม้หมดสภาพ ยังคงเหลืออยู่แต่คะแนงเผาอย่างเดียวเท่านั้น

ประวัติบ้านดอนไชย

บ้านดอนไชย แต่เดิมเรียก “บ้านหนองแหย่ง” มีประชากรไม่มาก ประมาณ 30 กว่าหลังคาเรือน เนื้อที่รวมทั้งทุ่งนา เหมืองฝายก็ยังไม่มี บ้านดอนไชย และบ้านเมืองราม มีเนื้อที่ดินทำไร่ ทำนา ที่ทำมาหากินเป็นอันเดียวกัน การสร้างสรรค์สิ่งใดก็มีความสัมพันธ์กันมาแต่ดั้งเดิม มีวัดอยู่วัดหนึ่ง ชื่อว่า “วัดป่าแอ็บ” (วัดหนองแหย่ง) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดปัจจุบัน สันนิษฐานว่า บ้านดอนไชยคงจะเป็นบ้านหนองแหย่ง เหตุที่ได้ชื่อว่าบ้านดอนไชยนั้น เมื่อท้าวถึงความหลังสิ้นกาลนานแล้ว มีคราวหนึ่งที่พระยาเมืองบ่อว้าได้อัญเชิญพระบรมธาตุที่เมืองโยนก หรือเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นนครหลวงของภาคเหนือ ได้ผ่านมาวัดป่าแอ็บ หรือวัดหนองแหย่งพอดี เมื่อพลบค่ำมืดแล้วจึงได้พักค้างคืนอยู่ใกล้ ๆ วัดนี้ และพอดีตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ในคืนนั้นพระยาเมืองบ่อว้า ตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นลูกแก้วลูกหนึ่งเปล่งปาฏิหาริย์ขึ้น ส่องแสงเล่นที่ต้นปอใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่พัก มีรัศมีแจ้งโชติช่วงไปหมด จึงได้เรียกผู้คนที่ติดตามมาให้ลุกขึ้นมาดูพร้อมกันหมด แก้วลูกนั้นได้เปล่งปาฏิหาริย์เป็นสีต่าง ๆ เป็นสีขาว สีเขียว สีเหลือง สีดำ สีแดง สลับกัน พระยาเมืองบ่อว้าเห็นก็นึกว่าเป็นพระบรมธาตุที่อัญเชิญมา จึงบอกให้คนติดตามมาไปเปิดผอบดู ปรากฏว่าอยู่ครบถ้วน เมื่อใกล้สว่างลูกแก้วที่เปล่งปาฏิหาริย์ก็หายไป พระยาเมืองบ่อว้าจึงได้เรียกผู้คนในหมู่บ้านนี้มาบอกว่า “มาหยุดพักที่นี้ก็นับว่ามีโชคมีชัยมากดีแล้ว เพราะได้เห็นแก้วเปล่งปาฏิหาริย์ที่ต้นปอแห่งนี้ และต่อไปก็ขอให้สร้างพระบรมธาตุที่ต้นปอนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อไปข้างหน้า” เมื่อพูดคุยกันพอสมควรแล้ว และรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระยาบ่อว้าก็นำพระบรมธาตุไปด้วย มีช้างเป็นพาหนะนำไปสร้างที่เมืองบ่อว้า ตั้งชื่อว่า “พระธาตุยอยหงส์” เพราะทำเป็นรูปหงส์คาบมา หมู่บ้านแห่งนี้จึงถือเอาตามคำพระยาเมืองบ่อว้าว่า “มาหยุดที่นี้ก็มีโชคมีชัย ได้เห็นแก้วเล่นและก็จะได้สร้างพระธาตุตรงนี้อีก 1 ดวง” จึงให้ชื่อดอนสูงว่า “ดอนไชย” และก็ได้ย้ายวัดจากที่เดิมมาตั้งอยู่บริเวณปัจจุบัน ซึ่งเรียกว่า “วัดดอนไชย” และ “บ้านดอนไชย” จนถึงปัจจุบัน