วัดสวรรคาราม

วัดสวรรคาราม ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสวรรคโลก เดิมเป็นตำบลวังพิณพาทย์ อำเภอสวรรคโลก เนื้อที่ของวัดประมาณ 10 ไร่เศษ ด้านหน้าติดลำน้ำยม มีถนนประชาราษฎร์ผ่านหน้าวัดเหตุที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดกลาง” เพราะวัดตั้งอยู่ระหว่างกลาง 2 ตำบล คือด้านเหนือเป็นตำบลวังพิณพาทย์ และด้านใต้เป็นตำบลวังไม้ขอน ซึ่งตั้งเป็นเมืองสวรรคโลก หลังจากที่ได้ย้ายมาจากบ้านท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย มาตั้งที่หมู่บ้านวังไม้ขอน

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2450 พระปลัดคำ วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระครูสวรรค์วรนายก ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองสวรรคโลก ได้มาประจำอยู่ที่วัดกลางท่านจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสวรรคาราม” เมื่อพิจารณาสิ่งก่อสร้างในวัดที่มีอยู่ตั้งแต่เดิมแล้วปรากฏว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี่เอง ไม่เก่าถึงสมัยสุโขทัยหรือสมัยอยุธยาแต่อย่างใด คงเป็นวัดที่ราษฎรช่วยกันสร้างขึ้น เพราะไม่ปรากฏว่ามีศิลปะที่เป็นพิเศษ หรือมีเครื่องหมายของกษัตริย์พระองค์ใดเลย

บรรดาสิ่งก่อสร้างในวัดก่อน พ.ศ. 2526 เช่นโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ และเสนาสนะของวัดนี้ไม่ใหญ่โตนัก โบสถ์ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือก็มีขนาดเล็กตัวโบสถ์แต่เดิมชำรุดทรุดโทรมมากได้มีการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัย พระอุปัชฌาย์อาจ เป็นเจ้าอาวาสเมื่อหลายสิบปีมาแล้วและในสมัยเดิมก็เล็กกว่าปัจจุบันนี้เสียอีก ต่อมาในสมัยพระครูธรรมวโรทัย เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นพระปลัดก็ได้ซ่อมแซม ช่อฟ้า ฝ้า และเสา ในปี พ.ศ. 2471 ครั้นถึง พ.ศ. 2509 พระครูสุนันท์คุณาภรณ์ (พระครูวินัยธร ยิ้ม) ได้ซ่อมแซมเสาและหลังคาอีก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2540 หรือ พ.ศ. 2541 ไฟได้ไหม้หลังคาโบสถ์ พระภิกษุและกรรมการวัดต้องทำการซ่อมแซมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง จนมาถึงปัจจุบันนี้ส่วนวิหารของวัดเดิมมีคู่กับโบสถ์ อยู่ทางด้านเหนือถูกไฟไหม้ เมื่อประมาณ 90 ปีมาแล้ว จึงไม่มีปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด

ที่ด้านหน้าของโบสถ์ เป็นเจดีย์ไม้สิบสองขนาดเล็ก มีสององค์ด้วยกัน สืบไม่ได้ความว่าบรรจุกระดูกของผู้ใด ส่วนเจดีย์เล็กๆ ด้านหลังโบสถ์เป็นเจดีย์บรรจุกระดูกของโยมชายหญิงของท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2480 และเจดีย์ญาติพี่น้องของท่านที่ใช้นามสกุล “จิตรธร” ตั้งเรียงเป็นแถวอยู่

สิ่งก่อสร้างที่ดูแปลก และใหญ่โตก็คือ กุฏิแบบฝรั่งมีอยู่สามชั้นอยู่ห่างจากโบสถ์ไม่มากนัก ห่างจากริมถนนประชาราษฎร ์ ริมแม่น้ำยมประมาณ 50 เมตร สร้างโดยชาวจีนผู้หนึ่ง เรียกกันว่า “จีนแส” สมัยนั้นจีนแสได้มารับจ้างสร้างสะพานหนองช้าง ซึ่งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย ราว พ.ศ. 2463 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จะเสด็จประพาสเมืองศรีสัชนาลัย ใน พ.ศ. 2464 ท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายก จึงได้ไปว่าจ้างจีนแสมาสร้างกุฏิตึก เมื่อ พ.ศ. 2465 ด้วยจำนวนเงินหลายหมื่นบาท ถ้าคิดในสมัยนี้ก็เป็นเงินหลายล้านบาท ต่อมาท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายก ได้ไปรู้จักกับนายช่างแขวงการทางจังหวัดสวรรคโลก ซึ่งรับผิดชอบการสร้างทางหลวง ระหว่างจังหวัดสวรรคโลก กับจังหวัดตาก ชื่อนายฮกเลี้ยง สุนอนันต์ ท่านเป็นนักฟุตบอลที่มีฝีเท้าดีคนหนึ่งของจังหวัดสวรรคโลก รุ่นเดียวกับ นายเพ่ง ลิมปะพันธุ์ และอาจารย์งาม สีตะธนี ครูใหญ่โรงเรียนสวรรค-วิทยา นายฮกเลี้ยง สุนอนันต์ ช่างแขวงการทางผู้นี้จบการช่างมาจากประเทศเยอรมัน ได้มาช่วยออกแบบทำเพดานโค้งคอนกรีตรองรับพื้น และลวดลายอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เห็นจะเป็นด้วยตึกหลังนี้เองที่ท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายกพอใจมาก ท่านจึงไม่ย้ายไปอยู่วัดสว่างอารมณ์วรวิหารเลย

ศาลาการเปรียญหลังเดิมของวัดสวรรคารามตั้งอยู่หลังศูนย์สาธารณสุข หรือสถานีอนามัยของเทศบาลในปัจจุบัน ศาลาหลังนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 มีสภาพทรุดโทรมมาก คณะกรรมการวัด ประชาชน และ ร.ต.ประภาส ลิมปะพันธุ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงได้รื้อและก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น โดยขอให้ช่างกรมชลประทานกับอาจารย์ สุวรรณ นวล-ทรง ออกแบบเมื่อ พ.ศ. 2526 ทุนก่อสร้างได้จากงบประมาณ ส.ส. ของ ร.ต.ประภาส ลิมปะพันธุ์ ของหน่วยงานของรัฐ และเอกชนมาทอดกฐินบ้าง ทอดผ้าป่าบ้าง เช่น จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต องค์การโคนมแห่งประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้รับการบริจาคจากบุคคลหลายฝ่ายรวมทั้งประชาชนของ

วัดสวรรคารามเอง สร้างอยู่ประมาณ 5 ปี จึงเสร็จเรียบร้อย เป็นศาลาการเปรียญขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร สิ้นเงินไปหลายล้านบาท

ฌาปนสถานของวัดสวรรคาราม เดิมสร้างอยู่ในป่าช้าของวัด ด้านใต้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรวรนายก ประมาณ 40 เมตร เตาเผาศพก่อด้วยอิฐโบกปูน มีช่องสำหรับวางฟืนและศพ หลังคาสูงเหมือนกับวัดอื่นๆ ต่อมาทางวัดได้มอบที่ดินให้กับกรมศิลปากรเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ จึงต้องสร้างใหม่เป็นฌาปนสถานถาวร ซึ่งออกแบบโดยอาจารย์สุวรรณ นวลทรง อดีตอาจารย์โรงเรียนสวรรค์อนันต์-วิทยา เริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2526 โดย ร.ต.ประภาส ลิมปะพันธุ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าในการหาทุนมาจัดสร้างพร้อมด้วยญาติๆ ในตระกูล “ลิมปะพันธุ์” กรรมการวัด และประชาชนโดยทั่วไป สร้างเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2526 และได้ใช้ฌาปนสถานนี้ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเพ่ง ลิมปะพันธุ์ อดีตนายกเทศ-มนตรีเทศบาลเมืองสวรรคโลก อดีต ส.ส.สุโขทัย และอดีตประธานสภาจังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2526

การก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ภายในวัดสวรรคาราม เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2526 เช่น การก่อสร้างกุฏิหลังเล็กๆ ทางด้านเหนือ ได้ผู้มีชื่อบริจาคเงินก่อสร้าง และจารึกชื่อไว้ตามอาคารนั้นๆ อาคารกุฏิพื้นต่ำหลายห้องด้านตะวันตก หลังฌาปนสถาน ก็เพิ่งสร้างเมื่อสี่ห้าปีมานี้เอง ศาลาธรรมสังเวชด้านเหนือฌาปนสถาน นายสันติภาพ ลิมปะพันธุ์ พร้อมด้วยกรรมการวัด และประชาชน ได้ร่วมกันสร้างโดยนำเสาจากศาลาการเปรียญหลังเก่ามาก่อสร้าง เพื่ออนุรักษ์ของเก่าให้คงอยู่ตลอดไป นอกจากนี้ยังได้สร้างศาลาหลวงปู่ เพื่อประดิษฐานรูปหล่อของท่านเจ้าคุณสวรรค์วรนายก และท่านพระครูธรรมวโรทัย นับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวัดสวรรคารามเป็นอย่างดี ซึ่งออกแบบโดยอาจารย์สุวรรณ นวลทรง อดีตอาจารย์โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยาทั้งสิ้น

วัดสวรรคารามมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปองค์หนึ่ง มีชื่อเรียกว่า “หลวงพ่อบุญลือ” หน้าตักกว้าง 33 นิ้ว ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย