เลขที่ 205หมู่ที่ 7ตำบลมะเขือแจ้

อำเภอเมืองลำพูนจังหวัดลำพูน 51000

       โทร ๐-5350-3402, 08-1992-9516

                                

ความเป็นมา
    กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลำไยเนื้อสีทองบ้านสันป่าเหียงมีแนวคิดจากคน
ในชุมชนบ้านสันป่าเหียงหมู่ที่ 7  ตำบลมะเขือแจ้  อำเภอเมืองลำพูน  จังหวัดลำพูนได้รวมตัวกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยล้นตลาดราคาตกต่ำผลผลิตที่ออกมามากในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปีและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหาร โดยการนำลำไยสดมาตากแดด  และพัฒนามาเป็นการอบแห้งเป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง  ซึ่งเป็นการช่วยระบายผลผลิตที่ออกมามาก
ในช่วงฤดูกาล ซึ่งช่วงระยะแรกๆ กลุ่มฯ ได้มีการลองผิดลองถูกในการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนกระทั่งปัจจุบันได้มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ  จากการดำเนินงานของกลุ่มทำให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมก่อให้เกิดการกระจายรายได้  ทำให้เกิดการเงินหมุนเวียนภายในชุมชนตลอดทั้งปี  คนในชุมชนไม่ต้องออกไปทำงานนอกชุมชน ลดปัญหาการว่างงานของคนในชุมชน  ดังนั้นบ้านสันป่าเหียงจึงเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง  สามารถพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดีและยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของส่วนราชการ สถานศึกษา และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ทั้งในชุมชนและนอกชุม

หลักคิด

       วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองบ้านสันป่าเหียง  หมูที่ 7  ตำบลมะเขือแจ้  อำเภอเมืองลำพูนได้มีการระดมหุ้นสมาชิกเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการผลิต  อีกทั้งยังมีทุนจากการออมทรัพย์ของสมาชิกกลุ่ม  สมาชิกในครอบครัว  สมาชิกที่มีอายุต่ำกว่า  15  ปี และสมาชิกสมทบบางรายที่ต้องการออมเงินเพียงอย่างเดียวเพื่อรับเงินปันผลคืนทุกปี  สามารถออมทรัพย์ได้ไม่จำกัด  ซึ่งทุนเหล่านี้สมาชิกสามารถกู้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตได้ไม่เกินวงเงินที่กำหนดหรือตามสัดส่วนค่าหุ้น  และต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5  ภายในฤดูกาลผลิตปีต่อไป  ซึ่งหากไม่สามารถชำระเป็นเงินสดก็สามารถนำผลผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองมาคิดเป็นมูลค่าตามที่กำหนดคืนให้กับกลุ่มเพื่อจำหน่ายที่ร้านค้าของกลุ่ม  และผลกำไรที่ได้ก็กลายมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกลุ่มต่อไป 

จุดเด่น

      ผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองของกลุ่มเป็นผลิตภัณฑ์เด่น  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดลำพูน  อีกทั้งการแปรรูปก็เป็นการแก้ไขปัญหาลำไยสดล้นตลาด  และราคาตกต่ำได้เป็นอย่างดี ประกอบกับเกษตรกรชาวสวนของจังหวัดลำพูน มีการทำสวนลำไยและปลูกลำไยกันมาก  จึงเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาของชาวสวนลำไยและเกษตรกรส่วนมากของจังหวัดด้วย

การส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชุมชนในภาพรวม

      เป็นการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน  สมาชิกและคนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น  ผู้สูงอายุมีรายได้  เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างโดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์  ครอบครัวมีรายได้เพิ่ม  เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เป็นศูนย์รวมหรือตลาดในการวางจำหน่ายสินค้าของกลุ่ม/ชุมชน/เครือข่าย  เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค และลูกค้าประจำ เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์เรียนรู้ของคนในชุมชนที่มีการปลูกและแปรรูปลำไย  เครือข่าย  ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจ  กิจกรรมของกลุ่มฯ เป็นตัวอย่างทำให้เกิดการพัฒนา