วันจักรี มีความสำคัญอย่างไร ?

สำหรับ ประวัติวันจักรี หรือ Chakri Memorial Day นั้น มีความสืบเนื่องมาจากวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือ พระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี พร้อมกับได้ก่อตั้งกรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของไทยที่ถัดจากกรุงธนบุรี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงเปลี่ยนนามเมืองหลวงใหม่เป็น กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ จึงกล่าวว่านอกจากวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี จะเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรีแล้ว ยังเป็นวันครบรอบของกรุงเทพมหานคร

โดยจากบันทึกตามประวัติศาสตร์ มีการระบุไว้ว่าในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ ทั้ง 4 พระองค์ (รัชกาล 1 - รัชกาล4) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา จนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน ได้ถวายความเคารพสักการะ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาประสาท และย้ายที่อีกหลายครั้ง

ต่อมาในรัชสมัยของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงโปรดใหย้ายพระบรมรูปดังกล่าวมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 1 และได้มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม และประดิษฐานพระบรมรูปของทั้ง 5 รัชกาล จนแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 และในวันที่ 6 เมษายนในปีนั้น พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “วันจักรี” ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนชาวไทยทุกคนควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์

ทั้งนี้ ประชาชนจากทุกหมู่เหล่าสามารถเดินทางไปวางพานพุ่มดอกไม้ เพื่อทำความเคารพที่ บริเวณหน้าพระบรม ราชานุสาวรีย์ฯบริเวณเชิงสะพานพุทธได้เช่นกัน เรื่องราวความเป็นมาของวันจักรี และราชวงศ์จักรียังมีประวัติศาสตร์อีกมากมายให้ศึกษาเพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกคนระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย

กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันจักรี

เนื่องในวันจักรี 6 เมษายนของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนาประกอบการบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถ และจะทรงสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ ปราสาทเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อจากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ชานชาลา เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นิสิต นักศึกษา หน่วยงานรัฐบาลและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปจากทุกสาขาอาชีพ ต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ ผู้ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความสงบสุขของอาณาประชาราษฎรอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่หากในปีใดที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป