ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน

งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน เป็นงานประเพณีประจำปีของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ค่ะ ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ถนนหลายๆ สายของอำเภอด่านซ้าย หรือที่อื่นๆ ในจังหวัดเลย โดยเป็นงานที่มีบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง และมีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศไทย

การละเล่นผีตาโขน เป็นงานประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าจัดขึ้นตั้งแต่ยุคใด ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ จึงทำให้งานประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย โดยเป็นการนำโดยนำงานบุญหลวง หรือ บุญผะเหวด งานบุญบั้งไฟ งานบุญซำฮะ (สะเดาะเคราะห์บ้านเมือง) และการละเล่นผีตาโขนมารวมเป็นงานเดียวกัน เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์

วันที่ 1 เป็น เทศกาลผีตาโขน ซึ่งเรียกวันนี้ว่า วันรวม หรือ วันโฮม จะมี พิธีเบิกพระอุปคุต

  • พิธีการบวชพราหมณ์ เพื่อเชิญพระอุปคุต

  • พิธีแห่จากวัดโพนชัย ไปริมฝั่งแผ่น้ำหมันเพื่อเชิญพระอุปคุต

  • พิธีงมพระอุปคุตจากแม่น้ำหมันอัญเชิญขึ้นประดิษฐานหออุปคุต วัดโพนชัย

  • พิธีเบิกพระอุปคุต พร้อมยิงปืนทั้ง 4 ทิศ

  • พิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม

วันที่ 2 เป็น วันแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง หรือ ขบวนแห่ผีตาโขน

  • พิธีสู่ขวัญพระเวส อัญเชิญพระเวสเข้าเมือง

  • ขบวนแห่พระเวสเข้าเมือง (ขบวนแห่ผีตาโขน)

  • เจ้าพ่อกวนและคณะ นำขบวนแห่ไปวัดโพนชัยแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ

  • เจ้าพ่อกวนและคณะจุดบั้งไฟขอฝน

  • คณะผู้เล่นบุญนำหน้ากากผีตาโขนน้อยและผีตาโขนใหญ่ทิ้งลงแม่น้ำหมัน

วันที่ 3 เป็น วันฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ พิธีสวดมาลัยหมื่นมาลัยแสน ในการฟังเทศมหาชาติ

  • พิธีสวดชำฮะเพื่อขอขมาลาโทษสะเดาะเคราะห์รับโชค

  • นำอาหารหวานใส่กระทง เพื่อให้ทานสะเดาะเคราะห์ และสืบชะตาบ้านเมือง

  • พ่อแสนท้าพิธี “จำเนื้อจำคิง" เพื่อการสะเดาะเคราะห์

  • นำเครื่องสะเดาะเคราะห์ทิ้งลงแม่น้ำหมัน

  • พิธีคารวะองค์องค์พระใหญ่ โดยเจ้าพ่อกวนและคณะ เป็นอันเสร็จพิธี

และประเพณียังคงมีความเชื่อกันว่า สำหรับคนที่เล่นหรือมีการแต่งตัวเป็น ผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไปอีกด้วย

มีความเชื่ออีกว่า ประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงบูชาดวงวิญญาณบรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมือง ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้ดวงวิญญาณบรรพชนพอใจ ชาวบ้านจึงจัดให้มีการละเล่นผีตาโขนขึ้น