ผ้าจกโหล่งลี้ มรดกสายเมือง

" ผ้าจกโหล่งลี้ มรดกสายเมือง จังหวัดลำพูน "

                 การจกผ้า มรดกแห่งเมืองลี้ เมืองลี้สมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองที่ขึ้นต่อนครลำพูน เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้แต่งตั้งผู้ปกครองเมืองลึ้ เรียกว่า“พญาลี้” พร้อมทั้งกำหนดบทบัญญัติเป็นลักษณะตัวบทกฎหมายที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง ทั้งนี้พญาลี้คงจะมีการสืบต่อกันมาหลายท่านแล้วไปสิ้นสุดองค์สุดท้ายที่ พญาเขื่อนแก้ว เมื่อสมัยปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาล จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และเริ่มมีการปกครองในตำแหน่ง “นายอำเภอ” แทนเจ้าเมืองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๐ ในชั้นต้นเมืองลี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “อำเภอลี้” โดยอยู่ในเขต การปกครองของจังหวัดลำพูน ทั้งนี้มีการบอกเล่าของผู้รู้ในตำบลลี้ และตำบลดงดำว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ณ เวลาปัญจุบัน นอกจากบางส่วนที่อยู่อาศัยแต่เดิมในพื้นที่แล้ว บางส่วนอพยพมาจากเมืองเถิน ซึ่งกลุ่มแรกที่อพยพมานั้น มาจากบ้านน้ำโท้ง ราวปี พ.ศ. ๒๔๓๗ - ๒๔๔๐ ประมาณ ๑๕ ครัวเรือน โดยเริ่มตั้งถิ่นฐานที่บ้านป่าคาเป็นอันดับแรก แล้วค่อยๆ แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะในตำบลดงดำและตำบลลี้ นอกจากนี้ประวัติของบ้านปวงคำกล่าวว่า เมื่อปี ๒๓๖๖ พ่อหนานเทพ เทพปัน พร้อมผู้คนกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาจากเมืองเถิน เข้ามาตั้งหลักปักฐานหักร้างถางพง ทำมาหากินในที่ดินอันเป็น บริเวณที่อุดมสมบูรณ์ มีการก่อสร้างฝายกั้นน้ำ และพระอารามในพื้นที่บ้านปวงคำในปัจจุบัน ต่อมาก็มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติมเป็นชุมชนใหญ่ เจ้าเมืองลำพูนจึงได้แต่งตั้งพ่อหนานเทพให้เป็นพญาเทพปกครองชุมชนในเวลาต่อมา และที่นี่เป็นบริเวณที่ซิ่นตีนจกโบราณซึ่งเป็นสมบัติของชาวเมืองลี้ ว่า “ซิ่นตีนจกโหล่งลี้” นอกจากนี้ก็ยังพบผ้าหลบและหมอนหน้าจกแบบไทยวนทั่วไปในพื้นที่โหล่งลี้ จึงจะเรียกลายจกเหล่านี้ว่า    “ลายจกโหล่งลี้” 

ลายจกหน้าหมอน

            ถือเป็นส่วนร่วมของวัฒนธรรมคนเมือง หรือไทยวน มีลักษณะเป็นหมอนรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก เย็บแบ่งข้างในเป็นหกช่องเพื่อบรรจุนุ่นให้คงรูปในการใช้งาน ถ้าไม่มีหน้าจกก็จะเรียกหมอนหก หรือหมอนหน้าหก หมอนหน้าจกมีประโยชน์หลายด้าน เช่น ใช้หนุน ใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่น พิธีแต่งงานหรือบวช หรือถ้ามีแขกมาบ้านเรือนก็จะนำมารับรอง ลายจกหน้าหมอนพบที่บ้านโฮ่ง ตำบลลี้ อำเภอลี้ ที่แสดงในหน้านี้ทั้งหมดเป็นลายดอกจันทร์ ลักษณะและขนาดต่างกัน ภายใต้องค์ประกอบของลวดลาย และสีสันต่างๆกัน ดอกจันทร์ที่กล่าวนี้เป็นดอกไม้แปดกลีบ บางทีเป็นลายดอกจันทร์ลอยๆ บางทีก็เป็นลายดอกจันทร์บรรจุอยู่ในโคม รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนอีกทีหนึ่ง

ลายจกผ้าหลบ 

            ผ้าหลบเมืองหรือผ้าปูสะลี คือผ้าปูที่นอนของชาวไทยวน เป็นผ้าที่งดงาม สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยในบ้านเรือน นิยมทอด้วยเส้นยืนและเส้นพุ่งสีขาว โดยเฉพาะเส้นพุ่งมักจะเป็นฝ้ายปั่นมือ ผ้าหลบเมืองจะจกเป็นลวดลายเฉพาะส่วนตีน (โดยความเป็นจริงการจกลายผ้าหลบเป็นการเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษไปตลอดหน้ากว้างของผ้า เรียกว่า การขิด ซึ่งต่างจากจกลวดลายหน้าหมอนหรือตีนซิ่น) ลวดลายที่ใช้มักจะเป็นรูปสัตว์ เช่น ม้า ช้าง หรือดอกไม้เรียงเป็นแถว หรือรูปเรขาคณิต ชายผ้าด้านล่างปล่อยเส้นฝ้ายลุ่ย หรืออาจฝั้นเป็นเกลียวหรือถักเป็นตาข่ายเพื่อความสวยงาม ผ้าหลบเมืง ส่วนใหญ่จะทอเป็นผืนเล็กๆ หน้าแคบ แล้วจึงเย็บสองชิ้นต่อกันเป็นผืนกว้างเท่าที่นอนเป็นที่สังเกตว่าสีที่ใช้จะเป็นสีแดงและสีดำเท่านั้น อาจเนื่องมาจากเหตุผลที่ไม่ได้อวดใครมากมายและเป็นสีย้อมสามัญที่หาได้ง่าย

ข้อมูลเนื้อหา โดย อาจารย์สุนีย์  ทองสัมฤทธิ์ 

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวปัทมาภรณ์  จันต๊ะ 

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย facebook ผ้าทอจกโหล่งลี้