วัดพระธาตุดวงเดียว
วัดพระธาตุดวงเดียว ตั้งอยู่ที่ บ้านพระธาตุห้าดวง หมู่ที่ ๑๕ ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ (สายลี้-ลำพูน) บริเวณกิโลเมตร ที่ ๕๐ ระยะทางจากอำเภอเมืองลำพูนมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ สายลำพูน-ลี้ ประมาณ ๑๐๕ กิโลเมตร ถึงอำเภอลี้ จากนั้นตรงไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร ถึง วัดพระธาตุดวงเดียว
วัดพระธาตุดวงเดียว เป็นแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญเป็นที่ศึกษาประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณที่ลี้ จังหวัดลำพูน แม้ว่าจะตั้งอยู่บนเนินเขาแต่ก็มีหลักฐานการอยู่อาศัยชัดเจน และมีลักษณะคู คันดิน ในระบบป้องกันศึกและการต่อสู้ข้าศึก คือมีป้อมปราการผลการสำรวจและอาศัยสภาพความสูงต่ำต่างระดับของเนินเขาและหุบลำธาร เป็นชัยภูมิ คันดินกำแพงเมืองอยู่ด้านใน ด้านทิศใต้ มีป้อม เหนือคันดินกำแพงเมืองก่อสร้างด้วยอิฐ และก้อนหิน ภายในเมืองมีโบราณสถาน ๒ แห่ง คือ เจดีย์และซากอาคารรูปสี่เหลี่ยม โบราณวัตถุที่พบในการขุดค้นส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาไม่เคลือบ เศษเครื่องล้านนาจากแหล่งเตาเวียงกาหลง เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัย และเครื่องถ้วยจีนสมัย ราชวงศ์หมิง"
อำเภอลี้ หรือเมืองลี้ ในส่วนที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องราวที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ซึ่งมีหลักฐานขัดเจน เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก จาก "ตำนานเมืองลี้" ที่ได้กล่าว เมืองลี้หรืออำเภอลี้ อยู่ทางตอนใต้ของตัวเมืองลำพูน เดิมเป็นเมืองเก่ามีซากของตัวเมืองร้างและซากของสิ่งก่อสร้างหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอลี้ ปัจจุบันนี้ไปทางทิศใต้ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า เมืองลี้นี้พระนางจามะรีราชธิดาของเจ้าเมืององค์ใดองค์หนึ่ง ของแคว้นหลวงพระบาง ครั้งอาณาจักรน่านเจ้า ได้พาไพร่พลอพยพหนีภัยศึกมาตั้งเมืองลี้ขึ้น ราวก่อนพุทธศักราช ๑๘๐๐ ดังปรากฏเรื่องราวในตำนานเมืองลี้ ภายหลังที่เมืองลี้ร้างไปแล้วนั้นยังมี ผู้คนอาศัยอยู่กระจัดกระจายห่างกันเป็นแห่งๆ สุดแท้แต่ว่าที่ใดจะเป็นทำเลเหมาะสมที่จะตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและเป็นที่ประกอบการทำมาหากินพอถึงสมัยพระเจ้าสามฝั่งแดน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้อาราธนาพระมหารัตนรังษี แห่งสำนักวัดสวนดอกเชียงใหม่ มาบูรณะวัดเจดีย์ ๕ ดวง ต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้สร้างและบูรณะบ้านเมืองที่ล้มร้างไป รวมถึงเมืองลี้ด้วย
ทำให้เมืองลี้รุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่เมือง หมดสิ้นราชวงศ์เม็งราย อาณาจักรล้านนาตออยู่ในการปกครองของพม่ายาวนานถึง ๒๐๐ ปี เรื่องราวของเมืองลี้ก็ไม่มีมาก หลักฐานและเรื่องราวเมืองนัก ที่สามารถกล่าวถึงในประวัติศาสตร์มากตอน ซึ่งเกี่ยวกับการศึกษาระหว่าง ไทย -พม่า ในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อสมัยกรุงธนบุรี และตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยกับพมามีการสู้รบติดพันต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานและหลายครั้ง ในบางครั้งนอกจากพม่าจะยกทัพมาตีเมืองหลวงของไทย แล้ว กองทัพพม่าส่วนหนึ่งจะโจมตีหัวเมืองสำคัญของไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือจะมีเมืองเชียงใหม่ และลำปาง เมื่อพม่ายกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ และเมืองลำปางเมื่อใดผู้คนพลเมืองของไทยที่อยู่ตามแนวเส้นทางเดินทัพของพม่าหรือที่อยู่ใกล้เคียงเมืองที่พม่ายกทัพไปโจมตีก็จะได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบและการทำร้ายฆ่าฟันในการศึกแต่ละครั้ง ดังนั้น ผู้คนส่วนหนึ่งจึงได้พากันอพยพหลีกลี้หนีภัยไปในทิศทางต่างๆ เพื่อให้พ้นภัยและหาที่ตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยเป็นการเอาชีวิตรอด ผู้อพยพหลบหนีส่วนหนึ่งจากลำปาง และเชียงใหม่ได้อพยพมาทางเมืองลี้ และก็ได้มาตั้งบ้านเรือนชั่วคราวอยู่อาศัยหลบภัยอยู่เป็นแห่งๆ แต่ละแห่งจะมีกลุ่มคนจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง การที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวนั้น ก็เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ของสงครามซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าภัยจากการสู้รบในที่ต่างๆ จะทำให้ได้รับความเดือดร้อนและต้องพากันหลบหนีต่อไปทางไหนอีกเมื่อใด เมื่อพื้นที่เมืองลี้เป็นที่มีผู้อพยพหลบภัยมาอยู่อาศัยและต่อมาเกิดความสงบสุข ไม่มีภัยร้ายเกิดขึ้นอีก ผู้คนพลเมืองก็รวมตัวกันสร้างที่อยู่อาศัย ตลอดจนกำหนดพื้นที่ทำมาหากินเป็นการถาวรขึ้น ความเจริญและการขยายตัวทั้งจำนวนพลเมือง และที่อยู่อาศัยก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น การเรียกชื่อเมืองลี้ตั้งแต่ครั้งพระแม่จามะรีมาตั้งเมืองขึ้นตามตำนาน หรือจะเรียกชื่อเมืองลี้ภายหลัง เมื่อผู้คนได้อพยพหลบลี้หนีภัยมาอยู่ในบริเวณนี้ ชื่อ "เมืองลี้" ก็มีปรากฏในเรื่องราวบันทึกเป็นหลักฐานในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีชื่อเมือง "ลี้" ในแผนที่หรือเส้นทางเดินทัพของกองทัพไทย ที่ต้องผ่านขึ้นไปตีกองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ในสงครามไทย - พม่า ครั้งที่ ๓ ฑ.ศ. ๒๓๓๐ พม่าได้ยกทัพมามีจำนวนพล ประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน และมาล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งสี่ด้าน เป็นแผนการทำสงครามระยะยาว ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จขึ้นไปบัญชาการศึก ดังข้อความเป็นหลักฐานในหนังสือ “ประวัติศาสตร์กรุงรัตน์โกสินทร์ เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๒๕ งานสมโภชกรุงรัตน์โกสินทร์ ๒๐๐ ปี" หน้า ๗๔ ความว่า “สมเด็จพระบวรราชเจ้า เสด็จไปในครั้งนั้นไปประชวรที่เมืองเถิน ไม่สามารถจะเสด็จต่อไปได้จึงมีรับสั่งกับทูตของพระยากาวิละให้กลับไปแจ้งว่า จะทรงแต่กองทัพไปช่วยเหลือให้ได้ พระยากาวิละไม่ต้องวิตก แล้วทรงจัดทัพออกเป็น ๒ ทัพ ให้ทำศึกแข่งขันกันระหว่างกองทัพวังหลวงและกองทัพวังหน้าดังเช่นครั้งก่อน ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ กับพระยายมราชคุมทัพหลวงยก ไปทาง เมืองลี้ ให้กรมขุนสุนทรภูเบศร์ กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต คุมกองทัพวังหน้ายกไปทางเมืองลำปาง .." บันทึกหลักฐานดังกล่าว แสดงว่า ชื่อ “เมืองลี้" มีมาก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้วแน่นอน เมืองลี้สมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะเป็นเมืองหนึ่งที่ขึ้นต่อเมืองลำพูน หรือหริภุญชัย เจ้าผู้ครองเมืองลำพูนได้ตั้งผู้ปกครองเมืองลี้ เรียกว่า "พระยาลี้"
เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวปัทมาภรณ์ จันต๊ะ
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวปัทมาภรณ์ จันต๊ะ