วัดควนแร่

ประวัติ

วัดควนแร่ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับกำแพงเมืองพัทลุงโบราณสถานในสมัยอยุธยา ลักษณะผังเมืองโบราณเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูเมืองและกำแพงเมืองก่ออิฐล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน เขตกำแพงเมืองยาวประมาณ ๒๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๑๒ เมตร ปัจจุบันกลายเป็นซากปรักหักพังเหลือเป็นเพียงเนินกำแพงเตี้ย ๆ ทางทิศเหนือติดกับวัดควนแร่ มีแนวคันดิน ๒ แนว ขนานกันไปทางทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าเป็นแนวคันดินขุดจากคูเมืองขึ้นมาถม ปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้วเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยทางทิศตะวันตกเท่านั้น วัดควนแร่ไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของโบราณสถานคงสร้างสมัยอยุธยา

ลักษณะ

๑. เจดีย์ ก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่หน้าอุโบสถ ปัจจุบันพังทลายลงเหลือเพียงส่วนฐานกว้างประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๕ เมตร สันนิษฐานจากรูปแบบศิลปกรรมน่าจะสร้างขึ้นสมัยอยุธยา

๒. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หล่อด้วยสำริด ขนาดสูงประมาณ ๓๔ เซนติเมตร นายช้อย เพชรกาฬ ขุดพบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกำแพงเมืองโบราณ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

๓. พระพุทธรูปสำริดปางห้ามญาติ ขุดพบในเจดีย์วัดควนแร่ สภาพชำรุด ศิลปะสมัยอยุธยา นอกจากนี้ภายในอุโบสถยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย จำนวน ๓ องค์ สององค์อยู่ด้านซ้ายด้านขวาของพระประธาน เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระเศียรสวมเทริดยอดแหลม ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสมัยรัตนโกสินทร์จำนวน ๓ องค์นำมาจากวัดควนแร่ตก(ร้าง)

การกำหนดอายุสมัย

สมัยอยุธยา, สมัยรัตนโกสินทร์

ที่ตั้ง หมู่ที่ ๑ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง