วัดคลองน้ำเค็ม

ประวัติความเป็นมาวัดคลองน้ำเค็ม

ต่อมา ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2492 ได้ประกาศให้รวมวัดทั้ง 2 เข้าเป็นวัดเดียวกัน ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้าน สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอย่างน้อยประมาณ 100 ปี เนื่องจากมีภาพทหารมีหนวดและใส่หมวกเหมือนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นที่นิยม วาดกันมากช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 – 8 วัดคลองน้ำเค็มได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2540 และได้รับการประกาศ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 และได้รับการบูรณะครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ. 2563 โดยกรมศิลปากร

วัดคลองน้ำเค็มเป็นวัดเก่าแก่มีมาช้านาน เป็นวัดราษฎร์ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ไม่ทราบความเป็นมาที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใดแต่ปรากฏหลักฐานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2419 โดยมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาถึงประวัติความเป็นมาของวัดคลองน้ำเค็ม ว่ามีพระธุดงค์รูปหนึ่งจากทางเหนือมาตั้งกลดขึ้นแถวนี้และเห็นว่าบริเวณนี้มีความเหมาะสมที่จะตั้งเป็นวัด จึงมีการเริ่มสร้างวัดขึ้น โดยเดิมใช้ชื่อว่า “วัดภูเขาทองคลองน้ำเค็ม” เพราะว่าวัดคลองน้ำเค็ม ตั้งอยู่ระหว่างภูเขากับคลองน้ำเค็ม ต่อมา คนก็นิยมเรียกกันว่าวัดคลองน้ำเค็ม พอถึง พ.ศ. 2441 ชาวบ้านคลองน้ำเค็มได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นอีก 1 แห่งทางทิศใต้ของวัดเดิมโดยมีอาณาเขตติดต่อกันและให้ชื่อว่าวัดคลองน้ำเค็มใหม่ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดคลองน้ำเค็มใต้หรือวัดนอกและเรียกวัดเดิมว่าวัดคลองน้ำเค็มเหนือ

อุโบสถหลังเก่าวัดคลองน้ำเค็ม ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองน้ำเค็ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี อุโบสถหลังเก่านี้เคยเป็นอุโบสถของวัดคลองน้ำเค็มเหนือมาก่อน ไม่ปรากฏปีที่ก่อสร้างแน่ชัด อุโบสถหลังเก่ามีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีใบเสมา หินทรายปักอยู่บนพื้นทราย เหนือกรอบประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มโค้งปูนปั้น ภายในซุ้มเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์และลายพรรณพฤกษา หน้าบันอุโบสถฉาบปูนเรียบด้านในเสริมความแข็งแรงด้วยไม้ไผ่สาน หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผาภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิทรงจีวรเรียบบนฐานชุกซีก่ออิฐถือปูน เดิมเคยประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิทรงจีวรลายดอก ซึ่งปัจจุบันย้ายไปประดิษฐานไว้ในอุโบสถหลังใหม่ผนังด้านหลังของพระประธานมีช่องสำหรับบรรจุพระพุทธรูป ผนังภายในทั้งสี่ด้านเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือช่างท้องถิ่น เป็นภาพพุทธประวัติ ด้านล่างช่องหน้าต่างเขียนภาพคนแบก ฝ้าเพดานมีภาพครุฑ นกยูง นาคเกี้ยว รามสูร และเมขลา รูปแบบศิลปกรรมของอุโบสถหลังเก่าวัดคลองน้ำเค็ม เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัซกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะคล้ายกับอุโบสถหลังเก่าวัดเขาน้อย อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี


ข้อมูลที่ตั้งวัดคลองน้ำเค็ม

วัดคลองน้ำเค็ม ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลคลองน้ำเค็ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันมีพระจำวัดอยู่ 1 รูป

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวเมทินี พาหา

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวเมทินี พาหา

แหล่งอ้างอิง โดย กรมศิลปากร/

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=muralssay&month=102019&date=30&group=9&gblog=59