บุญสาทเดือนสิบ

ประเพณีสารทเดือนสิบ

เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ ของประเทศไทย โดยเฉพาะ ชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อ ซึ่งมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรก ที่ตนต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10เพื่อมายังโลกมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรม ของประเพณีสารทเดือนสิบ จะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะนิยมทำบุญกันมากคือ วันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยในส่วนใหญ่แล้ว จะตรงกับเดือนกันยายน

“งานเทศกาลเดือนสิบ” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2466 ที่สนามหน้าเมือง นครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อหาเงินสร้างสโมสรข้าราชการซึ่งชำรุดมากแล้ว โดยในช่วงนั้น พระภัทรนาวิก จำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) ซึ่งเป็นนายกศรีธรรมราชสโมสร และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ร่วมกันจัดงานประจำปีขึ้น พร้อมทั้งมีการออกร้าน และมหรสพต่างๆ โดยมีระยะเวลาในการจัดงาน 3 วัน 3 คืน จนกระทั่ง ถึงปี พ.ศ. 2535 ทางจังหวัดได้ย้ายสถานที่จัดงาน จากสนามหน้าเมืิอง ไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) ซึ่งมีบริเวณกว้าง และได้มีการจัดตกแต่งสถานที่ ไว้อย่างสวยงามการจัดเทศการงานเดือนสิบ ถือเป็นความพยายามของมนุษย์ ที่มุ่งทดแทน พระคุณบรรพบุรุษ แม้ว่าจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยทุกคน ควรต้องยึดถือปฏิบัติ รวมทั้งปลูกฝังให้อนุชนรุ่นหลัง ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อๆไป อย่างน้อย หากมนุษย์ระลึกถึงเรื่องเปรต ก็จะสำนึกถึง บาปบุญคุณโทษ รวมทั้งการแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ที่เป็นหัวใจสำคัญ ในการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างสงบสุข ตลอดไปความเชื่อของพุทธศาสนิกชน ชาวนครศรีธรรมราช เชื่อว่าบรรพบุรุษ อันได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และ ญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความดีไว้ เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไปเกิดในสรวงสวรรค์ แต่หากทำความชั่ว จะตกนรก กลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญ ที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้ในแต่ละปี มายังชีพ ดังนั้น ในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลาย ที่เรียกว่า เปรต จึงถูกปล่อยตัว กลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญ จากลูกหลาน ญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกดังเดิม ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ในวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ โอกาสนี้เองลูกหลาน และผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีวันสารท เป็นวันที่ถือเป็นคติ และเชื่อสืบกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาส ได้กลับมารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ไปให้ญาติในวันนี้ และเชื่อว่า หากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้ว ญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุขอีกประการหนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือนสิบนี้ ได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว กำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญ เพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม่พระโพสพ หรือ ผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก

ความสำคัญของประเพณีสารทเดือนสิบ ของชาวนครศรีธรรมราช

การทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราช ได้ถือปฏิบัติด้วยศรัทธาแต่ดึกดำบรรพ์ โดยถือเป็นคติว่า ปลายเดือนสิบของแต่ละปี เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล เป็นช่วงที่ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่ ยังชีพด้วยการเกษตร ชื่นชมยินดีในพืชของตน ประกอบด้วยเชื่อกันว่า ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลาน ญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์ จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ไปไห้ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้อง ลูกหลาน ที่ล่วงลับไป โดยการจัดอาหารคาวหวาน วางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า “ตั้งเปรต”ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น “การชิงเปรต” ในเวลาต่อมา

กิจกรรม

การทำบุญวันสารทเดือนสิบ หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า วันชิงเปรตนั้น ในเดือนสิบ )กันยายน) มีการทำบุญที่วัด 2 ครั้ง

- ครั้งแรก วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันรับเปรต

- ครั้งที่สอง วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันส่งเปรต

การทำบุญทั้งสองครั้ง เป็นการทำบุญที่แสดงถึง ความกตัญญูต่อบุพการีผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยอุทิศส่วนกุศล ไปให้วิญญาณของบรรพบุรุษที่ตกอยู่ในเปรตภูมิ เป็นคติของศาสนาพราหมณ์ ที่ผสมในประเพณีของพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชน นิยมไปทำบุญ ณ วัดที่เป็นภูมิลำเนาของตน เพื่อร่วมพิธีตั้งเปรต และชิงเปรตอาจสับเปลี่ยนกันไปทำบุญ ณ ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่ง ฝ่ายมารดาครั้งหนึ่ง จึงทำให้ผู้ที่ไปประกอบ อาชีพจากถิ่นห่างไกลจากบ้านเกิด ได้มีโอกาสได้กลับมาพบปะสังสรรค์ และรู้จักวงศาคณาญาติเพิ่มขึ้น

ประเพณีปฏิบัติ

ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะทำขนมที่เรียกว่า กระยาสารท และขนมอื่นๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ในวันงานชาวบ้านจัดแจงนำข้าวปลาอาหารและข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน ทายก ทายิกาไปถือศีล เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล นำข้าวกระยาสารท หรือขนมอื่น ไปฝากซึ่งกันและกัน ยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกล หรือถามข่าวคราวเยี่ยมเยือนกัน บางท้องถิ่นทำขนม สำหรับบูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้ว ก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ

ระยะเวลา

ระยะเวลาของการประกอบพิธีประเพณีสารทเดือนสิบ มีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ แต่วันที่ชาวนครนิยมทำบุญคือ วันแรม 13-15 ค่ำ