เรื่องที่ 2 หลักการเขียนแผนภาพความคิด

แผนภาพความคิด เป็นการแสดงความรู้ความคิด โดยใช้แผนภาพในการนำความรู้หรือข้อเท็จจริงมาจัดเป็นระบบ สร้างเป็นภาพหรือจัดความคิดรวบยอด นำหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาแยกเป็นหัวข้อย่อยและนำมาจัดลำดับเป็นแผนภาพ เช่น เมื่อผู้เรียนอ่านหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือฟังเรื่องใดเรื่องหนึ่งมา ก็นำข้อมูลความรู้เรื่องราวต่าง ๆ มาจัดเป็นแผนภาพความคิด เราอาจใช้แผนภาพความคิดในการเตรียมการอ่าน เตรียมการเขียนใช้พัฒนาความรู้ในการให้เหตุผล ใช้จัดขอบเขตสิ่งที่จะต้องเขียนหรือใช้รวบรวมความรู้ที่ต้องการ

แนวคิดเกี่ยวกับแผนภาพความคิด

1. เราใช้แผนภาพความคิด เมื่อเราพบว่าข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ อยู่กระจัดกระจาย นำข้อมูลต่างๆ นั้นมาเชื่อมโยงเป็นแผนภาพความคิด ทำให้เกิดความเข้าใจเป็นความคิดรวบยอด

2. แผนภาพความคิดจะจัดความคิดให้เป็นระบบ รวบรวมและจัดลำดับข้อเท็จจริง นำมาจัดให้เป็นหมวดหมู่ หรือที่เรียกว่า แผนภาพเป็นความคิดรวบยอดที่ชัดเจนจนเกิดเป็นความรู้ใหม่

3. การนำความคิดหรือข้อเท็จจริงมาเขียนเป็นแผนภาพ จะทำให้จำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นดีกว่าการอ่านตำราหลาย ๆ เรื่อง เพราะหนังสือบรรยายด้วยตัวอักษร แต่แผนภาพจัดเรื่องราวเป็นเครื่องหมาย หรือเป็นภาพ ทำให้จำเรื่องราวได้แม่นยำขึ้น

4. แผนภาพความคิดจะใช้ภาษาผังที่เป็นสัญลักษณ์และคำพูดมาสร้างแผนภาพ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดทำแผนภาพความคิด ผู้เรียนจะต้องอาศัยการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และใช้ความคิดรวบรวมความรู้ ข้อเท็จจริง มาจัดทำแผนภาพเป็นการเสริมแรงการเรียน ทำให้การเรียนรู้มีความหมายมากขึ้น

รูปแบบของแผนภาพความคิด

1. รูปแบบการจัดกลุ่ม

รูปแบบนี้จะยึดความคิดเป็นสำคัญ และจัดกลุ่มตามลำดับความคิดรวบยอด ย่อยเป็นแผนภาพ มักเขียนเป็นแผนภาพนิ่ง

ตัวอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม

2. รูปแบบความคิดรวบยอด

รูปแบบนี้จะมีความคิดหลักและมีข้อเท็จจริงที่จัดแบ่งเป็นระดับชั้นมาสนับสนุนความคิดหลัก เช่น การกล่าวถึงลักษณะการบรรยาย การรวบรวมปัญหาการแก้ปัญหา การเปรียบเทียบเป็นรูปแบบความคิดรวบยอด ดังตัวอย่างต่อไปนี้

3. รูปแบบการจัดลำดับ

รูปแบบการจัดลำดับตามเหตุการณ์ การจัดลำดับตามกาลเวลา การจัดลำดับการกระทำก่อนหลังหรือการจัดลำดับตามกระบวนการ มีการเริ่มต้นและการสิ้นสุด ตัวอย่างแผนภาพเส้นตรงแสดงเหตุการณ์

4. รูปแบบวงกลม

รูปแบบนี้เป็นชุดเหตุการณ์ภายใต้กระบวนการไม่มีจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดแต่เป็นเหตุการณ์ที่เป็นลำดับต่อเนื่องกัน ดังตัวอย่างเช่น

ประโยชน์ของแผนภาพความคิด

1. ช่วยบูรณาการความรู้เดิมกับความรู้ใหม่

2. ช่วยพัฒนาความคิดรวบยอดให้ชัดเจนขึ้น

3. ช่วยเน้นองค์ประกอบลำดับของเรื่อง

4. ช่วยพัฒนาการอ่าน การเขียนและการคิด

5. ช่วยวางแผนในการเขียน และการปรับปรุงการเขียน

6. ช่วยวางแผนการสอนของครู โดยการสอนแบบบูรณาการเนื้อหา

7. ช่วยในการอภิปราย

8. เป็นเครื่องมือประเมินผล

วิธีการสร้างแผนภาพความคิด

การสร้างแผนภาพความคิด หรือการออกแบบแผนภาพความคิดเป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง ผู้สร้างแผนภาพความคิดอาจใช้งานศิลปะเข้ามาช่วย โดยวาดภาพประกอบให้แผนภาพความคิดน่าสนใจและทำให้เห็นภาพของแผนภาพชัดเจนขึ้น การสร้างแผนภาพความคิดจะนำมาใช้ในการทำงานร่วมกันร่วมคิดร่วมทำ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทำให้ผู้เรียนรู้จักการวางแผนงาน การกำหนดงานที่จะต้องปฏิบัติ และเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น

ขั้นตอนการสร้างแผนภาพความคิด

1. กำหนดชื่อเรื่อง หรือความคิดรวบยอดสำคัญ

2. ระดมสมองที่เกี่ยวข้องกับชื่อเรื่อง หรือ ความคิดรวบยอดสำคัญเป็นคำหรือวลีนั้น ๆ แล้วจดบันทึกไว้

3. นำคำหรือวลีที่จดบันทึกที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันมาจัดกลุ่ม แล้วตั้งชื่อกลุ่มคำเป็นหัวข้อย่อยและเรียงลำดับกลุ่มคำ

4. ออกแบบแผนภาพความคิด โดยเขียนชื่อเรื่องไว้กลางหน้ากระดาษ แล้ววางชื่อกลุ่มคำหัวข้อย่อย รอบชื่อเรื่อง นำคำที่สนับสนุนวางรอบชื่อกลุ่มคำ แล้วใช้เส้นโยงกลุ่มคำให้เห็นความสัมพันธ์เส้นโยงอาจเขียนคำอธิบายได้ กลุ่มคำอาจแสดงด้วยภาพประกอบ

สรุป

แผนภาพความคิด เป็นการแสดงความรู้ ความคิดโดยใช้แผนภาพเป็นวิธีการนำความรู้ หรือข้อเท็จจริงมาจัดเป็นระบบสร้างเป็นภาพ หรือจัดความคิดรวบยอดนำหัวข้อเรื่องใด เรื่องหนึ่งมาแยกเป็นข้อย่อย และนำมาจัดลำดับเป็นแผนภาพ

รูปแบบแผนภาพความคิด มี 4 รูปแบบ คือ (1) รูปแบบการจัดกลุ่ม (2) รูปแบบความคิดรวบยอด (3) รูปแบบการจัดลำดับ (4) รูปแบบวงกลม