วัฒนธรรม
ประเพณี ถวายข้าวแช่ แห่หงส์ธงตะขาบ
ประเพณีแห่หงส์ธงตะขาบเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นของชาวไทยมอญมาอย่างช้านาน ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้คงอยู่สืบ
ตั้งอยู่บ้านบ่อคาว หมู่ 8 ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ
วัฒนธรรมอันงดงามของชุมชนมอญ
ที่มาและความสำคัญของประเพณีถวายข้าวแช่ แห่หงส์ ธงตะขาบ
หนึ่งในประเพณีมอญที่น่าสนใจและยังคงได้รับการสืบสานมาจนปัจจุบันคือ “ประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบ” ที่ถือปฏิบัติกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเป็นการนำธงตะขาบที่วิจิตรงดงามไปแขวนไว้ที่ด้านหลังของเสาหงส์หน้าเจดียสถานอันเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ เพื่อแสดงให้ผู้คนทราบว่าบริเวณนั้นเป็นวัดหรือปูชนียสถาน ทั้งยังเป็นการถวายพุทธบูชาด้วยเช่นกัน
ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชนชาติมอญได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยอยู่เป็นระยะ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ตั้งรกรากและประกอบสัมมาชีพเป็นอย่างดี กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ มีการเกณฑ์แรงงานชาวมอญให้ไปช่วยสร้างป้อมปราการที่นครเขื่อนขัณฑ์ รวมทั้งการขุดคลองลัดหลวง เพื่อร่นระยะทางระหว่างพระนครกับปากน้ำ บริเวณนี้จึงเป็นชุมชนใหญ่ของชาวมอญที่มาพร้อมศาสนา ความเชื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีประจำชาติไปโดยปริยาย
ประเพณีการถวายข้าวแช่ เป็นประเพณีที่คนไทยมอญเรียกว่า "เปิงฮุงกราน"คือในเช้าวันสงกรานต์ชาวบ้านจะจัดเตรียมสำรับอาหาร และนำข้าวแช่ใส่ในหม้อดินเผา สาเหตุที่ใช้ภาชนะหม้อดินเผาใส่ข้าวแช่ ก็เพราะจะช่วยทำให้ข้าวแช่เย็นและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน จะมีการหุงข้าวแช่โดยจัดทำรวมกันเป็นหมู่บ้าน ชาวบ้านจะรวมกันออกค่าใช้จ่ายและรวมกันทำข้าวแช่ในที่เดียวกัน เวลานำข้าวแช่ไปถวายพระที่วัดจะจัดเป็นขบวนแห่ เรียกว่า "แห่ข้าวแช่" และจะจัดทำพิธีบูชานางสงกรานต์ที่มอญเรียกว่า "มี๊ซงกรานต์" ด้วยการสร้างศาลเพียงตาหน้าบ้าน นำข้าวแช่พร้อมเครื่องบูชามาวางไว้ จะมีการส่งสำรับข้าวแช่ให้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือด้วยเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ โดยปกติการแห่ข้าวแช่จะทำกันปีละ 2 ครั้งคือในวันสงกรานต์ครั้งหนึ่ง และในวันออกพรรษาอีกครั้งหนึ่ง
ประเพณีการถวายข้าวแช่ เป็นประเพณีที่คนไทยมอญเรียกว่า "เปิงฮุงกราน"
ตำนานการถวายธงตะขาบ
มีตำนานเล่าว่า ณ ดอยสิงคุตต์ เมืองย่างกุ้ง มีตะขาบยักษ์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่และชอบจับช้างมากินเป็นอาหาร จนซากช้างกองสุมเต็มไปหมด วันหนึ่ง มีพ่อค้าจากต่างแดนผ่านมาพบซากช้างนี้ จึงอาศัยจังหวะที่ตะขาบยักษ์ออกไปหากิน คัดเลือกและขนงาช้างลงเรือสำเภาของตนไป เมื่อตะขาบยักษ์กลับมาเห็นก็โกรธมาก จึงไล่ตามพ่อค้านั้นลงไปในทะเล แต่กลับต้องพบกับปูยักษ์เจ้าทะเลขนาดมหึมา เจ้าตะขาบยักษ์สู้ไม่ได้จึงถูกปูยักษ์จับกินเป็นอาหาร ต่อมาในสมัยพุทธกาล ตปุสสะและภัลลิกะ พ่อค้าจากอุกกลชนบท ได้พบกับพระพุทธเจ้าและได้แสดงตนเป็นอุบาสก พระพุทธเจ้าจึงประธานพระเกศาธาตุให้ทั้งสองคน ครั้นเมื่อกลับมาถึงบ้านเมืองของตนแล้ว ก็ได้เสาะหาสถานที่ก่อสร้างเจดีย์บรรจุเกศาธาตุ จนมาสรุปที่ดอยสิงคุตต์ของตะขาบยักษ์ ส่วนเจดีย์นี้ ปัจจุบันก็คือเจดีย์ชเวดากอง และการแขวนธงตะขาบก็เพื่อระลึกถึงตะขาบยักษ์เจ้าถิ่นและบูชาปูชนียสถานด้วยนั่นเอง
"หงส์" เป็นสัญลักษณ์ของรามัญประเทศ มีตำนานที่เล่าขานกันมาดังนี้
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ ๘ ปี ได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในแคว้นต่างๆ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เสด็จมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิม ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นเนินดินกลางทะเล เมื่อน้ำงวดสูงได้ประมาณ ๒๓ วา ครั้งน้ำเปี่ยมฝั่งพอน้ำกระเพื่อม บนเนินดินนั้นมีหงส์ทอง ๒ ตัวเล่นน้ำอยู่ ตัวเมียเกาะอยู่บนหลังตัวผู้ เนื่องจากเนินดินที่ยืนอยู่มีขนาดเล็กเพียงนิดเดียว พอที่หงส์ยืนได้ตัวเดียว ว่ากาลสืบไปภายหน้า เนินดินที่หงส์ทองทั้งสองเล่นน้ำนี้จะกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นมหานครมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง และศาสนาของพระองค์จะเจริญรุ่งเรืองขึ้น ณ ที่นี้
ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ๑๐๐ ปี เนินดินกลางทะเลใหญ่นั้นก็ตื้นเขินขึ้นจนกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ มีพระราชบุตรของพระเจ้าเสนะคงคา ทรงพระนามว่าสมลกุมาร และวิมลกุมาร เป็นผู้รวบรวมไพร่พลตั้งเป็นเมืองขึ้น เป็นอันว่าเมืองหงสาวดี ซึ่งมอญเรียกว่า อองสาแวะตอย ได้เกิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองลงเล่นน้ำอยู่นั่นเอง ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศแต่นั้นมา
"หงส์" เป็นสัญลักษณ์ของรามัญประเทศ
ที่มา: งานโครงการประเพณี ถวายข้าวแช่แห่หงส์ธงตะขาบ วันที่ 13 เมษายน 2566
สถานที่จัดงาน ณ หมู่ 8 บ้านบ่อคาว ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน