หน่วยการเรียนรู้ที่ 2
เรื่อง ธุรกิจคู่บ้าน
แผนการจัดการเรียนรู้ 1
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
รหัสวิชา ง ๓310๒ รายวิชาการงานอาชีพพื้นฐาน ๓ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
หน่วยที่ ๒ เรื่อง ธุรกิจคู่บ้าน เวลา ๔ ชั่วโมง
แผนการจัดการเรียนรู้ที่ เรื่อง ๑ องค์กรธุรกิจ เวลา ๑ ชั่วโมง
องค์กรธุรกิจ หรือกิจการ เป็นองค์การที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการหรือทั้งสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภค ธุรกิจนั้นโดดเด่นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งธุรกิจส่วนมากมีเอกชนเป็นเจ้าของ และบริหารจัดการเพื่อให้ได้กำไร และเพิ่มความมั่งคั่งแก่เจ้าของธุรกิจ ธุรกิจยังอาจเป็นประเภทไม่แสวงหาผลกำไรหรือมีรัฐเป็นเจ้าของก็ได้ ธุรกิจที่มีหลายปัจเจกบุคคลเป็นเจ้าของอาจเรียกว่า บริษัท แม้คำว่า "บริษัท" จะมีความหมายที่เจาะจงกว่านั้น
คำว่า "ธุรกิจ" มีความหมายครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับการค้าอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ
1.ตัวองค์กรการค้า, อุตสาหกรรม หรือบริษัท หรือที่เรียกกันว่า "องค์กรธุรกิจ"
2.กิจกรรมที่เกี่ยวกับการค้า, อาชีพ และอุตสาหกรรม เช่นในคำพูด "ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามสภาพตลาด"
3.ส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เช่น "ธุรกิจเพลง" หรือ "ธุรกิจคอมพิวเตอร์" (ดู อุตสาหกรรม)
รูปแบบองค์กรธุรกิจ
การประกอบธุรกิจการค้าอาจดำเนินการได้หลายรูปแบบ ทั้งโดยบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของกิจการโดยลำพัง หรืออาจดำเนินการโดยร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นเป็นกลุ่มคณะก็ได้ การที่จะตัดสินใจเลือกดำเนินธุรกิจการค้าในรูปแบบใดนั้น ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการด้วยกัน เช่น ลักษณะของกิจการค้า เงินทุน ความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจเป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบธุรกิจนั้นประสบผลสำเร็จนำมาซึ่งผล ประโยชน์และกำไรสูงสุด
ประเภทขององค์การธุรกิจ
การจำแนกธุรกิจตามลักษณะของเจ้าของธุรกิจแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท คือ
1.การประกอบการโดยบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของ (single proprietorship) เป็นการประกอบการขนาดเล็กมีเจ้าของคนเดียวซึ่งบริหารงานเองทั้งหมด จึงเป็นผู้รับกำไรและภาวะขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพียงผู้เดียว
ข้อดีของธุรกิจประเภทเจ้าของคนเดียว
การดำเนินงานกระทำได้รวดเร็ว เป็นอิสระ ทันต่อเหตุการณ์
สามารถสร้างความคุ้นเคยและความเป็นกันเองกับลูกค้าได้ดี
เจ้าของกิจการมีความสนใจที่จะปรับปรุงกิจการของตนเองเป็นพิเศษเพราะผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจะตกเป็นของตนทั้งหมด
ข้อเสียของธุรกิจประเภทเจ้าของคนเดียว
เจ้าของกิจการมักมีทุนจำกัด การขยายกิจการทำได้ยาก เพราะขาดหลักประกันในการกู้ยืม
ความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เป็นเจ้าของกิจการเป็นหลัก หากเจ้าของกิจการขาดความสามารถธุรกิจก็อาจตั้งอยู่ได้ไม่นาน นอกจากนี้ หากเจ้าของกิจการเจ็บป่วยล้มตายกิจการมักล้มเลิกตามไปด้วย เพราะขาดผู้รับช่วงดำเนินงานต่อไป
2.ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ordinary partnership) เป็นการประกอบการที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมทุนกันจัดตั้งขึ้น โดยผู้ถือหุ้นทุกคนต้องรับผิดชอบในหนี้สินทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวน การก่อตั้งอาจจะจดหรือไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ได้ ถ้าจดทะเบียนก็จะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ธุรกิจแบบเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับผู้อื่นทั้งกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนี้ได้รับ ความนิยมแพร่หลายมากกว่าธุรกิจในรูปบริษัท เพราะการจัดตั้งทำได้ง่ายไม่ต้องมีแบบพิธีมากนัก และมักกระทำกันมากในกลุ่มเครือญาติและผู้ใกล้ชิดคุ้นเคยกัน ข้อดีและข้อเสียของธุรกิจแบบนี้ คือ
ข้อดีของห้างหุ้นส่วนสามัญ
สามารถหาเงินทุนขยายกิจการได้ง่ายและมากขึ้น มีเครดิตมากกว่าธุรกิจแบบคนเดียว เป็นเจ้าของ
การเสี่ยงน้อยลง เพราะมีผู้ร่วมเฉลี่ยภาระการเสี่ยง
การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสามารถใช้หลักแบ่งงานกันทำตามความสามารถของผู้ถือหุ้น
ข้อเสียของห้างหุ้นส่วนสามัญ
มีทุนในวงจำกัดน้อยกว่าบริษัท เพราะการก่อตั้งห้างหุ้นส่วนมักกระทำกันเฉพาะในเครือญาติและผู้คุ้นเคยสนิทสนมกันเท่านั้น
หุ้นส่วนเป็นเครือญาติกัน หากเกิดการขัดแย้งบาดหมางขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการ
การเฉลี่ยส่วนกำไร หากมีหุ้นส่วนมากเกินไปผลกำไรที่แต่ละคนได้รับอาจน้อยไม่คุ้ม กับการเสี่ยงหรือความรับผิดชอบ
3.ห้างหุ้นส่วนจำกัด (limited partnership) เป็นการประกอบการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมทุนกันจัดตั้งขึ้น และมีการจดทะเบียนการก่อตั้งเป็นนิติบุคคล โดยมีทั้งผู้ถือหุ้นจำกัดความรับผิดชอบและไม่จำกัด
ความรับผิดชอบ
ผู้ถือหุ้นจำกัดความรับผิดชอบ จะกำหนดจำนวนเงินที่ตนต้องการรับผิดชอบในกรณีที่กิจการขาดทุนหรือมีหนี้สิน ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดความรับผิดชอบเท่ากับมูลค่าหุ้นที่ตนถืออยู่ ผู้ถือหุ้น ประเภทนี้ไม่มีอำนาจการบริหารงานโดยตรง
ผู้ถือหุ้นไม่จำกัดความรับผิดชอบ จะต้องรับภาระขาดทุนหรือหนี้สินของกิจการโดยไม่จำกัดจำนวน จึงมีอำนาจในการบริหารงานโดยตรง
4.บริษัทจำกัด (corporation) เป็นการประกอบการที่มีบุคคลตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปร่วมทุนกัน ก่อตั้งขึ้น โดยผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะรับผิดชอบในหนี้สินจำกัดไม่เกินมูลค่าที่ตนถืออยู่เฉพาะส่วนที่ยัง ชำระค่าหุ้นไม่ครบเท่านั้น บุคคลที่ทำงานในบริษัทไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้น การก่อตั้งต้องจดทะเบียน เป็นนิติบุคคล และเมื่อตั้งขึ้นแล้วจะมีอายุยืนนาน การล้มเลิกกิจการต้องเป็นไปตามข้อตกลงหรือโดยผลแห่งตัวบทกฎหมายเท่านั้น บริษัทจำกัดอาจเป็นกิจการที่ขยายมาจากห้างหุ้นส่วน โดยมีการดำเนินงานที่ขยายกว้างกว่าห้างหุ้นส่วนทั้งในรูปของเงินทุน บุคลากร ฯลฯ ข้อดีและข้อเสียของการดำเนินธุรกิจแบบบริษัทจำกัด คือ
ข้อดีของบริษัทจำกัด
สามารถระดมทุนได้มากกว่าธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียวและแบบห้างหุ้นส่วน จึงสามารถดำเนินกิจการแบบกว้างขวางใหญ่โต เมื่อต้องการขยายกิจการก็สามารถออกหุ้นกู้นำเงินมาใช้จ่ายลงทุนได้
จำกัดความรับผิดชอบทางการเงินของผู้ถือหุ้น กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นผูกพันความ รับผิดชอบจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ยังใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถืออยู่เท่านั้น
มีความมั่นคงกว่าธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียวและแบบห้างหุ้นส่วน การบริหารงานดำเนินโดยคณะกรรมการ เป็นธุรกิจที่มีฐานะมั่นคงและเป็นที่เชื่อถือของวงการธุรกิจทั่วไป
เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจการโดยการซื้อหุ้นประเภทต่างๆ
ข้อเสียของบริษัทจำกัด
บรรดาผู้ถือหุ้นส่วนมากไม่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของบริษัทเพราะมีการตั้งคณะกรรมการเพียงไม่กี่คนเป็นผู้บริหารงานธุรกิจแบบบริษัทจำกัดมักถูกควบคุมและต้องรับภาระการเสียภาษีให้แก่รัฐบาลมากกว่าธุรกิจแบบอื่นทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น
5.สหกรณ์ (co-operative) เป็นการประกอบการที่ตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลที่เป็นสมาชิก ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการผลิต การบริโภค การเงิน และอื่นๆ ผู้เป็นสมาชิก จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับของสหกรณ์ สมาชิกต้องเสียค่าบำรุงเป็นประจำทุกงวด และต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ การก่อตั้งสหกรณ์ต้องจดทะเบียนเป็น นิติบุคคล กรรมการและผู้ดำเนินงานบริหารต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก ซึ่งการดำเนินงานต้องคำนึงถึงผลประโยชน์โดยส่วนรวมของสมาชิกมากกว่าผลกำไร ผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับมิได้ ขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นที่ถือ แต่ขึ้นกับปริมาณการมีส่วนร่วมในกิจการของสหกรณ์ ใครมีส่วนร่วมมากก็ได้รับส่วนแบ่งมาก ใครมีน้อยก็ได้รับส่วนแบ่งน้อย ยกตัวอย่างเช่น หากสมาชิกใช้บริการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ ผลตอบแทนหรือเงินปันผลที่สมาชิกได้รับคืนจะเป็นไปตามสัดส่วนของขนาดธุรกรรม กล่าวคือ ถ้าจำนวนเงินกู้สูง (เสียดอกเบี้ยมาก) ก็จะได้รับเงินปันผลกลับคืนมาก ตรงกันข้าม ถ้ากู้น้อย ก็จะได้รับเงินปันผลน้อยตาม เป็นต้น ความสำเร็จของสหกรณ์จะต้องอาศัยความสามัคคีพร้อมเพรียงของสมาชิกเป็นปัจจัยสำคัญ ข้อดีและข้อเสียของธุรกิจแบบสหกรณ์มีดังนี้
ข้อดีของสหกรณ์
สหกรณ์สามารถรวบรวมเงินทุนได้จำนวนมาก เพราะมีการจัดแบ่งออกเป็นหุ้นๆ และเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มิได้มุ่งหวังกำไร จึงมักได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลและได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ทางด้านภาษีอากรและอื่นๆ
ข้อเสียของสหกรณ์
เป็นธุรกิจที่มิได้หวังผลกำไร ผลตอบแทนแก่สมาชิกผู้ถือหุ้นจึงต่ำมาก แต่จะมีผลตอบแทน ส่วนหนึ่งตามสัดส่วนแห่งกิจการงาน หรือตามค่าที่สมาชิกมีต่อสหกรณ์เรียกว่า patronage dividend ดังนั้นสมาชิกจะไม่ซื้อหุ้นไว้มากเพราะได้รับผลตอบแทนต่ำ
6.รัฐวิสาหกิจ (state enterprise) เป็นการประกอบการที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (รัฐบาลถือหุ้นในกิจการเกินกว่าร้อยละ 50) ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน หรือเป็นกิจการประเภทสาธารณูปโภคซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูง หากปล่อยให้เอกชนผลิตโดยเสรีจะมุ่งหวังกำไรสูงสุด ทำให้ประชาชนต้องบริโภคสินค้าหรือบริการนั้นในระดับราคาที่แพง หรือบริโภคอุปโภคได้ในปริมาณน้อย และการที่กิจการประเภทนี้ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดผลกำไรในระยะสั้นมากกว่า รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนในการผลิต โดยยอมเสนอขายในราคาต่ำและอาจจะขาดทุนบ้าง เพื่อให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตัวอย่างของกิจการประเภทรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้า การประปา การไปรษณีย์โทรเลข องค์การโทรศัพท์ การรถไฟ ฯลฯ