หน่วยการเรียนรู้ที่ 1
การทำงานเพื่อการดำรงชีวิต
ใบความรู้ที่ ๑.๓.๑ เรื่อง ประเภทของธุรกิจและหน้าที่ของธุรกิจ
ประเภทของธุรกิจ
การแบ่งประเภทของธุรกิจตามลักษณะของกิจกรรมที่ธุรกิจกระทำ แบ่งออกได้ ดังนี้
1. ธุรกิจการเกษตร (Agriculture) การประกอบธุรกิจการเกษตร ได้แก่ การทำนา การทำไร่ การทำสวน การทำป่าไม้ การทำปศุสัตว์ การทำประมง การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
2. ธุรกิจอุตสาหกรรม (Manufacturing) การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจผลิตสินค้าเพื่ออุปโภค แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
2.1 อุตสาหกรรมในครัวเรือน จัดเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ใช้แรงงานเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ลงทุนไม่สูงนักส่วนใหญ่เป็นการใช้เวลาว่างจากการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนาทำไร่ ขณะที่รอเก็บเกี่ยวพืชผลก็ใช้เวลาว่างมาทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา อุตสาหกรรมทำเครื่องเขิน อุตสาหกรรม ทำเครื่องจักสาน ฯลฯ
2.2 อุตสาหกรรมโรงงาน เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตสินค้ามีโรงงาน มีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก มีการจ้างแรงงานจากบุคคลภายนอก ได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตพลาสติก ฯลฯ
3. ธุรกิจเหมืองแร่ (Mineral) การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ได้แก่ การทำเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ การขุดเจาะถ่านหิน การขุดเจาะนำทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ มาใช้
4. ธุรกิจการพาณิชย์ (Commercial) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าที่ผลิตจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปสู่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้อุปโภคบริโภคสินค้าตามความต้องการ ได้แก่ ธุรกิจพ่อค้าคนกลาง ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ
5. ธุรกิจการก่อสร้าง (Construction) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ในการนำวัสดุต่าง ๆ ได้แก่ อิฐ หิน ปูน ทราย มาใช้ในการก่อสร้าง เช่น การสร้างถนน สร้างอาคาร สร้างเขื่อน ก่อสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น
6. ธุรกิจการเงิน (Finance) เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ธุรกิจอื่นทำงานได้คล่องตัวขึ้น เนื่องจากในการทำธุรกิจจะต้องเริ่มจากการลงทุน ซึ่งต้องใช้เงินในการลงทุน เช่น นำมาซื้อที่ดิน ปลูกสร้างอาคาร จ้างคนงาน ซื้อวัตถุดิบ ซื้อเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งถือว่าธุรกิจการเงินเป็นแหล่งที่ธุรกิจอื่นสามารถติดต่อในการจัดหาทุนได้ นอกจากนั้นในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศหรือส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ธุรกิจการเงินจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อซื้อขายชำระเงินระหว่างกัน ธุรกิจที่จัดเป็นธุรกิจการเงิน ได้แก่ ธุรกิจประเภทธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทการเงิน
7. ธุรกิจให้บริการ (Service) เป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่ ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจการสื่อสาร ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการโรงแรม ฯลฯ
8. ธุรกิจอื่น ๆ เป็นธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจ อาชีพอิสระต่าง ๆ เช่น วิศวกร แพทย์ สถาปัตย์ ช่างฝีมือ ประติมากรรม ฯลฯ
หน้าที่ในการประกอบธุรกิจ
ธุรกิจทุกประเภท ต่างมีหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับ ความพอใจสูงสุด เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด สามารถบำบัดความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์ หน้าที่ดังกล่าว ได้แก่
1. การผลิต (Production) เป็นกิจกรรมในการแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นสินค้าหรือบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจในการบริโภค กระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการมีหลายขั้นตอน จึงจะได้สินค้าหรือบริการตามที่ผู้บริโภคต้องการ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีความรู้ในการผลิตเป็นอย่างดี จึงจะทำให้ได้สินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพดี มีต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณา ได้แก่
1.1 การเลือกทำเลที่ตั้ง
1.2 การวางผังโรงงาน
1.3 การออกแบบสินค้า
1.4 การกำหนดตารางเวลาการผลิต
1.5 การตรวจสอบสินค้า
2. การจัดหาเงินทุน (Capital) เงินทุนถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีการบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดสรรเงินทุนในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดหาเงินทุนมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีแหล่งเงินทุน 2 แหล่ง ดังนี้
2.1 แหล่งเงินทุนภายใน (Internal Sources) เป็นเงินทุนที่ได้จากเจ้าของกิจการ อันได้แก่เงินที่นำมาลงทุน และจากกำไร
2.2 แหล่งเงินทุนภายนอก (External Sources) เป็นเงินทุนที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายนอกกิจการ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ บรรษัทบริหาร ธุรกิจขนาดย่อย (บอย.) บริษัทประกันภัย เป็นต้น
3. การจัดหาทรัพยากรด้านกำลังคน คนถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากที่สุดในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดหาบุคคลที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับตำแหน่งงาน โดยใช้หลักการ “จัดคนให้เหมาะกับงาน” (Put the right man in the right job) รวมทั้งเมื่อได้บุคลากรที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับงานแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรักษาบุคลากรดังกล่าวให้ปฏิบัติงานอยู่กับองค์กรตลอดไปอย่างมีความสุข ในการจัดหาทรัพยากรด้านกำลังคน ผู้ประกอบธุรกิจควรพิจารณาดังนี้
3.1 การวางแผนกำลังคน ด้านจำนวน คุณภาพและหน้าที่ความรับผิดชอบ
3.2 การสรรหากำลังคน
3.3 การคัดเลือกและการบรรจุ
3.4 การฝึกอบรม
3.5 การประเมินผลการปฏิบัติงาน
4. การบริหารการตลาด เป็นกระบวนการที่ทำให้สินค้าหรือบริการถึงมือผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้บริโภค ซึ่งการบริหารการตลาด ผู้ประกอบธุรกิจต้องอาศัยส่วนผสมทางการตลาด (Marketing mix)หรือเรียกว่า 4 P’s เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจ ได้แก่
4.1 ผลิตภัณฑ์ (Product) คือ สิ่งที่ธุรกิจเสนอขายเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคให้พึงพอใจ ผลิตภัณฑ์อาจจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ ผลิตภัณฑ์จึงประกอบด้วยสินค้า บริการ ความคิด สถานที่ องค์กรหรือบุคคล ซึ่งต้องมีอรรถประโยชน์(Utility) มีมูลค่า (Value) ในสายตาของผู้บริโภคจึงจะขายได้
4.2 ราคา (Price) คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ในรูปตัวเงิน ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดราคาให้เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคได้ ซึ่งการกำหนดราคาขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ กลุ่มตลาดเป้าหมาย การแข่งขัน บทบัญญัติตามกฎหมาย เป็นต้น
4.3 การจัดจำหน่าย (Place) คือ กิจกรรมการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากธุรกิจไปยังตลาดเป้าหมาย ผู้ประกอบธุรกิจ
ต้องเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายให้เหมาะสมกับประเภทของผลิตภัณฑ์ และจะต้องจัดจำหน่ายให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค จึงจะทำให้ผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้
4.4 การส่งเสริมการตลาด (Promotion)และการส่งเสริมการขาย คือ การติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เพื่อสร้างทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะชักจูงให้เกิดการซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องเลือกการส่งเสริมการตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และกลุ่มตลาดเป้าหมาย ซึ่งเครื่องมือในการส่งเสริมการตลาดมีหลายประเภท อาทิเช่น การโฆษณาการให้ส่วนลด การให้ของแถม เป็นต้น
ใบงานที่ ๑.๓.๑ เรื่อง ประเภทของธุรกิจและหน้าที่ของธุรกิจ
ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ให้ถูกต้อง
๑.ประเภทของธุรกิจ คือ
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
๒.หน้าที่ของธุรกิจ คือ
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................
สุดยอดนักธุรกิจ
อาชีพนักธุรกิจ
เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวงการธุรกิจทุกด้านทั้งในวงการภายในและต่างประเทศที่มีส่วนสัมพันธ์กัน ในการดำเนินงานนี้ ผู้ประกอบอาชีพต้องมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะการประกอบธุรกิจประเภทธุรกิจและหน้าที่ต่างๆของธุรกิจ ตลอดจนหน้าที่และความสัมพันธ์ของธุรกิจที่มีต่อกัน รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกิจต้องดำเนินอยู่ด้วยกัน
การประกอบอาชีพนี้ มีสาขาต่างๆ ให้เลือก คือ
1. สาขาการบริหารการเงินและการธนาคาร
ต้องเป็นผู้ชำนาญเรื่องการเงินรวมทั้งการธนาคารด้วย โดยสามารถวิเคราะห์หลักการ ปัญหาต่างๆ ทางการเงินของธุรกิจได้และช่วยนำวิธิการบริหารการเงินให้แก่วงการธุรกิจต่างๆ
2. สาขาการตลาด
มีประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการบริหารการตลาดแบบสมัยใหม่ วิธีบริหารคลังสินค้า วิธีการจัดซื้อหรือบริการ และวิธีการจัดจำหน่าย อันเป็นประโยชน์แก่งานและปัญหารด้านการตลาดขององค์การธุรกิจ
3.สาขาการบริหารทั่วไป
ผู้ประกอบต้องมีความรู้และคุ้นเคยกับปัญหาต่างๆ ในด้านการบริหารทั้งที่เป็นปัญหาทั่วไปและปัญหาเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารในด้านบุคคล แรงงานอุตสาหกรรมสัมพันธ์และการควบคุมแรงงาน
4.สาขาการบริหารบุคคล
สามารถปฏิบัติงานด้านการบริหารบุคคล ในด้านการคัดเลือกพนักงาน การฝึกอบรม การบริหาร ค่าตอบแทน และแรงงานสัมพันธ์
5. สาขาการบริหารอุตสาหการ
มีความสามารถในเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบสำหรับใช้ในการแก้ปัญหา และตัดสินใจ ด้านการบริหารโรงงานอุตสาหกรรม การบริหารกิจการ การบริการโครงการ
6. สาขาพาณิชย์นาวี
มีความสามารถในด้านการบริหารรับสินค้าเข้าและส่งสินค้าออก การบริหารสายเดินเรือ ตลอดจนการประกัยภัยทางทะเล
รู้แค่นี้ ขายดี ทุกอย่าง
6 วิธีเริ่มต้นเป็นนักธุรกิจได้ตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ
1.รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง
2.ค้นหาเส้นทางธุรกิจที่เหมาะกับตัวเอง
3.มองดูตลาดจริงหาคู่แข่งให้เจอ
4.เรียนรู้ที่จะเขียนแผนธุรกิจของตัวเอง
5.ต้องมีคนที่ให้คำปรึกษาคอยเป็นไกด์นำทาง
6.ถ้ามั่นใจว่าชอบว่าใช่ก็ใส่เกียร์เดินหน้าได้เลย
see more at: http://www.thaismescenter.com/6-วิธีเริ่มต้นเป็นนักธุรกิจได้ตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ/
แนวทางการสร้างธุรกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการพอแล้วดี
ที่มา Thai PBS เป็นสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะของไทย วิกิพีเดีย
https://www.youtube.com/watch?v=l3OSujhbZ08
ใบความรู้ที่ ๑.๔.๑ เรื่อง การประกอบธุรกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการบริหารและพัฒนาระดับประเทศตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ และภายหลังเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ พระองค์ทรงเน้นย้ำให้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อให้รอดพ้นและสามารถอยู่ได้อย่างมั้นคงและยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งตนเองได้ ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้
๑. เศรษฐกิจพอเพียงระดับบุคคล คือ ความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่พอประมาณ
๒. เศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศ คือ ความสามารถของชุมชน เมือง รัฐ ประเทศ หรือภูมิภาคอื่น ๆ ในการผลิตสินค้าหรือบริการทุกชนิด เพื่อเลี้ยงบุคคลภายในสังคมนั้น ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยต่าง ๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของ
องค์ประกอบหลักของหลักปรัชญาของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติตนได้ทุกระดับโดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลางและพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
หลักการของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีดังนี้
๑. หลักความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับความพอประมาณ
๒. หลักความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
๓. การมีภูมิคุ้มกันในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
เงื่อนไขในการตัดสินใจและการดำเนินงานต่าง ๆ
ให้อยู่ในระดับความพอเพียงต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ดังนี้
๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรู้ที่เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ และความรอบคอบในการนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาเพื่อประกอบในการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
๒. เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
การประยุกต์นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการประกอบธุรกิจ
การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ควรเริ่มต้นจากการเสริมสร้างให้ผู้ประกอบุรกิจมีการเรียนรู้ทางวิชาการ รวมทั้งหลักการและทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้สามารถบริหารจัดการกับธุรกิจของตนเองให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างเสริมคุณธรรมในการประกอบธุรกิจเพื่อให้การประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จและมีความมั่นคงที่ยั่งยืน ผู้ประกอบธุรกิจควรยึดหลักการปฏิบัติ ดังนี้
๑. ด้านความพอประมาณ
ผู้ประกอบธุรกิจควรมีหลักการดำเนินงาน ดังนี้
- ใช้เทคโนโลยีที่ถูกหลักวิชาการ
- ขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เน้นสร้างกำไรในระยะยาว
- ใช้ทรัพยากรทุกชนิดอย่างประหยัดและคุ้มค่า โดยพิจารณาตั้งแต่การเลือกซื้อสินค้าวัตถุดิบจะต้องไม่มากและไม่น้อยเกินไป
- มีขนาดการผลิตที่สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารและการจัดการ
- เน้นการจ้างแรงงานเป็นหลัก ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี
- เน้นการใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่น และตอบสนองความต้องการในตลาดท้องถิ่นและตลาดภายในประเทศ
๒. ด้านความมีเหตุผล ผู้ประกอบธุรกิจควรมีหลักการดำเนินงาน ดังนี้
- เน้นการบริหารความเสี่ยงต่ำ โดยไม่ก่อหนี้สินจนเกินความสามารถ
- การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆโดยการพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องและคาดหวังถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ
- มีความสามารถในการบริหารและจัดการธุรกิจในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การตลาด การขาย การเงิน การจัดการบุคลากร การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
- มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถของพนักงานอย่างต่อเนื่อง
๓. ด้านการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ผู้ประกอบธุรกิจควรมีหลักการดำเนินงาน ดังนี้
- เตรียมการให้พร้อมที่จะรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ กฎหมาย สภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นต้น
- การสร้างฐานเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจ
- มีการเตรียมความพร้อมในด้านการเงินหรือมีแหล่งเงินทุนสำรองที่สามารถนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน
๔. ด้านเงื่อนไขความรู้ ผู้ประกอบธุรกิจควรมีหลักการดำเนินงาน ดังนี้
- ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาในกระบวนการดำเนินงานธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีความรู้และความสามารถในกระบวนการจัดการธุรกิจ เช่น การตลาด การบัญชี การจัดการบุคคล การจัดการลูกค้าสัมพันธ์
- มีการจัดการด้านองค์ความรู้ ที่สามารถนำมาสร้างนวัตกรรมในการผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ
- มีการตัดสินใจทางธุรกิจด้วยความรอบคอบอย่างระมัดระวัง
๕. ด้านเงื่อนไขคุณธรรม ผู้ประกอบธุรกิจควรมีหลักการดำเนินงาน ดังนี้
- จริยธรรมต่อตนเอง ควรปฏิบัติดังนี้
· ขยัน มีความเพียรพยายามในการทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
· ประหยัด ใช้สิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างทะนุถนอม ไม่ใช่จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย
· ซื่อสัตย์ มีความจริงใจ ปราศจากความรู้สึกลำเอียง
· มีวินัย ยึดมั่นในกฎระเบียบ ข้อบังคับ และข้อปฏิบัติต่อตนเองและสังคม
- จริยธรรมต่อลูกค้า ควรปฏิบัติดังนี้
· ดูแลและบริการลูกค้าอย่างเท่าเทียมกัน
· ปฏิบัติตนต่อลูกค้าอย่างมีน้ำใจ
· ขายสินค้าหรือบริการในราคาที่ยุติธรรม
· ขายสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ
- จริยธรรมต่อคู่แข่ง ควรปฏิบัติดังนี้
· ให้ความร่วมมือในด้านการแข่งขัน
· ไม่ใส่ร้ายคู่แข่ง ไม่ข่มขู่หรือกีดกันคู่แข่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม
- จริยธรรมต่อพนักงาน ควรปฏิบัติดังนี้
· เอาใจใส่ในสวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน
· ให้ความเป็นธรรมและให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน
· ให้ค่าจ้างที่เหมาะสม
· เคารพสิทธิส่วนบุคคลของพนักงาน
- จริยธรรมต่อสังคม ควรปฏิบัติดังนี้
· ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม
· ให้ความร่วมมือกับชุมชนในกิจกรรมที่สร้างสรรค์
· ให้ความสนใจต่อการจ้างงานในชุมชน
- จริยธรรมต่อรัฐ ควรปฏิบัติดังนี้
· ประกอบธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย
· ไม่ติดสินบนกับหน่วยงานราชการ
· ให้ความร่วมมือในการเป็นพลเมืองที่ดี