ความรู้ เรื่อง อินเทอร์เน็ต

ประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ประเทศรัสเซียส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาจึง

ได้รับรู้ว่า เทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศยังล้าหลังกว่าของรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้เกิดการตื่นตัว ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยกระทรวงกลาโหม จึงก่อตั้งหน่วยงานวิจัยชั้นสูงที่ชื่อว่า Advanced Research Projects Agency หรือที่รู้จักกันในนามของ ARPA ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ARPA ได้ให้ทุนแก่มหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา เพื่อการทำวิจัยในหัวข้อเรื่อง เครือข่ายการทำงานร่วมกันของคอมพิวเตอร์แบบแบ่งเวลา (Cooperative network of Time-Shared Computers) หลังจากนั้นอีก ๓ ปี กระทรวงกลาโหมก็ได้สนับสนุนโครงการวิจัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่ชื่อว่า ARPANET จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โครงการ ARPANET ได้เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย ๔ แห่ง เข้าด้วยกัน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เครือข่าย ARPANET ขยายใหญ่ขึ้น และสามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ถึง ๒๓ เครื่อง

จากการศึกษาเรื่องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จนถึงระยะเวลานั้น ผู้พัฒนาเครือข่ายหลายคน เริ่มเห็นปัญหา

ของการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีหลากหลายชนิด และหลากหลายผลิตภัณฑ์ จึงทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในการเชื่อมโยง แนวความคิดที่จะสร้างระบบเปิดจึงเกิดขึ้น กล่าวคือ กำหนดมาตรฐานกลางที่ผลิตภัณฑ์ทุกยี่ห้อสามารถจะเชื่อมโยงเข้าสู่มาตรฐานนี้ได้ แนวคิดในการเชื่อมโยงเครือข่ายเข้าด้วยกัน และเชื่อมโยงในลักษณะวงกว้าง เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ดังนั้น ในปี

พ.ศ. ๒๕๑๕ ผู้พัฒนาเครือข่ายจึงสร้างโปรโตคอลใหม่ และให้ชื่อว่า TCP/IP (Transmission Control Protocol / Internet Protocol) และให้ชื่อเครือข่ายที่เชื่อมโยงโดยใช้โปรโตคอลนี้ว่า อินเทอร์เน็ต หลังจากนั้น โครงการ ARPANET ได้นำโปรโตคอล TCP/IP ไปใช้ การพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ดำเนินการต่อมา ถึงแม้ว่าในช่วงหลัง กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการสนับสนุน และหันกลับไปทำวิจัย และพัฒนาเอง เครือข่ายนี้ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนามาตรฐานต่างๆ เข้ามาใช้ประกอบร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดได้กลายเป็นมาตรฐานการสื่อสารที่ชื่อว่า TCP/IP และใช้ชื่อเครือข่ายว่า อินเทอร์เน็ต (Internet) ต่อมาการบริหาร และดำเนินงานเครือข่าย ได้รับการสนับสนุน จากมูลนิธิการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือที่ใช้ชื่อย่อว่า NSF (National Science Foundation) มีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาบริหารเครือข่ายกลาง ที่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นเข้ามาเชื่อมโยง และได้ดำเนินการ จนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก

สำหรับในประเทศไทย เริ่มเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ทำการเชื่อมโยง เพื่อส่งอิเล็กทรอนิกส์เมลกับประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทำให้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์เมลเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ต่อมาในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เช่าสายวงจรเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ก็ได้มีโครงการที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยขึ้น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนทำให้มีสถาบันออนไลน์กับอินเทอร์เน็ตเป็นกลุ่มแรก ได้แก่

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลับ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์
  • สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

การพัฒนาเครือข่ายจึงเป็นไปตามกระแส การเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบสากล มาตรฐานการเชื่อมโยงเป็นแบบโพรโทคอล TCP/IP ตามมาตรฐานนี้ มีการกำหนดหมายเลขแอดเดรส ให้แก่เครือข่าย และเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีการสร้างเป็นลำดับชั้น เพื่อให้การเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นระบบ แอดเดรสนี้จึงมีชื่อว่า ไอพีแอดเดรส (IP address)

ไอพีแอดเดรสทุกตัว จะต้องได้รับการลงทะเบียน เพื่อจะได้มีหมายเลขไม่ซ้ำกันทั่วโลก การกำหนดแอดเดรสจะเป็นการกำหนดหมายเลข ให้แก่เครือข่าย ผู้ใช้เครือข่ายย่อยในเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต จะเป็นสมาชิกของอินเทอร์เน็ต โดยปริยาย เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ของตน สามารถเชื่อมโยงกับเครื่องอื่นๆ ได้ทั่วโลก ผู้ใช้งานอยู่ที่บ้าน สามารถใช้คอมพิวเตอร์จากบ้าน ต่อผ่านโมเด็ม มาที่เครื่องหลัก หลังจากนั้น ก็จะเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายต่างๆ ได้

นิสิตนักศึกษาซึ่งอยู่ที่บ้าน จะสามารถติดต่อกับอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย หรือติดต่อกับเพื่อนๆ ได้ ทั้งในมหาวิทยาลัย และต่างมหาวิทยาลัย หรือในต่างประเทศ อินเทอร์เน็ตจึงเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนคาดกันว่า ในอนาคต เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะเชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย สามารถเชื่อมโยงได้ทุกมหาวิทยาลัย โดยมีการเชื่อมโยงเข้าสู่อินเทอร์เน็ต ที่เชื่อมโยงกันในประเทศ ซึ่งจัดการโดยหน่วยบริการอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า ISP (Internet Service Provider) หน่วยบริการ ISP จะมีสายเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศเข้าสู่อินเทอร์เน็ต

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยได้เชื่อมโยงกัน โดยมีแกนกลางคือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่ง ชาติ และให้ชื่อเครือข่ายนี้ว่า เครือข่ายไทยสาร (THAISARN - THAI Social / Scientific, Academic and Research Network) การเชื่อมโยงภายในประเทศ ทำให้ทุกเครือข่ายย่อย สามารถเชื่อมโยงเป็นอินเทอร์เน็ตสากลได้

รหัสหมายเลขไอพีประจำเครื่อง

คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่บนเครือข่ายจะมีรหัสหมายเลขประจำเครื่อง รหัสหมายเลขนี้ เรียกว่า ไอพีแอดเดรส (IP address) ตัวเลขไอพีแอดเดรสของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องทั่วโลก จะต้องไม่ซ้ำกัน ตัวเลขนี้จะได้รับการกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ให้แต่ละองค์การนำไปปฏิบัติ โดยผู้ที่จะสร้างเครือข่ายต้องทำการขอหมายเลขประจำเครือข่าย เพื่อกำหนดส่วนขยายต่อ สำหรับแต่ละเครื่องเอาเอง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ขององค์กรหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ สำหรับอิเล็กทรอนิกส์เมล์ของเครือข่ายองค์กร มีหมายเลขไอพีเป็นตัวเลขประจำเครื่อง ขนาด ๓๒ บิต ซึ่งแบ่งเป็น ๔ ฟิลด์ดังตัวอย่างเช่น

11101001 11000110 00000010 01110100

แต่ละฟิลด์จะมี ๘ ชนิด แต่เมื่อเรียกขานรหัสหมายเลขไอพีนี้ จะใช้ตัวเลขฐานสิบ แบ่งเป็น ๔ ชุด โดยมีจุด (.) คั่นระหว่างตัวเลขแต่ละชุด ดังนั้น จากตัวเลข ๓๒ บิต ดังกล่าวเรียกได้เป็น 158.108.2.71

ตัวเลขไบนารี ๓๒ หลัก เป็นตัวเลขที่จดจำได้ยาก แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ใช้เลขเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง เมื่อกำหนดตัวเลข ๔ ฟิลด์ แต่ละฟิลด์จึงมีขนาดได้ตั้งแต่ ๐ ถึง ๒๕๕ เมื่อนำมาเรียงกันแล้ว จะทำให้จำได้ง่ายขึ้น

ใช้ชื่อแทนหมายเลข

เพื่อให้ระบบการเรียกชื่อง่ายขึ้น และการบริหารเครือข่ายทำได้ดี จึงมีการกำหนดชื่อแทนรหัสหมายเลขไอพี การตั้งชื่อสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง ที่อยู่บนเครือข่าย มีระบบที่เป็นมาตรฐานที่กำหนดเป็นลำดับชั้น ชื่อแต่ละชื่อที่กำหนดขึ้น ให้แทนรหัสไอพี เช่น www.nectec.or.th ซึ่งแทนหมายเลข 192.150.251.33 หรือ เครื่อง nwg.nectec.or.th ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ของ NECTEC ใช้รหัส 192.150.251.31 ดังนั้น เครื่องที่ต่ออยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงมีการตั้งชื่อเครื่อง

เพื่อให้รู้จักกันได้ง่ายขึ้น การตั้งชื่อมีการแบ่งเป็นลำดับชั้น ตัวที่อยู่ขวามือสุดคือชื่อย่อประเทศ เช่น th หมายถึง ประเทศไทย ดังนั้น ทุกประเทศที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะมีรหัสชื่อย่อประเทศอยู่ ตัวอย่างรหัสชื่อย่อประเทศแสดงการแบ่งโซนของกลุ่มองค์กรที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และยังแบ่งตามประเภทขององค์กร เพื่อให้ทราบจุดประสงค์ขององค์กรที่ต่ออยู่บนเครือข่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การแบ่งกลุ่มนี้จึงอยู่ในระดับที่ ๒ เช่น กลุ่มธุรกิจการค้า บริษัทเอกชนก็ใช้ co หรือ com กลุ่มสถาบันการศึกษาก็ใช้ edu หรือ ac เป็นต้น

การแบ่งกลุ่มโซน

โซน หมายถึง

  • com หรือ co บริษัทเอกชน
  • edu หรือ ac สถาบันการศึกษา
  • gov หรือ go หน่วยงานรัฐบาล
  • int หรือ in องค์กรระหว่างประเทศ
  • mil หรือ mi องค์กรทางทหาร
  • net หรือ ne องค์กรเครือข่ายคอมพิวเตอร์
  • org หรือ or องค์กรอื่นของรัฐบาล

โดเมนและการบริหารโดเมน

เพื่อให้การเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นไปอย่างมีระบบ จึงมีการกำหนดชื่อองค์กร ซึ่งเป็นชื่อเครือข่ายไว้ในระดับที่ 3 เช่น เครือข่าย 158.108 มีชื่อเครือข่าย kn และจัดเป็น 1 โดเมน เมื่อเรียกชื่อเต็มเป็น ku.ac.th เครือข่ายนี้มีเครือข่ายย่อยได้หลายเครือข่าย เช่น 158.108.1 เป็นเครือข่ายของสำนักบริการคอมพิวเตอร์กลาง 158.108.35 เป็นเครือข่ายของคณะวิศวกรรมศาสตร์ 158.108.18 เป็นเครือข่ายของคณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แต่ละเครือข่ายจะมีชื่อกำกับอีกก็ได้ เช่น cpe.ku.ac.ht และ

sci.ku.ac.th เป็นต้น

ในการบริหารโดเมนภายในจะกระทำโดยองค์กรนั้น ระบบจะมี DNS - Domain Name System เป็นฐานข้อมูล และเป็นระบบการจัดการชื่อคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ ในเครือข่ายการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลนี้ เพื่อจะได้รับส่งข้อมูลได้อย่างถูกต้อง เช่น เมื่อมีเอกสารส่งมาจากต่างประเทศ และมีการจ่าหน้าเป็น cc2.cpe.ku.ac.th ส่วนของ th จะได้รับการตรวจ

สอบก่อน โดยบอกเส้นทางส่งต่อมาที่ประเทศไทย หลังจากนั้น ทางประเทศไทยในส่วนของ ku.ac จะได้รับการดำเนินการบอกเส้นทาง ให้วิ่งมาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็จะดูแลโดเมนคือ เครือข่ายย่อย และระบบเครื่อง ภายในเครือข่าย เพื่อส่งต่อไปยังเครื่องที่กำหนด การบริหารระบบชื่อโดเมนนี้ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อมีการต่อเครื่องเข้าสู่เครือข่าย เครื่องที่ต่อเข้าระบบ จะต้องแจ้งว่า ฐานข้อมูลระบบชื่ออยู่ที่ใด และจะมีการปรับปรุงข้อมูลที่เชื่อมต่อกันเองอย่างอัตโนมัติ

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต

ยุคของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ทำให้การเชื่อมโยงระบบสื่อการเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า หมู่บ้านโลก หรือโลกาภิวัตน์ ในบรรดาระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายใช้กันอยู่นี้ โปรโตคอลที่ได้รับการยอมรับว่า มีบทบาทสูงมาก ในขณะนี้คือ TCP/IP ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

TCP เป็นตัวย่อมาจาก Transmission Control Protocol ส่วน IP เป็นตัวย่อมาจาก Internet Protocol ทั้งสองโปรโตคอลนี้ เป็นโพรโทคอลที่ใช้ร่วมกัน และมีความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้งานเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในงานด้านต่างๆ

IP เป็นโพรโทคอลที่ทำงานในระดับชั้นเน็ตเวิร์ก โพรโทคอลในระดับนี้ทำงาน เพื่อหาเส้นทางการนำส่งข้อมูลในเครือข่าย ลักษณ์ของ IP เป็นการนำเอาข้อมูลใส่เป็นแพ็กเก็ต แล้วส่งไปยังแอดเดรสปลายทางที่ต้องการ ระบบการส่งแพ็กเก็ตข้อมูลนี้ มีรูปแบบการส่งเหมือนบุรุษไปรษณีย์ส่งจดหมาย เราจึงเรียกแพ็กเก็ต IP ว่า เดทาแกรม สถานีรับส่งบนเครือข่ายจะมีแอดเดรสที่ชัดเจน

TCP เป็นโพรโทคอลที่ทำงานในระดับชั้นที่ ๔ ที่เรียกว่า ชั้นทรานสปอร์ต ระดับชั้นนี้ ทำให้สถานีรับส่งแต่ละสถานี รับข้อมูลจากหลายงาน วิ่งรวมเข้าไปด้วยกันได้ เช่น สถานีบริการแห่งหนึ่ง เปิดโปรแกรมให้เครื่องขอใช้บริการเชื่อมโยงมาเรียกดูข้อมูลได้หลายๆ เครื่องพร้อมกัน จะทำให้สองสถานีที่เชื่อมโยงสื่อสารถึงกัน สามารถแบ่งสายการทำงานในแต่ละโปรแกรมประยุกต์ได้ถูกต้อง โดยใช้เครื่องหมายเลขสถานีเป็นตัวกำหนด

ตัวอย่างเช่น สถานี A เป็นสถานีขอรับบริการ ติดต่อไปยังตัวให้บริการ X สถานี B ก็เป็นสถานีขอใช้บริการติดต่อไปยังตัวให้บริการ X เช่นกัน สถานี B อาจเชื่อมต่อไปยังสถานี X มากกว่าหนึ่งช่องสื่อสารก็ได้

การสื่อสารด้วย TCP/IP มีข้อเด่นคือ เป็นการสื่อสารอยู่บนโพรโทคอลในระดับ ๒ และ ๑ ซึ่งเป็นชั้นเดทาลิงก์ และฟิสิคัลลิงก์ ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายอะไรก็ได้ จึงทำให้ TCP/IP เป็นโพรโทคอลที่ไม่ขึ้นกับวิธีการเชื่อมต่อในระดับล่าง TCP/IP จึงใช้ได้กับเครือข่ายแบบอีเทอร์เน็ต โทแกนริง เอทีเอ็ม x.25 เฟรมรีเลย์ ฯลฯ หรือแม้แต่การเชื่อมโยงแบบจุดไปจุดด้วยสายสื่อสารตรง

การนำข้อมูลวิ่งผ่านไปบนเครือข่ายนั้น TCP/IP เป็นระบบที่ไม่ขึ้นกับฮาร์ดแวร์ จึงก่อให้เกิดการประยุกต์ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง มีผู้พัฒนาการประยุกต์ใช้งานบนเครือข่ายแบบ TCP/IP กันมาก TCP/IP จึงเป็นโพรโทคอลที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในเรื่องอินเทอร์เน็ต ที่วิ่งอยู่บนโพรโทคอลนี้ และกำลังนำมาใช้ในองค์กรในรูปแบบเครือข่ายภายใน ที่เรียกว่า อินทราเน็ต

TCP/IP พัฒนาขึ้นมา เพื่อรองรับการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย หรือกล่าวได้ว่า เป็นเครือข่ายของเครือข่าย ดังเช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครือข่ายของเครือข่ายย่อยหลายหมื่นหลายแสนเครือข่าย TCP/IP จึงเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้หลายสิบล้านคนบนอินเทอร์เน็ต และมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ TCP/IP จึงได้รับความสนใจจากผู้ผลิตทุกราย และเป็นผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ที่ให้การเชื่อมโยงกันได้

การเชื่อมโยงแบบ TCP/IP มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้การเชื่อมโยงระหว่างต้นทาง และปลายทาง ทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีการทำงาน แบบไคลแอนต์ และเซิร์ฟเวอร์ได้ กล่าวคือ ด้านหนึ่ง เป็นผู้ขอให้บริการ และอีกด้านหนึ่ง เป็นผู้ให้บริการ การทำงานร่วมกันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างยี่ห้อ หรือต่างผู้ผลิตสามารถใช้งานร่วมกันได้

เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น จึงมีผู้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้เรียกใช้งานแบบกราฟิก เราเรียกระบบการเชื่อมโยงกับผู้ใช้แบบนี้ว่า ระบบกราฟิคัลยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ กราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟซจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่เข้ามามีบทบาทตอบสนองความต้องการ ดังจะเห็นได้จากโปรแกรมวินโดวส์ ซึ่งเป็นโปรแกรมหนึ่ง ที่มียูสเซอร์อินเทอร์เฟซที่ดี และใช้งานง่าย ผู้ใช้ส่วนใหญ่จึงมีความรู้จักคุ้นเคย โปรแกรมประยุกต์ต่างๆ จึงหันเข้าสู่การประยุกต์ใช้งานบนสิ่งแวดล้อมของวินโดวส์ โปรแกรมใช้งานในยุคต่อไป จึงเป็นแบบกราฟิคัลยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ

ขณะเดียวกันผู้ใช้งานบนอินเทอร์เน็ตที่ใช้ TCP/IP เพื่องานต่างๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์เมล การโอนย้ายแฟ้มข้อมูล การเรียกค้นข้อมูล การเรียกเข้าหาระบบ การอ่านข่าวบนกระดานข่าว เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการประยุกต์ ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ โดยการติดต่อเข้าหาเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมต่อบนเครือข่าย อีกทั้งการใช้งานเป็นแบบกราฟิคัลยูสเซอร์อินเทอร์เฟซ ดังนั้น ผู้ใช้จึงใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ง่าย

นอกจากนี้ พีซีที่ใช้งานส่วนใหญ่มีโปรแกรมวินโดวส์ และเชื่อมต่อบนเครือข่ายได้อยู่แล้ว จึง สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ง่าย อีกทั้งการขยายตัวของผู้ใช้ที่ต่อเชื่อมโยงเครือข่ายส่วนใหญ่ จะใช้พีซีต่อเข้าระบบ ซึ่งพีซีส่วนใหญ่ทำงานทางด้านกราฟิกได้ดี และมีระดับความสามารถเชิงการประมวลผลเฉพาะตัวได้มาก ด้วยเหตุนี้ พีซี ส่วนใหญ่จึงได้ซอฟต์แวร์ TCP/IP ร่วมอยู่ด้วย และเชื่อมโยงใช้งาน ด้วยระบบกราฟิคัลยูสเซอร์ อินเทอร์เฟซ

บริการบนอินเทอร์เน็ต

การใช้หลักการแบบไคแอนต์-เซิร์ฟเวอร์ ทำให้อินเทอร์เน็ต มีการให้บริการต่างๆ มากมาย ผู้ใช้บริการสามารถเรียกใช้บริการเหล่านี้ จากระยะไกลได้ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเครือข่าย ที่ไม่ขึ้นกับระยะทาง แม้ว่าผู้ใช้บริการจะอยู่คนละซีกโลก ก็เหมือนอยู่ใกล้กัน และมีระบบการทำงานเป็นแบบโลกาภิวัฒน์ คือ สามารถติดต่อถึงกันได้ทั่วโลก

การให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันมากในขณะนี้ประกอบด้วย

การบริการอิเล็กทรอนิกส์เมล์

ผู้ใช้แต่ละคนที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ต จะได้รับบัญชีรายชื่อของตนเอง และมีที่เก็บอิเล็กทรอนิกส์เมล์ไว้ที่เครื่องบริการ เครื่องบริการจะเปิดตู้จดหมายให้ผู้ใช้บริการที่เรียกว่า เมล์บ็อกซ์ เมื่อมีผู้ส่งจดหมายมา จดหมายจะถูกเก็บไว้ที่สถานีบริการที่ผู้ใช้มีเมล์บ็อกซ์อยู่ เมล์บ็อกซ์นี้จะเก็บจดหมายเอาไว้ รอจนกระทั่งผู้เป็นเจ้าของเมล์บ็อกซ์มาขอให้บริการเซิร์ฟเวอร์ และเปิดตู้จดหมายหรือเมล์บ็อกซ์ เพื่อนำจดหมายออกไปอ่าน ในทำนองเดียวกัน ถ้าต้องการส่งจดหมาย ก็เขียนจดหมาย แล้วฝากสถานีนำส่งให้ สถานีบริการก็จะหาเส้นทางและส่งไปจนถึงปลายทางและไปเก็บไว้ในตู้จดหมายของผู้รับปลายทาง การรับส่งจดหมายจะกระทำอย่างอัตโนมัติบนเครือข่าย และกระทำอย่างรวดเร็ว

การบริการโอนย้ายแฟ้มข้อมูล

การบริการโอนย้ายแฟ้มข้อมูลเรียกว่า FTP คำว่า FTP มาจากคำว่า File Transfer Protocol การให้บริการนี้หมายถึง สถานีบริการ FTP อาจเป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ที่มีการนำข้อมูลมาเก็บไว้ ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นเอกสาร หรือแฟ้มข้อมูลอื่นใดก็ได้ สถานีบริการนี้จะดูแลแฟ้ม และให้บริการผู้เรียกใช้ ผู้เรียกใช้จากที่ห่างไกลบนเครือข่ายสามารถติดต่อเข้าไป เพื่อขอคัดลอกแฟ้มที่ต้องการมาใช้งานได้

การโอนย้ายข้อมูลด้วย FTP นี้ ยังสามารถนำข้อมูลของผู้ใช้ที่มีอยู่โอนย้ายไปให้ผู้อื่น หรือนำไปไว้ในเครื่องบริการ ที่ต่ออยู่บนอินเทอร์เน็ตที่อื่น ซึ่งผู้ใช้มีสิทธิในการใช้

ข่าวในความหมายนี้คือ การสร้างกระดานข่าวไว้ในสถานีบริการ โดยให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้ามาเปิดดูข่าวสารได้ กลุ่มข่าวนี้เป็นเหมือนกระดานที่ใครมีข่าวก็นำมาติดไว้ โดยมีการแยกข่าวออกเป็นกลุ่มต่างๆ ปัจจุบันมีกลุ่มข่าวประมาณ ๑๐,๐๐๐ กลุ่ม เช่น กลุ่มข่าวเกี่ยวกับคนไทย และเมืองไทย (soc.culture.thai) ใครมีข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยก็นำมาติดไว้บนกระดานนี้ได้ ส่วนของสถานีบริการข่าวที่มีทั่วโลก ก็จะกระจายข่าวถึงกันเองอย่างอัตโนมัติ เช่น ที่องค์กรของเรา มีสถานีบริการข่าวนี้ สมาชิกองค์กรอ่านข่าวได้ โดยการขอให้บริการจากเครื่องนี้ แต่เมื่อมีการเสนอข่าวลงบนกระดานข่าว เราก็กระจายข่าวที่บรรจุใหม่จากเซิร์ฟเวอร์ต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ทั่วโลก การให้บริการข่าวนี้เชื่อมโยงกันทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อมีใครเสนอข่าวในเครือข่าย ข่าวนั้นจะกระจายออกไปทั่วทุกสถานีบริการข่าวบนอินเทอร์เน็ต เซิร์ฟเวอร์ทุกตัวบนอินเทอร์เน็ตจะรับส่งข่าวสารกันเองอย่างอัตโนมัติ

สถานีบริการ IRC

IRC มาจากคำว่า Internet Relay Chat คือ สถานีบริการเพื่อเชื่อมโยงผู้ใช้บริการจำนวนมากให้เข้ามาพูดคุย หรือถกปัญหาพร้อมกันได้หลายคน สถานีบริการ IRC ทำให้ผู้ใช้ที่อยู่ห่างไกลกัน สามารถทำงาน เสมือนนั่งประชุมอยู่บนโต๊ะกลมตัวเดียวกัน การพูดคุยสนทนาในกลุ่มมีลักษณะเป็นการป้อนข้อความ ข้อความที่ป้อน จะไปปรากฏบนหน้าจอของผู้ใช้บริการทุกคน ที่อยู่ในวงสนทนาเดียวกัน

WAIS - Wide Area Information Service

บริษัทชั้นนำทางคอมพิวเตอร์หลายบริษัทได้ร่วมกันพัฒนาระบบ WAIS และนำออกมาใช้ประโยชน์บนอินเทอร์เน็ต ลักษณะของ WAIS เป็นการรวมศูนย์ข้อมูลที่อยู่บนเครือข่ายจำนวนมากเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกในการค้นหาข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากว่า บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีฐานข้อมูลหลายแห่งกระจัดกระจาย หากผู้ค้นข้อมูลต้องแยกค้นไปยังฐานข้อมูลต่างๆ จะทำให้ไม่สะดวก การดำเนินการของ WAIS จึงเป็นการทำให้ผู้ใช้เห็นฐานข้อมูลแห่งเดียว และเมื่อต้องการได้ข้อมูลที่ใด ก็จะเข้าไปค้นยังฐานข้อมูลนี้โดยอัตโนมัติ การใช้งาน WAIS บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องที่สะดวก ปัจจุบันมี WAIS ให้เรียกค้นหลายที่ เช่น บนเครื่อง think.com นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาให้เรียกค้นด้วยระบบยูสเซอร์อินเทอร์เฟสได้หลายแบบตามลักษณะเครื่องไคลแอนต์ของผู้ใช้งานซึ่งกำลังใช้งานอยู่

อาร์ชี (Archie)

ปัญหาในเรื่องของการเก็บแฟ้มข้อมูลไว้บนเครื่องต่างๆ ที่อยู่บนเครื่องข่ายอินเทอร์เน็ตมีเป็นจำนวนมากคือ ผู้ใช้ไม่สามารถเรียกค้นข้อมูลได้ว่า อยู่ที่เครื่องใดบ้าง อาร์ชีเป็นระบบที่พัฒนาขึ้น โดยสร้างระบบการเรียกค้นข้อมูล ได้ทั้งแบบออฟไลน์ และแบบออนไลน์ โดยเน้นการค้นหาฐานข้อมูล ที่จะให้เข้าไปคัดลอกด้วย FTP ได้ สถาปัตยกรรมของอาร์ชีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แสดงให้เห็นดังรูป

ผู้ใช้จะใช้อาร์ชีเป็นเครื่องไคลแอนต์ เรียกเข้าไปยังเครื่องบริการอาร์ชี เพื่อค้นหาข้อมูลที่ตนเองต้องการว่า เก็บไว้ที่สถานที่ใด โดยปกติการเก็บข้อมูลจะกระจัดกระจาย แต่รวบรวมชื่อไฟล์และสถานที่เก็บไว้ จึงทำให้ผู้ใช้เรียกค้นได้ เสมือนเป็นการเปิดไดเร็กทอรีดูก่อนว่า ข้อมูลที่ต้องการอยู่ที่ใด จากนั้นจึงเรียกค้นไปยังสถานที่ที่ต้องการ เพื่อทำการคัดลอกด้วย FTP ต่อไป

โกเฟอร์ (Gopher)

โกเฟอร์เป็นระบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมินเนโซต้า เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลเป็นลำดับขั้น ตามเมนูที่กำหนด ฐานข้อมูลที่จะเรียกค้น เป็นฐานข้อมูลแบบกระจายที่เชื่อมต่อกัน การเรียกจากเมนู ทำให้การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นลำดับ ฐานข้อมูลแต่ละเครื่องบนเครือข่ายจะเชื่อมต่อเข้าหากัน เช่น ถ้าจะเรียกข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ก็เชื่อมต่อมาที่เครื่องหลักเครื่องใดเครื่องหนึ่งในประเทศ จากนั้นจะกระจายไปยังฐานข้อมูล และคิดว่า ข้อมูลของตน จะเป็นประโยชน์ ก็สามารถสร้างระบบเชื่อมโยงเข้าสู่โกเฟอร์ เพื่อให้ผู้อื่นเรียกใช้ได้

ระบบโกเฟอร์มีจุดอ่อนที่เป็นการเรียกค้นข้อมูลแบบเอกสาร จึงทำให้ความนิยมลดลงไปมาก ทั้งนี้เพราะระบบบริการข้อมูลข่าวสารแบบใหม่ สามารถให้บริการได้ทั้งรูปภาพ เสียง และภาคเคลื่อนไหวที่ดีกว่า

ระบบข่าวสารเวิลด์ไวด์เว็บ (WWW)

ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๔ มีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข่าวสารแบบไฮเปอร์เทกซ์บนเครือข่าย ส่วนของไฮเปอร์เทกซ์เป็นเอกสาร ที่เชื่อมโยงกันได้ทั่วทั้งเครือข่าย จึงเรียกระบบสารเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารนี้ว่า WWW (World Wide Web) ระบบข่าวสาร WWW เป็นระบบข่าวสารที่มีประโยชน์มาก มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง และเป็นที่นิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

หากย้อนกลับไปในอดีต ความคิดในเรื่องไฮเปอร์เท็กซ์มีมานานแล้ว โดยเฉพาะในสมัยที่บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ สร้างเครื่องแมคอินทอช และระบบกราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟส (GUI) บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้สร้างรูปแบบของการเก็บข้อมูลแบบไฮเปอร์เท็กซ์ไว้ ระบบการเก็บข้อมูลแบบไฮเปอร์เท็กซ์ จึงเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้ใช้เครื่องแอปเปิลแมคอินทอช

เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลาย ความคิดในการทำไฮเปอร์เท็กซ์มาประยุกต์บนเครือข่าย ก็เริ่มเป็นรูปร่าง โดยมีการพัฒนากลไกขึ้นมา ๓ ส่วน ส่วนแรกคือ ตัวเนื้อหา หรือข้อมูล ซึ่งก็คือ ตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่รวมรูปภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวไว้ หรือมีลักษณะเป็นแบบมัลติมีเดีย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์นี้มีลักษณะเฉพาะตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเน้นการผลิตตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่แยกออกไป การจัดรูปแบบหนังสือใช้มาตรฐาน HTML ส่วนที่สองคือ ส่วนจัดการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมโยงบนเครือข่าย ซึ่งได้มีการกำหนดโปรโตคอลพิเศษ สำหรับการเชื่อมโยงบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เรียกว่า โปรโตคอล http (hypertext transfer protocol) โปรโตคอลนี้มีลักษณะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่สามคือ เครื่องเปิดอ่านหนังสือ หรือที่เรียกว่า บราวเซอร์ (browser) เครื่องเปิดอ่านหนังสือจะเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายตามโปตโตคอลที่กำหนด และเชื่อมโยงเพื่อนำข้อมูลหนังสือ (ไฮเปอร์เท็กซ์) มาแสดงผลบราวเซอร์สามารถแสดงผลแบบมัลติมีเดียได้ เมื่อรวมทั้ง ๓ ส่วนนี้เข้าด้วยกัน จึงกลายมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากมาย เราเรียกระบบข่าวสารที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายว่า เวิลด์ไวด์เว็บ (WWW)

HTML เป็นคำย่อมาจาก HyperText Markup Language เป็นมาตรฐานสำหรับไฮเปอร์เท็กซ์ที่ใช้ใน www มาตรฐานนี้ทำให้ผู้สร้างไฮเปอร์เท็กซ์สามารถสร้างเองได้ง่าย โดยสร้างข้อมูลเป็นแฟ้มเอกสาร และใช้ตัวกำหนดเอกสารที่เรียกว่า แท็ก (tag) แท็กที่ใช้มีรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย การใส่แท็กก็เหมือนกับการกำหนดขนาดตัวอักษรในเวิร์ดโปรเซสเซอร์สมัยแรกๆ HTML เป็นมาตรฐานที่พัฒนากันขึ้นมาใช้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และมีผู้นิยมใช้กันมาก จนปัจจุบันโฮมเพจของแต่ละแห่ง ที่ปรากฏบน www เขียนโดยใช้มาตรฐาน HTML ข้อดีของ HTML คือ สามารถเชื่อมโยงข้อความ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว และสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเชื่อมโยงแฟ้มไฮเปอร์เท็กซ์จากที่ห่างไกลบนเครือข่ายได้อีกด้วย

HTTP เป็นโปรโตคอลการเชื่อมโยงไฮเปอร์เท็กซ์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โปรโตคอลนี้ทำงานอยู่บน TCP/IP เพื่อเชื่อมต่อไปยังปลายทางที่ต้องการ การเชื่อมโยงเข้าหาเอกสารจะดำเนินการอย่างอัตโนมัติ ซึ่งจะติดต่อกันระหว่างเครื่องและเครื่อง เพื่อรับส่งข้อมูล การรับส่งข้อมูลจะรับและส่งได้ทั้งแฟ้มที่เป็นข้อความ รูปภาพ หรือเสียง พื้นฐานการทำงานภายในโปรโตคอลนี้ยังคงใช้หลักการคัดลอกแฟ้มข้อมูล การโต้ตอบกันจะกระทำได้อย่างมีระบบ การเชื่อมต่อด้วยโปรโตคอลนี้จึงให้การเชื่อมโยงหรือเรียกเอกสารที่อยู่ห่างไกลเชื่อมโยงกันเสมือนเป็นเอกสารชิ้นเดียวกันได้ รูปแบบการใช้จึงต้องกำหนดตำแหน่งหลายทาง เช่น http://www.nectec.or.th

บราวเซอร์ เป็นโปรแกรมที่ใช้อ่านข้อมูลไฮเปอร์เท็กซ์ตามมาตรฐาน HTML บราวเซอร์อ่านข้อมูลไฮเปอร์เท็กซ์ เพื่อแสดงผล ข้อมูลที่อ่านได้นำมารวมกันเสมือนเป็นเครื่องเปิดหนังสือ และนำแฟ้มต่างๆ มารวมกันเป็นภาพ ซึ่งมีทั้งแฟ้มรูปภาพ เสียง และวิดีโอ การรวมแฟ้มให้ปรากฏบนจอภาพ จึงได้ผลลัพธ์เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นวิธีการผลิต ที่ไม่ต้องใช้กระดาษ และสามารถผลิตได้ง่าย ผู้ออกแบบจึงต้องทำให้บราวเซอร์สามารถใช้งานได้ง่าย โดยเป็นโปรแกรมที่ประยุกต์ใช้กับการเรียกใช้เปิดอ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เมล์ ใช้สำหรับการคัดลอกข้อมูลแบบ FTP ใช้ในการอ่านข่าวยูสเน็ตนิวส์

องค์กรแต่ละองค์กรมีสถานีบริการ สำหรับให้ข่าวสาร การเขียนข่าวสารเก็บไว้ในสถานีบริการ จึงแพร่ขยายเชื่อมโยงกันทั่วโลก ข้อมูลข่าวสารถูกเก็บอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า โฮมเพจ โฮมเพจจึงเป็นเสมือนบ้านในอินเทอร์เน็ต ที่เก็บข่าวสารเอาไว้ เพื่อให้บริการผู้เรียกใช้ ซึ่งเป็นผู้ใดก็ได้ ผู้เขียนโฮมเพจของแต่ละหน่วยงาน มักเขียนให้มีการเชื่อมโยงไปยังที่อื่น เพื่อโยงเอกสารข้อมูลต่างๆ ออกไป เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้กระจายออกไปได้ โดยไม่รู้จบ การเชื่อมโยงเหล่านี้ จึงเป็นเสมือนเส้นทางที่สลับซับซ้อนกระจายออกไปได้มาก เช่น จากโฮมเพจ www.nectec.or.th มีจุดเชื่อมโยงไปยังที่ต่างๆ อีกมากมาย

ด้วยวิธีการเชื่อมโยงบน www จึงเป็นหนทาง ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ได้อย่างต่อเนื่อง เสมือนแหล่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายทั้งหมด เป็นของผู้ใช้ ที่จะเรียกค้นดูได้

การค้นข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

เนื่องจากมีแหล่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงบนเครือข่าย www อยู่มากมาย จนยากที่จะหาสิ่งที่ต้องการได้ว่า อยู่ในโฮมเพจใด จึงต้องใช้เครื่องมือช่วยค้น เครื่องมือช่วยค้นเป็นซอฟต์แวร์ ที่ให้บริการบนสถานีบริการต่างๆ เช่น สถานีบริการ www.bdg.co.th สามารถให้ผู้ใช้ใส่คำสำคัญ ที่ต้องการค้นหา หรือค้นหาตามรายการ ที่กำหนดให้ เครื่องมือช่วยค้นหามีหลายแห่ง การสร้างห้องสมุดเทียมบนเครือข่าย ทำให้สามารถเรียกค้นข้อมูลได้ง่าย และช่วยในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้มาก

ที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=25&chap=6&page=chap6.htm