อำเภอพรหมพิราม 

จังหวัดพิษณุโลก

          สำหรับการสืบสานวัฒนธรรมเรือนพื้นถิ่นโบราณในจังหวัดพิษณุโลกนั้น มุ่งเน้นทำการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของกลุ่มไทยถิ่น ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างหนาแน่นโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โดยการดำเนินโครงการครั้งนี้ ใช้วิธี Vernadoc ได้กำหนดให้ หมู่บ้านไผ่ขอน้ำ ตำบลมะตูม อำเภอพรหมพิราม เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ดั้งเดิม และยังคงมีสภาพของภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นดั้งเดิมที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากพอที่จะทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมโดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อตะหนักถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นโบราณ

        เชื่อกันว่าเมืองพรหมพิรามเป็นเมืองเก่าแก่โดยมี “เมืองศรีภิรมย์” อยู่คู่กันมาก่อน โดยเมืองพรหมพิรามเก่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณบ้านหางไหล ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันตก ส่วนเมืองศรีภิรมย์อยู่บริเวณบ้านหนองตม แต่ รศ.ดร.จิราภรณ์ สถาปวรรธนะ แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าใจว่าที่ตั้งของเมืองอาจอยู่บริเวณบ้านตลุกเทียมในปัจจุบัน เพราะยังปรากฏซากกำแพงเมืองเก่า ซากเนินดิน คันดิน ที่น่าจะเป็นเส้นทางเดิม 

พรหมพิราม มีความหมายว่า เมืองที่งดงาม ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระพรหม หรือพระเจ้าผู้สร้างโลก  ในอดีตดั้งเดิม อำเภอพรหมพิรามได้ถูกเรียกกันว่า “เมืองพรหมพิราม” โดยศูนย์กลางของเมืองได้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ตำบลมะตูม  ต่อมา ได้ยกฐานะเป็นอำเภอ ชื่อว่า “พรหมพิราม”เมื่อปี พ.ศ. 2438 และได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอมาตั้งอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน ณ บ้านย่านขาด เมื่อประมาณ 50 ปี เศษ ต่อมา เมื่อรัฐบาลในสมัยนั้นได้สร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือกรุงเทพฯ –เชียงใหม่ ขึ้น จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งอยู่ใกล้ทางรถไฟ ณ บ้านกรับพวงกลาง ตำบลพรหมพิราม โดยอยู่ห่างจากสถานีรถไฟเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร

ในปี  พ.ศ.  2515  กรมศิลปากร  ได้สำรวจพบแนวกำแพงดิน  คูเมือง  ฐานเจดีย์ก่ออิฐและโบราณวัตถุ  คือ  เครื่องสังคโลก  ศิลปะสมัยสุโขทัย  ในบริเวณแนวถนนพระร่วงจากสุโขทัย  ผ่านบ้านท่างาม  บ้านท่าทอง  ตำบลศรีภิรมย์  บ้านท้องโพลง  หรือท้องพระโรง  ตำบลบ้านทับยายเชียง  ไปทางทิศตะวันออกตรงไปอำเภอวัดโบสถ์  อำเภอนครไทย  ซึ่งขณะนี้เห็นเป็นแนวอยู่บ้าง  สันนิษฐานว่าคงเป็น  เส้นทางคมนาคม  ติดต่อระหว่างกรุงสุโขทัยกับเมืองบางยางในสมัยพ่อขุนบางกลางหาว  (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) กับเมืองลาด สมัยพ่อขุนผาเมืองที่ร่วมมือยกกองทัพเข้าตีสุโขทัย อันเป็นเมืองหน้าด่านของขอม ในสมัยโบราณโดยใช้เส้นทางนี้เดินทัพก็เป็นได้ สันนิษฐานครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราช พระมหากษัตริย์เชียงใหม่ แห่งอาณาจักรล้านนา คงจะเดินทัพผ่านอำเภอพรหมพิราม ไปยังเมืองพิชัยด้วย

ถึงยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กล่าวถึงเมืองพรหมพิรามเมื่อคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.2444 ไว้ว่า “...เมืองพรหมพิรามนี้ฉันไม่ได้นึกว่าจะเป็นดังนี้เลย เป็นเมืองที่มีแผ่นดินอุดมดี ตามระยะทางขึ้นมาบ้านช่องผู้คนมีมาก ทำนาแลทำไร่อ้อย เวลาฤดูแล้งปลูกยาสูบ ตามริมแม่น้ำ...ตามบ้านเรือนเป็นสวนผลไม้ทั่วทุกแห่งมีส้มเป็นสำคัญ ต้นส้มโอสูงใหญ่เหมือนต้นมะม่วง...” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าพรหมพิรามในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์มาก เดิมชาวพรหมพิรามอยู่อาศัยทำมาค้าขายริมแม่น้ำอันเป็นแหล่งทรัพยากรและเส้นคมนาคมหลัก ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟขยายไปถึงเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2460 ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนไปตามเส้นทางรถไฟด้วย

 วัดไผ่ขอน้ำ  ตั้งอยู่ที่ บ้านไผ่ขอน้ำ ตำบลมะตูม อำเภอพรหมพิราม เดิมชื่อวัดกฎีราย ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด มีโบราณสถานที่สำคัญของวัดคือ หอสวดมนต์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมหาเวสสันดรชาดกครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ มีความงดงามมากที่สุดเท่าที่พบในจังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่า เขียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. พระอุโบสถหลังเก่าศิลปสมัยสุโขทัย ต่อมามีการบูรณะ ปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ครั้งหลังสุดบูรณะในปี พ.ศ. 2479 ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไป

2. กุฏิพระสงฆ์ สร้างเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูงรวม 7 หลัง เรียงรายสลับกับหอฉันเพล หอสวดมนต์ ปัจจุบัน มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก

3. หอสวดมนต์หลังเก่า สร้างด้วยไม้ ตกแต่งบริเวณช่อง ลมในรูปแบบศิลปกรรมพื้นบ้าน มีการรื้อซ่อมแซม หลายครั้ง เหนือบานประตูเข้าห้องด้านใน มีตัวอักษร สลักความว่า "ทรงพระเจริญศุภแก้วกาญน์" สันนิษฐานว่า อาคารนี้คงสร้างอุทิศให้บุคคลระดับพระมหากษัติรย์

4. ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนต้น เดิมสร้างไว้บนผนังไม้ของหอสวดมนต์ เมื่อ สร้างกุฏิใหม่ผนังก่ออิฐถือปูน จึงได้นำภาพจิตรกรรม บนแผ่นไม้มาติดไว้กับฝาผนัง

5. เจดีย์องค์ใหญ่ สมัยอยุธยาและมีการบูรณะในสมัยกรุง รัตนโกสินทร์

6. ตู้พระธรรม เดิมมีตู้พระธรรม 7 หลัง สภาพสมบูรณ์ ฝาตู้มีลวดลายประดับลงรักปิด-ทองสวยงาม ศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันฝาตู้พระธรรมถูกโจรกรรม

7. สมุดข่อยใบลาน พบเป็นจำนวนมาก แต่อยู่ในสภาพ สกปรกหลุดกระจัดกระจายเสียหายมีบางส่วนที่สมาชิกชมรมผู้ สนใจประวัติศาสตร์ เมืองพิษณุโลก ได้ทำการอนุรักษ์

8. พระพุทธรูป ศิลปสมัยเชียงแสน สุโขทัยและอยุธยา ขนาด ต่าง ๆ กันจำนวนมาก

9. เครื่องถ้วยและโบราณวัตถุอื่น เป็นโบราณวัตถุศิลปสุโขทัย อยุธยาและมีเครื่องถ้วยของจีนรวมอยู่ด้วย