อำเภอบางระกำ 

จังหวัดพิษณุโลก

บางระกำเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลกมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ( ระหว่าง พ.ศ.1999-ไม่ปรากฏ ) เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงมาผนวชอยู่ที่วัดจุฬามณีในปี  พ.ศ.2007 ได้มีชุมชนหนึ่งอาศัยอยู่ตามเรือนแพ  ลำแม่น้ำยม  ประกอบอาชีพทางการประมง  ซึ่งคาดว่า จะเป็นประชากรรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอบางระกำ

หลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนเริ่มปรากฏให้เห็นในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาระหว่าง  พ.ศ.  2112-2133     ในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามกับประเทศพม่า จึงปรากฏชื่อสถานที่ต่างๆตามที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงคราม เช่น แหล่งผลิตและรวบรวมศาสตราวุธเพื่อเตรียมการรบกับพม่า จึงเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า “ ชุมแสงสงคราม ” วิถีชีวิตของชาวบ้านบางระกำในอดีตนั้นมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายโดยพึ่งพาธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์  ในน้ำมีปลา ในไร่นาก็มีอาหารให้เก็บเกี่ยว  กินใช้ไม่รู้จักหมด เมื่อมีมากก็เก็บไว้กินไว้ใช้ในวันหน้า หรือแบ่งปันแลกเปลี่ยนอาหารกัน       คนบางระกำมีปลาร้า      ปลาเกลือ    ปลาย่าง  ปลาจ่อม     ปลาเจ่า  

  จะนำอาหารดังกล่าวใส่กระบุงแล้วหาบไปแลกกับข้าวสารกับอีกหมู่บ้านหนึ่ง   เช่นตำบลปลักแรด    ซึ่งไม่ค่อยมี อาหารประเภทปลา แต่จะมีผลผลิตจากข้าวได้เป็นจำนวนมากเพราะพื้นที่ตำบลปลักแรดอยู่ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงจึงเหมาะกับการทำนา   แต่ชาวบ้านตำบลบางระกำอยู่ติดกับแม่น้ำ  น้ำจะท่วมขังทุกปีจึงไม่เอื้อกับอาชีพทำนา จึงเหมาะสมกับอาชีพทางการประมงมากกว่า  

            ชาวบ้านชุมชนบ้านเหนือ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก  พบบ้านโบราณทรงหกมุมอายุ 130 ปี เป็นบ้านที่หาชมได้ยากและมีเพียงหลังเดียวในจังหวัดพิษณุโลก โดยเจ้าของบ้านยินดีที่จะร่วมอนุรักษ์ไว้เป็นจุดเรียนรู้ให้อยู่คู่กับชุมชนตลอดไป

            บ้านโบราณทรงหกมุมอายุ 130 ปี เป็นบ้านของนายสณัฐ  อำไพพงษ์  อายุ 75 ปี  ข้าราชการบำนาญ การท่าเรือแห่งประเทศไทย  ที่ปัจจุบันกลับมาเฝ้าบ้านหลังนี้อยู่ตามลำพังด้วยความภาคภูมิใจที่ผู้มาเยือน  รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ที่ผ่านไปมาต่างสะดุดตา กับรูปทรงที่แปลกและแฝงไปด้วยงานฝีมือของช่างชาวจีนที่สามารถสร้างบ้านขนาดใหญ่ให้มีความแข็งแรงและไม่เหมือนใครได้เป็นอย่างดี

            สำหรับบ้านโบราณหลังนี้  มีขนาดแต่ละมุมไม่เท่ากัน และจะแหว่งด้านหลังบ้านเล็กน้อย เนื่องจากเป็นพื้นที่ห้องครัวและเก็บของ  ส่วนภายในบ้าน เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น แบ่งสัดส่วนบ้านออกเป็น 3 ส่วน แยกบันไดแบบอิสระ 3 บันได สามารถเดินไปมาเชื่อมกันได้ด้วยชานทางเดินทั้งชั้นบนและล่าง  และที่สำคัญบ้านหลังนี้ ได้สร้างชั้นฝ้าเพดานที่เสมอกันทั้งหลังด้วยไม้ เพื่อลดอากาศร้อน ทำให้ภายในบ้านที่เปิดโล่งได้ทุกทิศสามารถรับลมเย็นสบายได้ตลอดทั้งวัน แม้จะอยู่ในช่วงฤดูร้อน

            นายสณัฐ  เปิดเผยว่า บ้านหลังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรุ่นคุณปู่   โดยทราบจากบิดาว่าปู่ได้ตามหาช่างที่เก่งที่สุด กระทั่งได้ช่างชาวจีนมาเป็นผู้ก่อสร้าง  ด้วยเงินว่าจ้างควบคุมและออกแบบเป็นเงิน 8,000 บาท  ใช้เวลาก่อสร้าง  1 ปี  จากนั้นก็จะพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้มาโดยตลอด

            ปัจจุบันบ้านโบราณหลังนี้ได้รับการดูแลและพร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบบ้านโบราณ  โดยเจ้าของบ้านพยายามนำสิ่งของเครื่องมือ เครื่องใช้ โบราณต่างๆ มาประดับบ้านและจัดแสดง เพื่อหวังให้ผู้ที่มาเที่ยวชมได้รู้จักวิถีชีวิตของคนไทยในอดีต