เรื่อง ปุ๋ยลำไย

ลุงทาเป็นชาวสวน แกทำสวนลำไยกว้างขวาง ในฤดูลำไยออกดอกออกผล แกมีความสุขใจที่สุด ดังนั้นตลอดวันแกจะขลุกอยู่แต่ในสวนลำไยตลอดเวลา ลุงทาจะคอยเอาใจใส่ดายหญ้า พรวนดิน และใส่ปุ๋ยรดน้ำ

ครั้นฤดูร้อนย่างเข้ามา ทางเทศบาลเบื่อสุนัข ลุงทาจะชื้ อซากสุนัขเหล่านั้นจากพนักงาน แล้วนำเอาไปฝั่งไว้ที่โคนต้นลำไยต้นละตัว การที่แกทำเช่นนี้ทำให้สวนลำไยของแกงอกงามยิ่งนัก จนแกบอกกับใครๆ ว่า การเอาสัตว์ที่ตายแล้วไปฝังโคนต้นช่วยให้ต้นลำไยเจริญเติบโตรวดเร็วยิ่งนัก ถ้าใครไม่เชื่อก็ลองดูเถิด มันโตวันโตคืนเชียว

วันหนึ่งลุงเขียวเพื่อนบ้านได้แวะไปเยี่ยมลุงทาที่บ้านแต่ไม่พบ แกจึงแวะไปหาที่สวนลำไย พอดีขณะนั้นย่างเข้าฤดูร้อน ไก่แก่กำลังเป็นโรคระบาดตายกัน และลุงเขียวเป็นนักเลี้ยงไก่ ที่บ้านแกมีไก่มากมาย ลุงทาเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงเอ่ยปากบอกลุงเขียวว่า ‘’เขียว เขียว ถ้าไก่คิงตาย ฮาขอเหียเน่อ‘’ (เพื่อน ถ้าไก่ตายขอเสียนะ)

ลุงเขียวได้ยินชักโมโหที่เพื่อนมาพูดเช่นนี้เป็นการแช่งให้ไก่ของตนตาย จึงถามออกไปอย่างโมโหนิด ๆว่า

‘’ถ้าไก่ฮา (ฉัน) ตาย คิง (เพื่อน) จะเอาไปยะหยัง‘’ ((ทำไมล่ะ) ถ้าไก่ฉันตายจริงจะเอาไปทำอะไรล่ะ)

ลุงทาได้ยินไม่คิดว่าเพื่อนของตนโมโหจึงกล่าวว่า ‘’ถ้าได้ไก่ตาย ฮา (ฉัน) ก็จะเอามาใส่ต้นลำไยเป็นปุ๋ยละก่า‘’ (ละซิ)

ลุงเขียวชักฉุน เลยกล่าวต่อไปว่า ‘’ถ้าจะอั้นกันงัวของฮาต๋ายลอ คิงจะเอาก่อ” (ยังนั้นถ้าวัวของฉันตายจะเอาไหมล่ะ) ลุงทาหัวเราะว่า ‘’เอาก่า เอาก่า ถ้างัวของคิงตาย ฮาจะแบ่งใส่ได้หลายต้น ขอคิงฮื้อแต้ๆ เต็อะ” (เอาซี เอาซี ถ้าวัวเพื่อนตาย จะได้แบ่งฝังได้หลายต้น ขอให้ก็แล้วกัน) แกตอบไปอย่างพาซื่อ

ลุงเขียวชักหมั่นไส้ในความเห็นแก่ตัวของเพื่อนจึงพูดตัดบทว่า ‘’ถ้าจะอั้นรถบดถนนต๋ายคิงจะเอาก่อ บ่าเดี๋ยวนี้มีหลายกันจอดอยู่ในโฮงรถข้างก๋มทาง” (ถ้างั้นรถบดถนนตายล่ะจะเอาไหมเดี๋ยวนี้มีหลายคันอยู่ในโรงรถนั้น)

ลุงทาได้ฟังจึงรู้ว่าลุงเขียวพูดเล่นแง่กับตน จึงโมโหและโพล่งออกมาโดยไม่รู้ตัวว่า ”ดีก่าบ่าถ้ารถบดต๋ายแต้ ๆ ฮาจะเอาเป็นปุ๋ยสากมอง ไปไป้ปู่เขียว กำเดียวจะหัวแตก” (ดีซี ถ้ารถบดถนนตายกัน จะเอาเป็นปุ๋ยสากตำข้าว)

ลุงเขียวรู้ท่าว่าเพื่อนของตนโกรธจึงรีบก้าวเท้าจ้ำเดินจากไปโดยไม่เหลียวหลัง พร้อมกับบ่นพึมพำว่า ‘’คนอะหยังจะใดจะเอาก่าได้ฝ่ายเดียว” (คนอะไรจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว)

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า 

ความโลภเป็นสมบัติของคนเห็นแก่ตัว และพูดอะไรมักขาดเหตุผล …หรือการขออะไรจากใคร…พึงขอในสิ่งที่ควรขอ (ดูความเหมาะสม และพูด/ทำ ให้ถูกกาลเทศะ)