ดนตรีบำบัด (Music Therapy) เป็นการใช้กิจกรรมทางดนตรี เพื่อบำบัดความเจ็บป่วย ฟื้นฟูสภาพร่างกาย อารมณ์และสติปัญญา และถูกนำมารักษาโรคต่างๆ ในโรงพยาบาลเพื่อคลายความเครียดของผู้ป่วยจากการรับการรักษา
      ประโยชน์ของดนตรีบำบัดสามารถพัฒนาทารกในครรภ์ โดยเฉพาะเพลงคลาสสิคที่ทารกจะชอบมาก มีการเต้นของหัวใจที่เพื่มขึ้นเมื่อได้ยินเสียงจากหน้าท้องของแม่ ช่วงวัยเด็ก 0-3 ปี พบว่าดนตรีบำบัดช่วยพัฒนา IQ และ EQ ได้เป็นอย่างดีจากการที่ร้องเพลงให้ลูกฟังเมื่อไกวเปล หรือเล่นของเล่นที่มีเสียง ช่วงวัย 3 ขวบขึ้นไป ดนตรีช่วยส่งเสริมพัฒนาการ โดยเฉพาะด้านฝึกสมาธิและความจำ รวมถึงประสาทสัมฝัสมือ ตา และสมองนอกจากนี้ดนตรีบำบัดยังสามารถเบี่ยงเบนความสนใจผู้ป่วยให้รู้สึกเจ็บป่วยลดลง  มีความวิตกกังวลน้อยลง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเกร็ง หรือมีปัญหากล้ามเนื้อ ดนตรีบำบัดสามารถช่วยกระตุ้นให้ออกแรงกล้ามเนื้อที่เกร็งได้ โดยการเล่นเครื่องดนตรีประเภทเคาะ กด เพื่อเพิ่มประสานความคล่องตัวของนิ้ว หรือมีการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ทั้งแขน ขา ลำตัวและตบมือตามจังหวะก็จะสามารถช่วยได้
      สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มทางจิตเวช ดนตรีบำบัดช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นและสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างรวดเร็วเมื่อทำกิจกรรมทางดนตรีซ้ำๆ โดยเปิดเพลงจังหวะที่เร้าใจ ขยับตัวตามจังหวะ บอกความรู้สึกที่ได้จากเพลง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเลือกประเภทดนตรีให้เหมาะสมกับบุคคลและสภาวะทางจิตใจ เพื่อให้เกิดผลดีจากดนตรีบำบัดได้มากที่สุด

ขั้นตอนการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อระงับอาการปวด

1. ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยก่อน ผู้ป่วยควรมีความพร้อมที่จะใช้วิธีดนตรีบำบัด มีบางครั้งที่พบว่าในยามปกติ ผู้ป่วยมีประวัติรักเสียงเพลงและร่วมกิจกรรมด้านดนตรี แต่เมื่อมีความเจ็บป่วยผู้ป่วยกลับไม่ค่อยตอบสนองต่อดนตรีเลย หรือปฏิเสธที่จะฟังดนตรี จึงควรหลีกเลี่ยงวิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ชอบ
2. การสำรวจผู้ป่วยในเรื่องประสบการณ์ด้านดนตรี, ความสามารถด้านดนตรี ประเภทเพลงที่ผู้ป่วยชอบ เครื่องดนตรีหรือเพลงที่ผู้ป่วยคุ้นเคยซึ่งจะช่วยให้การจัดกิจกรรมดนตรีง่าย ขึ้น และเป็นการสร้างความรู้สึกอบอุ่นประทับใจแก่ผู้ป่วย
3. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบายที่สุด เจ็บปวดน้อยที่สุด โดยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่อึดอัดใช้หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ ช่วยพยุงปรับให้อยู่ในท่าที่พอดี
4. ควรอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิเย็นสบาย ไม่มีเสียงรบกวน ปรับแสงสีในห้องให้เย็นตา สะอาด เรียบร้อย สวยงาม
5. เลือกใช้เครื่องเสียงที่มีคุณภาพ ที่ผู้ป่วยจะสามารถใช้ได้เองด้วยตนเองตามสะดวกและปลอดภัย
6. จัดเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือดูแล สอน ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจผู้ป่วย ขณะที่ใช้วิธีการดนตรีบำบัดร่วมกับเทคนิคการผ่อนคลาย

วิธีการทางดนตรีบำบัดมีหลายวิธี อาทิ เช่น
– การฟังดนตรี
– การร้อง
– การเล่นดนตรี
– การเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับดนตรี

ประโยชน์ของดนตรีบำบัด
      ดนตรีบำบัดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ และกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่แตกต่างกันไป เช่น ปัญหาบกพร่องของพัฒนาการ สติปัญญา และการเรียนรู้, โรคซึมเศร้า, โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์, โรคหลอดเลือดสมอง, ความพิการทางร่างกาย, อาการเจ็บปวด และภาวะอื่นๆ
              สำหรับบุคคลทั่วไป ก็สามารถใช้ประโยชน์จากดนตรีบำบัดได้เช่นกัน ช่วยในการผ่อนคลายความตึงเครียด และประกอบในการออกกำลังกายเสริมสร้างสุขภาพ
ประโยชน์ของดนตรีบำบัด มีดังนี้
1) ปรับสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีความสงบ และมีทัศนคติในเชิงบวกเพิ่มขึ้น
2) ผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล (anxiety/ stress management)
3) กระตุ้น เสริมสร้าง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และความจำ (cognitive skill)
4) กระตุ้นการรับรู้ (perception)
5) เสริมสร้างสมาธิ (attention span)
6) เสริมสร้างทักษะสังคม (social skill)
7) พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา (communication and language skill)
8) พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว (motor skill)
9) ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (muscle tension)
10) การจัดการอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่างๆ (pain management)
11) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavior modification)
12) สร้างสัมพันธภาพที่ดีในการบำบัดรักษาต่างๆ (therapeutic alliance)
13) ช่วยเสริมในกระบวนการบำบัดทางจิตเวช ทั้งในด้านการประเมินความรู้สึก สร้างเสริมอารมณ์เชิงบวก การควบคุมตนเอง การแก้ปมขัดแย้งต่างๆ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว
โดยสรุปดนตรีบำบัด มีประโยชน์หลากหลายขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ โดยบูรณาการเข้ากับการบำบัดรักษาอื่นๆ

อ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และ ชุติวรรณ แก้วไสย. (2547). ดนตรีบำบัด (Music Therapy). ในเอกสารพิธีเปิดศูนย์ดนตรีบำบัด. สถาบันราชานุกูล.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา.ดนตรีบำบัด พัฒนาชีวิต:https://www.happyhomeclinic.com/alt05-musictherapy.htm
ดนตรีบำบัดสร้างสมดุลกายใจ : https://resourcecenter.thaihealth.or.th/media/pQWr