ส่วนที่ 2

ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน 

ประเด็นท้าทาย เรื่อง

         การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการรู้เท่าทันสื่อและสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ ด้วยหลัก PROMPT เพื่อพัฒนาทักษะในการสื่อสารข้อมูล   และการรู้เท่าทันสื่อ (Communication information and media literacy) ในรายวิชาวิทยาการคำนวณ 3 (ว23104) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัชรวิทยา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 

1. สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้และคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน

โลกในยุคปัจจุบันเป็นสังคมแห่งข่าวสาร มีอุตสาหกรรมการสื่อสารที่เติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สื่อมีอิทธิพลต่อการรับรู้ และการดำเนินชีวิตของเราเป็นอย่างมาก เราได้เห็น ได้ใช้ ได้ยิน ได้สัมผัสสื่อ อย่างหลากหลาย การเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร จึงเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีปริมาณที่มาก มีทั้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาระและไม่เป็นสาระ มีเนื้อหาที่ทำให้เราคล้อยตามหรือเนื้อหาเกินจริงจนถึงขั้นหลอกลวงผู้ที่รับสื่อ ซึ่งข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นได้ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) จึงเป็นแนวคิดที่สำคัญอย่างยิ่งของการศึกษา ในศตวรรษที่ 21 ถือเป็นคุณสมบัติของเยาวชนที่สามารถเลือกรับ วิเคราะห์ ประเมิน และนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ในทางสร้างสรรค์ รวมทั้งความสามารถในการผลิตสื่อที่ดีเพื่อขับเคลื่อนสังคม อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนสามารถรับรู้ เข้าใจ ประเมินและสร้างสรรค์เนื้อหาสื่อโดยไม่ถูกครอบงำจากสื่อ รู้จักใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและสังคม จึงเป็นสภาวะที่เกิดจากความสามารถของบุคคลในการวิเคราะห์ความหมายของเนื้อความ และประเมินคุณค่าและเจตนาที่สื่อนำเสนอผ่านเทคนิควิธีการต่าง ๆ และเป็นการพัฒนาความคิดอ่านและปัญญาที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างการรับรู้สื่ออย่างมีวิจารณญาณ สามารถแยกแยะความเห็นออกจากความจริง สามารถตัดสินใจในสิ่งที่สื่อนำเสนอได้อย่างเที่ยงตรง เป็นผู้รับสื่อที่มีพลังอำนาจและกระตือรือร้น คือ ไม่ยอมรับอิทธิพลจากสื่อโดยไม่เต็มใจ และไม่ตัดสินว่าสื่อเป็นอันตราย แต่เป็นผู้รับสื่อและ ใช้สื่อที่มีจุดยืนทางสังคม เข้าใจตนเอง เข้าใจสังคม เข้าใจสิ่งที่สื่อนำเสนอ สามารถมีส่วนร่วมตอบโต้หรือแสดงความคิดเห็นต่อสื่อด้วยวิธีการต่าง ๆ      ที่เหมาะสมได้ (โตมร อภิวันทนากร, 2552: น. 12) เมื่อมีการเรียนรู้ในเรื่องของการเท่าทันสื่อ การพัฒนาทักษะของการสร้างสรรค์หรือการสร้างสื่อในแบบฉบับของตนเอง ก็เป็นสิ่งจำเป็นในยุคปัจจุบันควบคู่กัน เมื่อผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจสามารถวิเคราะห์วิจารณ์ ประเมินค่าสื่อได้อย่างถ่องแท้แล้ว ทุกคนจะต้องวางแผน เขียนบท ค้นคว้าข้อมูลเนื้อหามาประกอบ ความสามารถในการสร้างสรรค์ (หรือสื่อสาร) เนื้อหาโดยการเขียนบรรยายความคิด ใช้คำศัพท์ เสียง หรือการสร้างภาพให้มีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ ที่หลากหลาย ซึ่งมีวิธีการสร้างสื่อแบบสร้างสรรค์ไว้มากมาย เช่น ใช้ประโยชน์จากขั้นตอนการระดมสมอง วางแผน เรียบเรียง และแก้ไข ใช้ภาษาเขียนและภาษาพูดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดตามหลักของภาษาศาสตร์สร้างสรรค์และเลือกภาพอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ที่กำหนดไว้หรือใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในการวางโครงสร้างของเนื้อหา ซึ่งทักษะการสร้างสรรค์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้  ในการเรียน การใช้ชีวิตประจำวันในอนาคตได้การรู้เท่าทันสื่อจึงไม่ใช่เป็นเพียง “วิชา” ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเป็นพิเศษ แต่เป็น “ทักษะ” ที่สำคัญในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเยาวชนในโลกยุคปัจจุบันนั้นมีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้แล้ว แต่ส่วนมากยังขาดทักษะในการ “อ่านและเขียนสื่อ” นั่นคือ การวิเคราะห์และผลิตสื่อด้วยวิจารณญาณของตนเอง หากไม่สามารถ “อ่าน” และ “เขียน” สื่อได้อย่างเหมาะสม เยาวชนนั้นก็มีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของการปลูกฝังความคิดความเชื่อตามที่สื่อนำเสนอ แม้ว่าจะมีความสามารถทางวิชาการในระดับดีก็ตาม (วรัชญ์ ครุจิต, 2555: น. 90)

ผลจากการจัดการเรียนการสอนรายวิชาวิทยาการคำนวณ 3 (ว32104) สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 พบว่า นักเรียนขาดทักษะในการสื่อสารข้อมูล และการรู้เท่าทันสื่อ พบได้จากการที่นักเรียนค้นหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการหาคำตอบในแบบฝึกหัด จากเหตุผลดังกล่าวจึงมีความสนใจที่จะศึกษาทักษะในการสื่อสารข้อมูล และการรู้เท่าทันสื่อ (Communication information and media literacy) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยชุดกิจกรรมการรู้เท่าทันสื่อและสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อด้วยหลัก PROMPT เพื่อพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อ นำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่ช่วยเพิ่มทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนศึกษาในศตวรรษที่ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

2. วิธีการดำเนินการให้บรรลุผล

2.1 ศึกษาสาระมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และวิเคราะห์เนื้อหา จุดประสงค์การเรียนรู้ วิชาวิทยาการคำนวณ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนวัชรวิทยา อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งจากหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ บทที่ 6 เรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน

2.2 ศึกษาเอกสารแนวคิดและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรู้เท่าทันสื่อ แนวคิดเกี่ยวกับทักษะ

ในศตวรรษที่ 21 ในด้านของการรู้เท่าทันสื่อ

2.3 วิเคราะห์และกำหนดวัตถุประสงค์ ภาระงานที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้และจำนวน คาบเรียน

2.4 ดำเนินการสร้างชุดกิจกรรมที่ได้ออกแบบไว้ โดยจัดทำเป็นแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

2.5 นำชุดกิจกรรมที่สร้างเสร็จแล้ว นำเสนอให้ครูที่ปรึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม แล้วนำไปปรับปรุง แก้ไข ตามคำแนะนำ                  

2.6 นำข้อเสนอแนะจากครูที่ปรึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้มาปรับปรุงปรับปรุงกิจกรรม การเรียนรู้และลำดับกิจกรรมการเรียนรู้ ก่อนนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้

2.7 นำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3

2.8 ประเมินผลการจัดการเรียนการสอน

3. ผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวัง

                3.1 เชิงปริมาณ

3.1.1 ผู้เรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาการคำนวณ 3 (ว23104) หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง การใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน โดยใช้ชุดกิจกรรมการรู้เท่าทันสื่อและ สร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ ด้วยหลัก PROMPT มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดและมีค่าเฉลี่ยคะแนนผลสัมฤทธิ์ เท่ากับ 12.40 คะแนน (ค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาวิทยาการคำนวณ 3 รหัสวิชา ว23104 หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง การใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เท่ากับ 12.39 คะแนน)

3.1.2 ผู้เรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาการคำนวณ 3 (ว23104) มีค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เท่ากับ 3.26 (ค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาวิทยาการคำนวณ รหัสวิชา ว23104 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เท่ากับ 3.25)

                3.2 เชิงคุณภาพ            

3.2.1 ผู้เรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาการคำนวณ 3 (ว23104) หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง การใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน โดยใช้ชุดกิจกรรมการรู้เท่าทันสื่อและ สร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ ด้วยหลัก PROMPT โดยมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด และมีค่าเฉลี่ยคะแนนผลสัมฤทธิ์สูงกว่าปีการศึกษาที่ผ่านมาเท่ากับ 0.01 คะแนน

3.2.2 ผู้เรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาการคำนวณ 3 (ว23104) มีค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สูงกว่าปีการศึกษาที่ผ่านมาเท่ากับ 0.01