การจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ SATI Model

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model)

มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ทั้งหมด ๔ ขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนจะประกอบด้วยขั้นย่อย ๆ ดังนี้

1) ขั้นการสำรวจ (Survey) เป็นขั้นตอนการสำรวจจิตให้มีสติ ด้วยการนั่ง ยืนหรือเดิน เพื่อเรียกสติสัมปชัญญะ มุ่งจิตแน่วแน่ไปสู่เรื่องที่กำลังจะได้เรียน เรื่องที่กำลังจะรับรู้อยู่เบื้องหน้า สมาธิในที่นี่อาจจะด้วยการนั่งหลับตาเจริญภาวนา การนับตัวเลขเดินหน้าถอยหลัง การเดินจงกรม การเล่นเกมคณิตศาสตร์ เพื่อนำจิตรวมเป็นหนึ่งเดียว อาจจะใช้สื่อหรือแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น รูปภาพ สิ่งของ เพลง กลอน นิทาน วีดีทัศน์ สถานที่หรือบุคคล เข้าร่วมกับการฝึกสมาธินี่ได้ โดยมีเนื้อหาสอดคล้องและเชื่อมโยงสู่สาระการเรียนรู้ ที่ครูผู้สอนต้องกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจ ด้วยการซักถามประสบการณ์เดิมและร่วมกันสนทนาเพื่อหาข้อสรุป แบ่งเป็น 2ขั้นตอน คือ

1.1) การฝึกสติ (Consciousness) สติเป็นคุณธรรมที่เกิดเองไม่ได้ การเจริญสติด้วยหลักการเรียนแบบมุ่งการรู้จริงทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้การฝึกสติแบบเคลื่อนไหว การเดินจงกรมเพื่อใช้ในการฝึกสติ ผู้เรียนต้องฝึกสติแบบเคลื่อนไหวทุกครั้ง ในการเรียนแต่ละครั้ง ผู้เรียนจะได้เรียนเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ผ่านการบรรยาย กิจกรรมกลุ่ม การเล่นเกม บทบาทสมมุติ การชมวีดีทัศน์ และการอภิปราย การจัดการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนจากง่ายไปหายากและการได้ฝึกปฏิบัติช้า ๆ บ่อย ๆ โดยกิจกรรมที่นักเรียนสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น นิทาน เพลง เกมคณิตศาสตร์ การตั้งคำถามให้คิด หรือใช้จินตนาการ เป็นสิ่งที่เน้นการใช้สมองซีกขวา ทักษะที่สำคัญในขั้นนี้คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการตั้งคำถาม เพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องที่กำลังจะเรียนรู้ต่อไป

1.2) การวิเคราะห์ประสบการณ์ เป็นการช่วยให้นักเรียนเกิดความตระหนักรู้ และยอมรับความสำคัญของเรื่องที่เรียน ในขั้นนี้นักเรียนต้องหาเหตุผลเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับ ในขั้นแรกด้วยการวิเคราะห์และช่วยกันอภิปรายให้เหตุผลตามความคิดเห็นของนักเรียนแต่ละคน ทักษะที่สำคัญในขั้นนี้ คือ ทักษะในการวินิจฉัย วิเคราะห์ อภิปราย โดยครูผู้สอนอาจใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น การใช้เทคนิคการเขียนผังความคิด (Mind mapping) การเขียนแผนภาพโครงเรื่อง การวาดรูปภาพ

2) ขั้นปฏิบัติการ (Action) เป็นการเรียนรู้ในขั้นตอนการเชื่อมโยงจากการเรียนรู้ข้อมูลอย่างไตร่ตรองมาสู่การสร้างความคิดรวบยอด บทบาทของครูผู้สอน เตรียมข้อมูล ให้ข้อมูลและสาธิตวิธีการให้นักเรียนได้ค้นคว้าเนื้อหาที่จะเรียนจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ใบความรู้ วีดีทัศน์ เล่นเกม เป็นขั้นตอนที่นักเรียนต้องใช้สมองทั้งสองซีก ซ้ายและขวาประสานกัน แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ

2.1) การสร้างความคิดรวบยอด ขั้นนี้เป็นการพัฒนาประสบการณ์เป็นความคิดรวบยอด เมื่อนักเรียนมีสมาธิในการเรียนแล้ว ครูผู้สอนจึงจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างความคิดรวบยอดขึ้นด้วยตนเอง เป็นขั้นที่ต้องจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำ เน้นการใช้สมองซีกขวา ทักษะที่สำคัญในขั้นนี้คือทักษะการสร้างรูปแบบ การจัดระบบ วิเคราะห์ การจัดลำดับความสัมพันธ์ การจัดประสบการณ์ เปรียบเทียบ

2.2) การสร้างแนวคิดเป็นของตนเอง เป็นขั้นตอนการให้ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจจนสร้างความคิดรวบยอดในเรื่องที่เรียนได้ ขั้นนี้เน้นการใช้สมองซีกซ้ายถึงแม้ว่าขั้นนี้จะให้ความสำคัญกับบทบาทของครูผู้สอน แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลความรู้ด้วยการบรรยาย ควรใช้วิธีอื่นแทน เช่น การให้นักเรียนค้นคว้า ทดลอง ครูสาธิต นักเรียนสังเกต หรือให้นักเรียนเรียนรู้จากวิทยากรท้องถิ่น

3) ขั้นกระบวนการคิด (Thinking process) เป็นวิธีการฝึกการคิดในหลากหลายรูปแบบ จนกระทั่งนักเรียนเกิดทักษะในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ทั้ง 4 ทักษะ คือ

3.1) การคิดคล่องแคล่ว (Fluency) เป็นความสามารถในการคิดตอบสนองต่อสิ่งเร้าให้ได้มากที่สุดที่จะมากได้ในเวลาที่จำกัด ถือเป็นความคิดเชิงปริมาณ ซึ่งวิธีที่นักเรียนจะฝึกทักษะการคิดคล่องแคล่วนั้นสามารถทำได้หลายวิธี วิธีการฝึกความคล่องแคล่วในการใช้คำตอบหรือความคิด ล้วนแต่ต้องอาศัยการระดมสมอง (Brainstorming) เข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดปริมาณความคิดมากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด และไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของผู้อื่น

3.2) การคิดยืดหยุ่น (Flexibility) เป็นความสามารถของบุคคลในการคิดหาคาตอบได้หลายประเภทและหลายทิศทาง เป็นตัวเสริมและเพิ่มคุณภาพของความคิดคล่องแคล่วให้มากขึ้นด้วยการจัดหมวดหมู่หรือประเภทของความคิดนั่นเอง หรืออาจจะเป็นความสามารถคิดดัดแปลงจากสิ่งหนึ่งไปหลายๆ สิ่งได้ วิธีที่เราจะฝึกทักษะการคิดยืดหยุ่นนั้นได้แก่ การใช้คำถามลักษณะต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความคิด ซึ่งคำถามที่ใช้อาจเป็นประเภทเดียวกับคำถามที่ใช้ฝึกความคิดคล่องแคล่ว เพียงแต่ว่าหลังจากที่คิดคล่องแคล่วแล้วก็เอาคำตอบที่ได้มาจัดกลุ่ม หรือประเภทเพื่อดูความหลากหลายในการคิด

3.3) การคิดริเริ่ม (Originality) เป็นความคิดแปลกใหม่ แตกต่างจากความคิดธรรมดาไม่เหมือนใคร อาจเกิดจากการนำเอาความรู้เดิมมาดัดแปลง และประยุกต์ให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น เราสามารถฝึกทักษะนี้ได้ การจะพิจารณาว่าความคิดใดที่แตกต่างไปจากคนอื่น ก็คือ การนำคำตอบนั้นมาหาความถี่ดู คำตอบใดที่ซ้ำกันมาก ๆ ในกลุ่ม ก็ไม่ถือเป็นความคิดริเริ่ม

3.4) การคิดละเอียดลออ (Elaboration) คือการคิดในรายละเอียดเพื่อตกแต่งหรือขยายความคิดหลักให้ได้ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นความสามารถในการมองเห็นรายละเอียดในสิ่งที่คนอื่นมอไม่เห็น ซึ่งต้องอาศัยทักษะในการสังเกตช่วยในการฝึกทักษะการคิดนี้ด้วย วิธีการฝึกทักษะตัวนี้สามารถทำได้ การฝึกทักษะเหล่านี้ไม่มีขั้นหรือกระบวนการใด ๆ และเทคนิควิธีการที่ใช้ก็มีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการระดมสมอง การใช้คำถามลักษณะต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความคิด การใช้แบบฝึกที่เป็นรูปภาพ รูปทรงเรขาคณิต หรือเส้นลักษณะต่าง ๆ มาใช้ร่วมกันเพื่อพัฒนาทักษะเหล่านี้

สิ่งสำคัญคือครูผู้สอนจะต้องเข้าใจธรรมชาติของแต่ละทักษะ เช่น คิดคล่องแคล่ว คือ คิดเชิงปริมาณ คิดยืดหยุ่น คือ คิดได้หลายทิศทาง คิดริเริ่ม คือ คิดไม่เหมือนใคร คิดละเอียดลออ คือ คิดรายละเอียด และในการฝึกนั้นเราอาจจะฝึกทีละทักษะหรือ ฝึกไปพร้อม ๆ กันหลายทักษะก็ย่อมได้ โดยครูผู้สอนเป็นผู้คอยดูแลช่วยเหลือให้คำแนะนำ นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดเวลา ขณะฝึกอาจใช้สื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ เข้ามาช่วย ประกอบการฝึกปฏิบัติ เช่น นิทาน เพลง เกมคณิตศาสตร์ รูปภาพ วีดีทัศน์ เป็นขั้นที่ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติโดยการเชื่อมโยงทักษะย่อย ๆ จากง่ายไปหายาก ในขั้นนี้ควรให้นักเรียนได้มีการฝึกเป็นรายบุคคลและกระบวนการกลุ่ม กลุ่มละ 4 – 6 คน เพื่อนช่วยเหลือซึ่งกันละกัน ในขั้นนี้นักเรียนจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน

4) ขั้นพิจารณา (Investigate) นักเรียนเตรียมความพร้อมในการนำเสนอผลงาน ซึ่งนอกเหนือจากการปฏิบัติสร้างสรรค์ผลงานแล้ว อาจจัดได้หลายรูปแบบ เช่น นำเสนอรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม การนำเสนอควรให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นจากผลงาน ร่วมกันวิเคราะห์ วิจารณ์ พิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันพร้อมทั้งเสนอแนะ โดยครูผู้สอนเป็นผู้คอยควบคุมดูแล แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ

4.1) ขั้นวิเคราะห์ผลงาน การวิเคราะห์ผลงานและแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ เป็นขั้นที่นักเรียนได้ชื่นชมผลงานของตนเองหรือประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ไปสู่กิจกรรมอื่น ๆ หรือนำผลงานของตนเองเสนอในกลุ่มย่อยให้เพื่อนติชม เป็นขั้นที่เน้นการใช้สมองซีกซ้าย เป็นการประเมินผลงานด้วยกระบวนการต่าง ๆ ว่านักเรียนมีความรู้อะไรบ้างและมากน้อยเพียงใด

4.2) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นขั้นตอนของการขยายขอบข่ายของความรู้ โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดแก่กันและกัน และร่วมกันอภิปรายเพื่อนำการเรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เป็นขั้นที่เน้นการใช้สมองซีกขวา ทักษะที่ใช้ในขั้นนี้คือการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและแลกเปลี่ยนความคิดความรู้ซึ่งกันและกัน การมองอนาคต ตลอดจนการชื่นชมของตนเอง


บทคัดย่อ

หัวข้อการวิจัย รายงานการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนา

ความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ผู้วิจัย นายสันติชัย ฤทธาพรม

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน 2) เพื่อสร้างและหาคุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 70/70 3) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้และเปรียบเทียบความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียน คณะครูโรงเรียนเทศบาลวารินวิชาชาติ และคณะครูสังกัดโรงเรียนเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) แบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน 2) แผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 12 แผน ทั้งหมด 15 ชั่วโมง 3) แบบวัดความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ 6) แบบประเมินและรับรองรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เครื่องมือทั้งหมดผู้วิจัยเป็นผู้สร้างขึ้นโดยผ่านการตรวจสอบและรับรองจากคณะผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิแล้วมาพัฒนาปรับปรุงก่อนนำมาใช้ในการทดสอบภาคสนามให้มีประสิทธิภาพ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติดังนี้ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า E1/E2 ค่า t – test

ผลการวิจัยพบว่า

1. สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ประเทศไทยมุ่งพัฒนาด้านผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs8Cs) โดยเฉพาะทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ยุค Thailand 4.0 โดยเน้นทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับคุณธรรมจริยธรรม อันจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เรียนได้ประสบผลสำเร็จในชีวิต พร้อมทั้งได้รับการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ มีคุณธรรมและมีความสุข จากการประเมินสภาพการจัดการเรียนรู้ ด้วยแบบวัดความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ พบว่า มีนักเรียนถึงร้อยละ 64.34 มีระดับความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนการคิดริเริ่มและการคิดละเอียดลออ ที่นักเรียนมักทำให้เสร็จแต่ไม่คำนึงถึงความสวยงาม ความประณีตทั้งการวาดภาพหรือลายมือ ทำให้คะแนนส่วนนี้น้อยมาก จากการตอบแบบสอบถามของครูผู้สอนและนักเรียน พบว่า สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในภาพรวมทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับปานกลาง ( = 2.82 = 0.89) ข้อมูลที่ปรากฏสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันครูผู้สอนจัดการเรียนรู้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดริเริ่มและการละเอียดลออ โดยไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ต่อยอดในระดับการประกวดแข่งขัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างนักเรียนและครูได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ให้การอบรมเชิงปฏิบัติการในการฝึกสติด้วยการทำสมาธิหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้นักเรียนได้มีจิตใจที่จดจ่อต่อการทำกิจกรรมได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนทั้ง 4 ด้าน คือ การคิดคล่องแคล่ว การคิดยืดหยุ่น การคิดริเริ่มและการคิดละเอียดลออ

2. ผลการสร้างและหาคุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 70/70 พบว่า ผู้วิจัยตั้งชื่อว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เป็นการตั้งชื่อจากการนำเอาอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของคำที่ขึ้นต้นของขั้นตอนทั้ง 4 ประกอบด้วย Survey, Action, Thinking process, Investigate ซึ่งขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ มีดังนี้ 1) ขั้นการสำรวจ (Survey) 1.1) ขั้นการฝึกสติ (Consciousness) 1.2) ขั้นการวิเคราะห์ประสบการณ์ 2) ขั้นปฏิบัติการ (Action) 2.1) ขั้นการสร้างความคิดรวบยอด 2.2) ขั้นการสร้างแนวคิดเป็นของตนเอง 3) ขั้นกระบวนการคิด (Thinking process) 3.1) ขั้นการคิดคล่องแคล่ว (Fluency) 3.2) ขั้นการคิดยืดหยุ่น (Flexibility) 3.3) ขั้นการคิดริเริ่ม (Originality) 3.4) ขั้นการคิดละเอียดลออ (Elaboration) 4) ขั้นพิจารณา (Investigate) 4.1) ขั้นวิเคราะห์ผลงาน 4.2) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากการหาคุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.80/76.11 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 70/70 ที่กำหนดไว้

3. ผลการทดลองใช้และเปรียบเทียบความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ด้านการยืดหยุ่นสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 82.23 รองลงมาด้านการคิดคล่องแคล่ว คิดเป็นร้อยละ 81.03 ด้านการคิดริเริ่ม คิดเป็นร้อยละ 80.63 และลำดับสุดท้ายด้านการคิดละเอียดลออ คิดเป็นร้อยละ 70.83 เมื่อนำคะแนนความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์มาเฉลี่ย ได้คะแนนร้อยละ 78.68 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 70 เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนทดสอบก่อนเรียน โดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 13.67 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 4.02 ค่าคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 45.56 และคะแนนทดสอบหลังเรียน โดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 22.83 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 3.31 ค่าคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 76.11 มีผลต่างของคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 9.17 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.56 โดยมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

4. การประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีค่าคะแนนความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ในระดับมากที่สุด เฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.56 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.56 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม นักเรียนขอให้เพิ่มเวลาในการจัดการเรียนรู้ ส่วนผลการประเมินและรับรองรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นสติ (SATI Model) จากผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด เฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.60 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.49 เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนี้ 1) การวัดผลประเมินผลควรให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน 2) การออกแบบกิจกรรมและใบงานควรเพิ่มสีสัน ให้น่าสนใจ มีภาพ สำนวนภาษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน ไม่ยากหรือง่ายเกินไป สามารถกระตุ้นความสนใจใฝ่เรียนรู้ได้อย่างสร้างสรรค์ 3) การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ ควรฝึกให้นักเรียนได้คิดอย่างต่อเนื่องทั้งที่บ้านและนอกเวลาเรียนรู้ 4) ควรเพิ่มกิจกรรมหรือใบงานสำหรับนักเรียนที่ เก่ง กลางและอ่อน โดยออกแบบให้สอดคล้องกับความแตกต่างของนักเรียนทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อให้เหมาะกับความรู้ความสามารถของนักเรียนแต่ละบุคคล โดยสามารถนำกิจกรรมหรือใบงานไปทำต่อที่บ้านได้หลังเลิกเรียน