ข้อมูลโรงเรียน

โรงเรียนนันทบุรีวิทยาเดิมเป็นโรงเรียนวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ก่อสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยะพงษ์-ผลิตเดช ทรงครองนครน่าน พระองค์ได้ทำนุบำรุงกิจการบ้านเมืองและพระพุทธศาสนาภายในเมืองน่านอย่างมากมายเช่นเดียวกับพระบิดา ได้ทรงปลูกฝังเรื่องการศึกษาไว้แก่กุลบุตรกุลธิดาชาวเมืองน่านอย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง และท่านได้ดำริสร้างโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ตามโครงการศึกษาของชาติอันเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เป็นโรงเรียนแห่งแรกภายในวัดพระธาตุช้างค้ำ-วรวิหาร ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนรากฐานสำคัญสืบมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาโรงเรียนได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ จึงได้สร้างเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดน่าน ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ไว้ภายในวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารอาคารโรงเรียนเป็นเรือนปั้นหยา มีมุขหน้าทำด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง มุงด้วยกระเบื้องไม้ยม ขนาดยาว ๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๖ วา กั้นเป็น ๖ ห้อง ชื่อว่า “โรงเรียนสุริยานุเคราะห์” ตามพระนามของพระองค์ ในสมัยพระยากรุงศรีสวัสดิ์การ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๑–๒๔๗๖ ได้ย้ายโรงเรียนสุริยานุเคราะห์ออกไปสร้างใหม่และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร” หลังจากย้ายโรงเรียนสุริยานุเคราะห์ออกจากวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารแล้ว คณะสงฆ์จังหวัดน่าน โดยพระชยานันทมุนี (พรหฺม พฺรหฺมโชโต) เป็นประธานพร้อมด้วยพระมหาโอฬามังคลา ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของวัดพญาภู พระเชาว์ พุทธวโร(นายเชาว์ พิชัย) พระมหาเจียมศักดิ์ สีใสกุล (นายเจียมศักดิ์ สีใสกุล) ได้ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนราษฎร์ของวัดขึ้น แต่จัดตั้งไม่ได้ เนื่องจากผิด พรบ.การจัดตั้งโรงเรียนราษฎร์ของวัด ดังนั้น ในการดำเนินการจึงบริหารงานร่วมกับโรงเรียนหริภุญชัยจังหวัดลำพูน ได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมประจำจังหวัดน่าน เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดฝ่ายสงฆ์ เปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณรได้บวชเรียน ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ได้ขออนุญาตจัดตั้ง โรงเรียนบาลีมัธยมขึ้นเปิดสอนทั้ง ๓ แผนก คือ (๑)เปิดสอนแผนกธรรม ตรี โท เอก (๒) แผนกบาลี ป.ธ. ๓ – ป.ธ.๙ (๓) แผนกบาลีมัธยมวิสามัญศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๖ และได้ยุบเลิกไปในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ตามมติของมหาเถรสมาคม คณะกรรมการโรงเรียนจึงได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ ชื่อ “โรงเรียนนันทบุรีวิทยา” ในปี ๒๕๐๖ ขึ้น เพื่อให้พระภิกษุสามเณร ได้มีสถานที่ศึกษาเล่าเรียน โรงเรียนมีนโยบายเพื่อสงเคราะห์นักเรียนที่ขาดแคลนและหาสถานที่เรียนไม่ได้ โดยอาคารเรียนใช้อาคารเดิมที่เป็นของโรงเรียนบาลีมัธยม เมื่อมีจำนวนนักเรียนมากขึ้นอาคารเรียนเดิมไม่เพียงพอ จึงได้สร้างอาคารชั่วคราวที่สร้างเป็นอาคารชั่วคราวเป็นเพิงไม้มุงด้วยแฝก เปิดเป็นทางโล่งยาว ไม่มีผนังกั้นห้องเรียน แต่ละห้องล้วนตั้งโต๊ะเรียนใช้กระดานดำเป็นเขตกั้นแทน พ.ศ.๒๕๑๒ ได้ขออนุญาตเป็นโรงเรียนสหศึกษาและในปี พ.ศ.๒๕๑๖ นายวิเชียรวชิรพาหุ กรรมการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน ได้เสนอให้โรงเรียนนันทบุรีวิทยา เข้าอยู่ในโครงการโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รับโรงเรียนนันทบุรีวิทยา เข้าในโครงการ ตามสำเนาหนังสือพระราชวังที่ พว. ๐๐๑๑/๔๒๘๒ ลงวันที่๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ หลังจากที่โรงเรียนเข้าอยู่ในโครงการโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัวฯ โรงเรียนได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์และได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง พ.ศ.๒๕๑๘ มหาเถรสมาคม มีคำสั่งห้ามมิให้โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนรับนักเรียนพระภิกษุสามเณรเข้าเรียน โรงเรียนจึงได้ขอจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เพื่อรับนักเรียนพระภิกษุสามเณรเข้าเรียน ในปัจจุบันจึงทำให้ในบริเวณวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารมีโรงเรียน ๒ โรง คือ ๑. โรงเรียนนันทบุรีวิทยา (เอกชน) รับนักเรียนฆราวาส สังกัดสำนักงานคณะกรรมการบริหารการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ๒.โรงเรียนนันทบุรีวิทยาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา รับนักเรียนพระภิกษุสามเณร สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในปีเดียวกันโรงเรียนได้ขออนุญาตเปิดสอนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน) ได้รับงบประมาณจากทางราชการ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) และประชาชนบริจาคสมทบอีกจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท (สามหมื่นห้าพันบาทถ้วน)รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๒๘๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนแปดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ได้จัดสร้างอาคารเรียนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๙๐ เมตร สูง ๒ ชั้น จำนวน ๒๐ ห้องเรียน และได้รับพระราชทานนามอาคารนี้ว่า “ตึกราชเมตตา” ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๕,๕๔๔,๐๐๐ บาท(ห้าล้านห้าแสนสี่หมื่นสี่พันบาทถ้วน) สร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก แบบสปช. ๒/๒๘ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๔๘ เมตร สูง ๓ ชั้น จำนวน ๑๘ ห้องเรียน คือ “ตึกราชกรุณา” พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับจัดซื้ออุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน ต่าง ๆ จำนวน ๔๕๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับงบประมาณสร้างตึกพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นอาคาร คสล.๔ ชั้น ขนาด ๑๘ ห้องเรียน แบบ ๓๑๘ ล/๓๐ ตามแบบกรมสามัญศึกษา สร้างด้วยงบประมาณแผ่นดิน (กรมการศาสนา) จำนวน ๑๓ ล้านบาท อาคารหลังนี้ใช้เป็นอาคารเรียนของพระภิกษุสามเณร พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านแปดแสนบาทถ้วน) สำหรับสร้างอาคารโรงฝึกงาน กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร สูง ๒ ชั้น จำนวน ๔ ห้องเรียน คือ “ตึกราชมุทิตา” พ.ศ.๒๕๓๘ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดตั้งมูลนิธิโรงเรียนนันทบุรีวิทยา เพื่อนำดอกผลมาใช้ในกิจการของโรงเรียนและช่วยเหลือนักเรียนยากจน จำนวน ๑๑,๐๑๖,๘๙๘ บาท (สิบเอ็ดล้านหนึ่งหมื่นหกพันแปดร้อยเก้าสิบแปดบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯพระราชทานพระราชทรัพย์สมทบมูลนิธิโรงเรียนนันทบุรีวิทยาในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน ๑๒,๘๒๔,๐๓๒.๙๘ บาท (สิบสองล้านแปดแสนสองหมื่นสี่พันสามสิบสองบาทเก้าสิบแปดสตางค์) พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานนมผงและพระอุปถัมภ์ภัตตาหารเพลแด่นักเรียนพระภิกษุสามเณร จำนวน ๕๑๕ รูป จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับพระราชทานเงินงวดแรกจำนวน ๕๐๑,๐๐๐ บาท (ห้าแสนหนึ่งพันบาทถ้วน) นมผงจำนวน ๙๐๑.๘ กิโลกรัม และนมผงงวดที่ ๒ จำนวน ๑,๔๒๕ กิโลกรัม จนถึงปัจจุบัน วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อติดตามโครงการอาหารเสริมนมพระราชทาน และเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียน พระองค์ทรงห่วงใยนักเรียนที่บิดา มารดาเสียชีวิต บิดามารดาหย่าร้าง นักเรียนยากจน นักเรียนชาวเขา นักเรียนที่ไม่มีหอพัก โดยอาศัยคณะครูเช่าหอพักให้ ทรงมีพระกระแสรับสั่งเกี่ยวกับหอพักนักเรียน และอาคารเรียนไม่เพียงพอ โรงเรียนจึงได้หางบประมาณการก่อสร้างหอพักนักเรียนขึ้น โดยของบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเป็นห่วงการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนนันทบุรีวิทยา พระองค์เสด็จทอดพระเนตร และมีพระกระแสรับสั่งทรงห่วงงานด้านบริหาร การจัดการโรงเรียน และทรงปลูกต้นจำปี สิรินธร วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดป้ายอาคารเรียน “สิรินธร”ที่สร้างขึ้นใหม่ที่บ้านปางค่า ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๔ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ และการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดน่าน อนึ่ง ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนันทบุรีวิทยา พระปริยัติธรรม ฯ สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และโรงเรียนนันทบุรีวิทยา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นั้น ใช้ครู บุคลากร และอุปการณ์การเรียนการสอน โดยใช้การจัดการร่วมกันในด้านต่างๆ ร่วมกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน ปัจจุบัน โรงเรียนนันทบุรีวิทยา พระปริยัติธรรม มีพระธรรมนันทโสภณ ( มนต์ คุณธาโร ป.ธ. ๓) เป็นผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการ พระครูบวรเจติยารักษ์ (อินเดช ฐิติสมปนโน ) น.ธ.เอก , พธ.บ พุทธศาสตร์บัณฑิต ป.ว.ค.เป็นผู้อำนวยการ โดยมีการบริหารงานต่างๆ ตามโครงสร้าง ๔ ฝ่าย