สถานที่สำคัญ

วัดใหญ่บ้านบ่อ

วัดใหญ่บ้านบ่อ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นในราว พ.ศ. ๒๒๖๔ มีพระพุทธรูปนั่งปางเลไลย์ ประดิษฐ์ติดอยู่กับหน้าอุโบสถ มีผู้คนนับถือมากมาย และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน

พ่อคุณโขน พ่อคุณโขนคลองสุนัขหอน

คลองสุนัขหอนเป็นคลองธรรมชาติเชื่อมแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง คลองแห่งนี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของพื้นที่ภาคกลางตอนล่างมาแต่โบราณ โดยเฉพาะการเดินทางที่ยึดแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง จากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่คลองสาขาหลากเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกล้วนต้องเลือกคลองสุนัขหอนเป็นตัวเชื่อมสำคัญดังที่ปรากฏเรื่องเล่าสำคัญทางประวัตินับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ สมัยนั้นคลองสุนัขหอนกลายเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่า ครั้งนายสุจินดา(กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท)ฝ่าวงล้อมพม่าจากอยุธยาเพื่อไปหาพี่ชาย(หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีหรือรัชกาลที่ ๑ ) ก็ใช้เส้นทางนี้

หลังบ้านเมืองสงบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คลองสุนัขหอนก็เป็นเส้นทางสำคัญไปมาระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์และหัวเมืองตะวันตก โดยเฉพาะบางช้างซึ่งเป็นบ้านเกิดของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระราชมารดาในรัชกาลที่ ๒ ต้นราชินิกุล ณ บางช้าง ซึ่งทรงมักแวะเวียนไปมาระหว่างบางช้างและบางกอก จนเป็นที่มาของวลีที่ว่า "บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน" และการเดินไปมาที่ต้องอาศัยคลองสุนัขหอนเป็นตัวเชื่อมนี่ทำให้เกิดตำนานท้องถิ่นสมุทรสาครตำนานหนึ่งคือ "พ่อขุนโขน"

ตำนานพ่อคุณโขน เริ่มต้นจากเหตุที่คลองสุนัขหอนเป็นเส้นทางการเดินทางระหว่าง "บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน" เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีคณะโขนหลวงได้เดินทางผ่านชุมชนบ้านบ่อขบวนเรือได้อับปาง ผู้ที่มาในขบวนเรือเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ที่น่าอัศจรรย์คือ ศพของนักแสดงโขนสองพี่น้องที่ลอยขึ้นมาเหนือน้ำ โดยเฉพาะศพของคนพี่ที่กอดหัวโขนทศกัณฑ์ ชาวบ้านเห็นดังนั้นก็เลื่อมใสศรัทธาในความรักที่มีต่อจอการแสดงโขนแม้ในวาระสุดท้ายจึงสร้างศาลให้คนพี่ ณ บริเวณที่พบศพแล้วเรียกว่า "ศาลพ่อคุณโขน" ส่วนบริเวณที่พบศพคนน้องชาวบ้านก็สร้างศาลให้เช่นกันแล้วเรียกว่า "ศาลพ่อคุณน้อย"

ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลพ่อคุณโขนมีเรื่องเล่าที่ผูกโยงกับสายน้ำคลองสุนัขหอน โดยเฉพาะเรื่องจระเข้ศักดิ์สิทธิ์ที่คอยช่วยชาวบ้านในการเดินทางทางน้ำ ไม่ว่าจะไปทำธุระ การเดินทาง และการค้าขายก็มักจะจอดเรือสักการะศาลพ่อคุณโขนเพื่อขอความคุ้มครองปลอดภัยในการเดินทาง ส่วนเรือลำใดไม่สักการะก็มักเกิดอาเพศไม่สามารถเดินทางต่อได้ นอกจากนี้ชาวบ้านที่อาศัยในคลองสุนัขหอนก็นิยมมาขอพรและบนบานศาลกล่าวให้กิจการงานค้าขายรุ่งเรือง ขอให้ฝนไม่ตกในช่วงทำนาเกลือ และขอเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้เมื่อคำขอสำเร็จก็มักจะมาไหว้และแก้บนด้วยคณะละครรำในงานประจำปีเสมอในแม้ในปัจจุบันความเคารพศรัทธานี้ก็มิได้เสื่อมคลายลง



พิพิธภัณฑ์กระดูกปลาวาฬ


พิพิธภัณฑ์กระดูกปลาวาฬ ตั้งอยู่ในวัดกระซ้าขาว เก็บซากโครงกระดูกปลาวาฬวาฬบรูด้า จำนวน ๒ ตัว ซึ่งเป็นลักษณะแม่กับลูก กำลังกินอาหารโดยเป็นสัตว์น้ำประเภทปลาไส้ตัน ณ ปัจจุบันนี้ มีวาฬบรูด้าหากินอาหารและอาศัยอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนบน ประมาณ ๑๐ ตัว ปลาวาฬที่พบเป็นพันธุ์บรูด้า หรือปลาวาฬซิทตัง จัดเป็นปลาวาฬทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์จากประเทศไทย เป็นปลาวาฬสีเทาเพศเมีย หนักประมาณ ๓ ตันเศษ ยาว ๑๔ . ๕๐ เมตร กว้าง ๓ เมตร ปลาวาฬชนิดนี้ไม่มีฟัน แต่มีซี่กรองลักษณะคล้ายไม้กวาด กรองอาหารจำพวกลูกปลา หรือลูกกุ้ง ใต้ท้องมีลักษณะเป็นร่องจากปลายคางถึงสะดือ อายุประมาณ ๒๐๐ ปี

เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ. ศ. ๒๕๔๓ นายสมชาย เซ้งสมหวัง พบปลาวาฬเสียชีวิตเกยตื้นบริเวณป่าโกงกางบ้านกระซ้าขาวหมู่ที่ ๙ ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จึงช่วยกันกับชาวบ้านและกรมประมงนำขึ้นมา โดยชิ้นส่วนที่ได้นั้นไม่ครบขาดบางส่วนไป คือที่ส่วนหางท้ายสุดหายไป ๓ ชิ้น ซี่โครง ๑ ชิ้น ส่วนใต้ท้องปลา ๑ ชิ้น และได้นำมาถวายวัดเพื่อให้นักเรียนและประชาชนที่สนใจได้ชม และศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน

วัดบางขุด

วัดบางขุด ตั้งอยู่เลขที่ 29 บ้านบางขุด หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000 ไม่มีหลักฐานการตั้งวัดเมื่อใดเดิมมีอุโบสถ และศาลาการเปรียญหลังเก่า เดิมตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นมาและให้ชื่อว่า “วัดบางคลองขุด” ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น “วัดบางขุด” จากที่สันนิษฐานกันไว้อายุวัดประมาณ 150ปี ภายหลังได้มีการพัฒนาวัดขึ้นโดยสร้างพระอุโบสถใหม่และได้อันเชิญพระประธานในโบสถ์เก่าไปประดิษฐานไว้ในโบสถ์ใหม่ ส่วนในโบสถ์เก่าได้สร้างพระเป็น"หลวงพ่อโสธร"มาประดิษฐานไว้แทนจนถึงปัจจุบัน