ถ้ำใหญ่น้ำหนาว

ถ้ำใหญ่น้ำหนาว

สำหรับเสน่ห์ของถ้ำใหญ่น้ำหนาว หรือ ภูน้ำริน ถ้ำสวยแห่งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นความยิ่งใหญ่อลังการของตัวถ้ำที่ตั้งอยู่ในเขาหินปูน ที่มีความสูงประมาณ 955 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นถ้ำที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ภายในถ้ำมีความงามวิจิตรพิศดารโดยเฉพาะหินงอกหินย้อย และที่แปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลหรือน้ำรินออกจากปากถ้ำ นอกจากนี้ภายในถ้ำยังเป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมากอีกด้วยค่ะ

ลักษณะเด่น
ที่มีความวิตรงดงามทางธรรมชาติ ที่แปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลรินออกจากปากถ้ำ หินงอกหินย้อยและเสาถ้ำ

ประวัติ
สมัยนั้นมีความเชื่อกันว่าบริเวณถ้ำใหญ่มีทางเดินที่สามารถเข้าสู่เมืองบาดาลได้ ทุกๆปีพญานาคและบริวารจะแปลงกายเป็นมนุษย์รูปร่างงดงามทั้งชาย-หญิง และแต่งกายอย่างงดงามโดยทุกตนจะถือขันทองคำใส่อาหารมาร่วมทำบุญเดือนหกกับชาวบ้านที่วัดบ้านธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของถ้ำใหญ่ไปประมาณ 500 เมตร แต่มาปีหนึ่งหลังการบุญเสร็จสิ้น ปรากฏว่าขันทองคำของพญานาคได้หายไปหนึ่งใบ พญานาคและบริวารต่างพากันออกค้นหา และสอบถามจากพระสงฆ์ สามเณร ชาวบ้าน แต่ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือนำขันทองคำไป ซึ่งตามตำนานระบุว่าความจริงแล้วมีสามเณรรูปหนึ่งเป็นผู้ขโมยขันทองคำไปเมื่อพญานาคและบริวารไม่สามารถหาขันทองคำได้จึงโกรธและประกาศจะไม่มาทำบุญร่วมกับชาวบ้านตลอดไป พร้อมกับแปลงร่างจากมนุษย์กลายเป็นพญานาคพากันเลื้อยหายเข้าไปในถ้ำใหญ่เกิดเป็นเสียงก้องกัมปนาทและพื้นพสุธาหวั่นไหว ทำให้พระสงฆ์ สามเณรและชาวบ้านต่างพากันวิ่งหนี แต่แผ่นดินที่ตั้งของวัดบ้านธาตุและบริเวณใกล้เคียงได้ดูดกลืนผู้คน ทั้งพระสงฆ์ สามเณร พร้อมทั้งชาวบ้านอีก 50 ครัวเรือนหายไป ส่วนสามเณรที่ขโมยขันทองคำไป ได้วิ่งหนีอย่างสุดชีวิตไปทางหน้าถ้ำเพื่อที่จะขึ้นถ้ำใหญ่ เมื่อก้าวได้ 7-8 ก้าว แผ่นดินก็ได้ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว เป็นหลุมลึกมากซึ่งต่อมาจึงเรียกหลุมหรืออุโมงค์นี้ว่า "หลุมเณร" หรือ "หลุมหิน" มาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับการท่องเที่ยวภายในถ้ำใหญ่น้ำหนาวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรกระยะทางประมาณ 400 เมตร มีทางเดินเท้าไปตามคูหาต่างๆ ซึ่งมีหินงอกหินย้อยและเสาถ้ำ ทางเดินจะไปสุดที่คูหาซึ่งมีม่านหินงดงาม ช่วงที่ 2 จากระยะทาง 400-1,000 เมตร จะมีทางลัดเลาะ บางครั้งต้องมุดและปีป่ายเข้าไป ช่วงที่ 3 ระยะทางจาก 1,000 เมตร เข้าไป จะมีลำธารน้ำรินไหล ถ้ำมีความลึกประมาณ 4.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ชาวบ้านละแวกนั้นเชื่อว่า ภายในถ้ำเป็นที่บำเพ็ญเพียรของพญานาค เพราะลักษณะหินย้อยคล้ายเศียรพญานาค และมีลานกว้างพอประมาณอยู่ใต้เศียรพญานาคนั้น ชาวบ้านเรียกว่า "แท่นพญานาค"