INNOVATION

ผลงานทรัพย์สินทางปัญญา

ผลงานที่ได้รับหนังสือแสดงการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ประเภท โสตทัศนวัสดุ

VDO การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยใส่สายสวนฟอกเลือดชนิดชั่วคราว 

นายสาววรรณา บรรจงรักษา

งานการพยาบาลผู้ป่วยโรคไตและไตเทียม


ได้รับลิขสิทธิ์เลขที่ : ส.018278

VDO การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยใส่สายสวนฟอกเลือดชนิดชั่วคราว เป็นสื่อที่อธิบายถึงลักษณะของสายสวนฟอกเลือดชนิดชั่วคราว ตำแหน่งที่นิยมใส่สายสวนฟอกเลือดชนิดชั่วคราว  รวมทั้งวิธีการเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษาด้วยการใส่สายสวนและการดูแลหลังการใส่สายสวนฟอกเลือด ตลอดจนการแสดงอาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดการติดเชื้อ ลดอัตราการเสียชีวิต และส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือดที่เพียงพอ โดยผู้สนใจสามารถดูคลิปวีดีโอดังกล่าวได้ที่ YouTube ทางช่อง 5 นาทีกับแพทย์ธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ผลงานที่ได้รับการรับรองสิทธิ์ ประเภทวรรณกรรม ลักษณะงาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์

Application "MAMI"

นายสาวพัฒน์นรี  เปี่ยมธนันปภัค

งานการพยาบาลตรวจโรคสูติ-นรีเวชกรรม


ได้รับลิขสิทธิ์เลขที่ : ว1.010443

Application MAMI เป็นแอพพลิเคชั่นที่มีคำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และความรู้ทางโภชนาการสำหรับคุณแม่ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการติดตามอายุครรภ์ การนับลูกดิ้น โดยแอพพลิเคชั่นจะช่วยคำนวณอายุครรภ์ปัจจุบันของคุณแม่และเมื่อตั้งครรภ์ตั้งแต่ 32 สัปดาห์ จะมีฟีเจอร์ "การนับลูกดิ้น" เพิ่มขึ้นมา เพื่อช่วยติดตามและบันทึกการดิ้นของทารกในครรภ์ในแต่ละวัน รวมถึงมีเนื้อหาแนะนำความรู้เรื่องด้านโภชนาการและคำแนะนำต่างๆ ในการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์อีกด้วย

Application MAMI จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ได้ตลอดเวลา เข้าใจง่าย ซึ่งเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดที่จะช่วยติดตามการตั้งครรภ์ไปพร้อมกับการดูแลทางด้านโภชนาการของคุณแม่ โดยสามารถดาวน์โหลด Application MAMI ได้ทั้งระบบ iOS และ Android 

ผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในผลงาน

"กางเกงสำหรับตรวจภายใน"

นายสาวสุภาพร ผมหอม

งานการพยาบาลหัตถการพิเศษทางสูติ-นรีเวชกรรม


ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลขที่ 90639

งานการพยาบาลหัตถการพิเศษทางสูติ-นรีเวชกรรม ได้ออกแบบและพัฒนากางเกงสำหรับการตรวจภายใน การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดและการทำหัตถการต่างๆ ของสตรี โดยมีการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้รับบริการเพื่อป้องกันการเปิดเผยร่างกายโดยไม่จำเป็นในการตรวจรักษาหรือทำหัตถการ อีกทั้งยังช่วยลดอาการเขินอายต่อการตรวจภายในของสตรีที่เข้ารักษาภาวะมีบุตรยาก 

ผลงานที่ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร ในผลงาน

"อุปกรณ์แจ้งเตือนอุณหภูมิโดยใช้ไมโครโปรเซสเซอร์แบบฝังตัว"

นายเอกลักษณ์  มณีเสาวภาคย์ 

งานเครื่องมือแพทย์ 


ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร เลขที่ 20519

ยาหรือเวชภัณฑ์ที่จ่ายให้แก่ผู้ป่วยเพื่อรักษาอาการป่วย หรือความผิดปกติต่างๆ ของร่างกายตามคำวินิจฉัยของแพทย์ จะต้องจ่ายยาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและมีระยะเวลาการใช้งานที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการเก็บรักษาให้ยาหรือเวชภัณฑ์คงคุณภาพและมีประสิทธิภาพจะต้องเก็บยาไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับยาในแต่ละชนิดเนื่องจากในปัจจุบันตู้แช่ยาสามารถทำได้เพียงแจ้งเตือนที่หน้าเครื่องเท่านั้น และหากเฝ้าระวังอุณหภูมิในตู้แช่ยาโดยบุคลากรอาจมีความไม่ละเอียดหรือเป็นภาระต่อผู้ดูแลหรือในกรณีตู้แช่ยาเกิดการเสื่อมสภาพหรืออุณหภูมิในตู้ผิดปกติจะไม่สามารถรู้ได้ทันที อาจเกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพของตัวยาหรือเวชภัณฑ์ได้งานเครื่องมือแพทย์จึงได้พัฒนาอุปกรณ์แจ้งเตือนอุณหภูมิโดยใช้ไมโครโปรเซสเซอร์แบบฝังตัว สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิในตู้แช่ยาหรือตู้แช่เวชภัณฑ์ และสามารถแจ้งเตือนผ่านระบบไลท์นอร์ติฟิเคชั่น (Line notification)ไปยังผู้ดูแลได้ทุกที่ทุกเวลาเมื่อมีการแจ้งเตือนอุณหภูมิที่สูงหรือต่ำกว่าที่กำหนดเพื่อใช้เป็นผู้ช่วยงานสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลตู้แช่เวชภัณฑ์ เพื่อคงคุณภาพของเวชภัณฑ์และแจ้งเตือนก่อนเวชภัณฑ์จะสูญเสียคุณภาพ 

ผลงานที่ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร ในผลงาน

"อุปกรณ์เสริมสำหรับเตียงฉุกเฉินประจำรถพยาบาล"

นายภูริพัฒน์ ภูศรี และ นายวิทยา โพธิ์หลวง

หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินและปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาล


ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร เลขที่ 20518

บทบาทหน้าที่หลักของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินและปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีหน้าที่ในการออกปฏิบัติการรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ และต้องมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อส่งต่อผู้ป่วยให้แก่สถานพยาบาลเพื่อรักษาต่อในกรณีเร่งด่วน ปัจจุบันการรับส่งผู้ป่วยทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลในแต่ละเดือนจะมีสถิติการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลประมาณ 60-100 คน/เดือน จากการสังเกตพบว่า กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินมีอาการวิกฤต จำเป็นต้องได้รับยาและสารน้ำหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ทำให้ต้องมีอุปกรณ์ควบคุมอัตราการไหลของสารน้ำและยา 3 ถึง 5 เครื่องไปติดตั้งเสาน้ำเกลือที่เตียงผู้ป่วย ซึ่งเตียง stretcher ที่ใช้ปัจจุบันไม่มีที่สำหรับวางอุปกรณ์ดังกล่าว ผู้ประดิษฐ์จึงได้มีการออกแบบและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม “อุปกรณ์เสริมสำหรับเตียงฉุกเฉินประจำรถพยาบาล” เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอในการรองรับอุปกรณ์การแพทย์และป้องกันการตกลงของอุปกรณ์ทางการแพทย์ในขณะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินและสามารถใช้งานได้กับเปลนอน (stretcher) ทุกแบบในรถพยาบาลฉุกเฉิน 

ผลงานที่ได้รับการรับรองลิขสิทธิ์ ประเภทงานวรรณกรรม

"คู่มือแอปพลิเคชั่นอิ่มอุ่น"

นางศศิพิมพ์ ไพโรจน์กิจตระกูล

งานการพยาบาลผู้ป่วยโรคไตและไตเทียม

ได้รับลิขสิทธิ์เลขที่  ว.049201 

คู่มือแอปพลิเคชั่น “อิ่มอุ่น” เป็นคู่มือการที่อธิบายฟังก์ชันการใช้งานของแอพพลิเคชั่น โดยประกอบไปด้วยทั้งหมด 4 ฟังก์ชัน ดังนี้ฟังก์ชันที่ 1 คำนวณน้ำหนักที่ควรจะเป็น หรือน้ำหนักในอุดมคติ (Ideal Body Weight: IBW) และคำนวณพลังงานที่ควรได้รับใน 1 วันฟังก์ชันที่ 2 คำนวณโปรตีนที่จะต้องได้รับในแต่ละวัน และอาหารแลกเปลี่ยนโปรตีน 1 ส่วน ฟังก์ชันที่ 3 ตัวอย่างรายการอาหารฟังก์ชันที่ 4 บันทึกการรับประทานอาหารในแต่ละวัน และคำนวณโปรตีนและพลังงานที่ได้รับเพื่อให้ผู้ใช้งานมีความเข้าใจในวิธีการใช้งานของแอปพลิเคชั่น เข้าใจวิธีการคำนวณปริมาณพลังงาน โปรตีน และจัดแบ่งอาหารในแต่ละมื้อ รวมทั้งวิธีการบันทึกการรับประทานอาหารในแต่ละวัน และคำนวณโปรตีนและพลังงานที่ได้รับ เพื่อให้ข้อมูลที่มีความชัดเจน เข้าใจง่ายซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แอปพลิเคชั่น “อิ่มอุ่น” 

ผลงานที่ได้รับการรับรองลิขสิทธิ์ ประเภทงานวรรณกรรม

แอปพลิเคชั่น "อิ่มอุ่น"

นางศศิพิมพ์ ไพโรจน์กิจตระกูล

งานการพยาบาลผู้ป่วยโรคไตและไตเทียม

ได้รับลิขสิทธิ์เลขที่  ว1.010106

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มักพบว่ามีภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition)  เป็นภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่พบได้บ่อย เนื่องจากไตสูญเสียหน้าที่อย่างถาวร ท้าให้ผู้ป่วยต้องควบคุมน้ำและอาหาร รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับภาวะโภชนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น เป็นผู้สูงอายุ มีการติดเชื้อ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม และสัมพันธภาพในครอบครัว เป็นต้น นอกจากนี้ภาวะโภชนาการยังมีความสัมพันธ์ กับคุณภาพชีวิต กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยมีภาะโภชนาการดีย่อมส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดี ในทางกลับกันถ้าผู้ป่วยมีภาวะทุพโภชนาการย่อมส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตไม่ดีจึงได้มีการมีพัฒนาสร้างแอปพลิเคชั่น “อิ่มอุ่น” ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทราบข้อมูลความต้องการพลังงานและโปรตีนของตนเอง โดยโปรแกรมจะคำนวณปริมาณพลังงาน โปรตีน และจัดแบ่งอาหารในแต่ละมื้อ และมีตัวอย่างเมนูอาหารโปรตีนคุณภาพให้เลือก พร้อมวิธีทำ สามารถบันทึกอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน เพื่อคำนวณพลังงานและโปรตีนที่ได้รับว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการออกแบบฟังก์ชันการใช้งานของแอปพลิเคชั่น “อิ่มอุ่น” นั้นพัฒนาขึ้นมาให้มีความง่ายต่อการใช้งานและหวังว่าผู้ป่วยจะได้รับความเพลิดเพลิน มีความสุข กับการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการใช้แอปพลิเคชั่นนี้ คือ ต้องอาศัยความรัก ความเข้าใจในการดูแลร่วมกัน (share care) ระหว่างพยาบาลไตเทียม ผู้ป่วยและญาติ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “อิ่มอุ่น” ได้ทั้งระบบ IOS และ Android 

ผลงานที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

อุปกรณ์วัดความดัน

นางสาววราพรรณ วัฒน์แก้ว

งานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตศัลกรรม

ภาวะความดันในช่องท้องสูงเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับการศัลยกรรมช่องท้อง และผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤต เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะในช่องท้อง รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและให้ความสำคัญ เพื่อที่จะให้การรักษาอย่างทันท่วงที ทางผู้ประดิษฐ์จึงได้มีการออกแบบพัฒนา “อุปกรณ์วัดความดัน” ที่ใช้งานได้สะดวก มีประสิทธิภาพและราคาถูกขึ้นมาสำหรับใช้วัดความดันในช่องท้องทางอ้อม โดยการวัดผ่านกระเพาะปัสสาวะตามวิธีการมาตราฐาน 

ผลงานที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

'รถเข็น' สำหรับวางแฟ้มประวัติผู้ป่วย

เรือตรีหญิงวรรณา จันทร์สวัสดิ์

งานการพยาบาลผู้ป่วยกุมารเวชกรรมพิเศษ

ได้รับลิขสิทธิ์เลขที่  ว1.010106

งานการพยาบาลผู้ป่วยกุมารเวชกรรมพิเศษ ได้ออกแบบรถเข็นสำหรับวางแฟ้มประวัติผู้ป่วย ที่ออกแบบมาให้สะดวกต่อการใช้งานภายในหน่วยงาน ซึ่งในตัวรถเข็นมีช่องใส่แฟ้มเอกสารเพื่อจัดแฟ้มให้เป็นระเบียบและมีที่กั้นกันแฟ้มเอกสารตกหล่น  จึงทำให้การหยิบใช้และจัดเก็บทำได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

ผลงานที่ได้รับการรับรองลิขสิทธิ์ ประเภทงานวรรณกรรม

สื่อในการดูแลตนเองของผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

นางสาวนพรัตน์ ชูพีรัชน์ นางสาวศุภานัน ผึ้งถนอม และ นางสาวชาริณี วิวัฒน์พาณิชย์

งานกายภาพบำบัด

ได้รับลิขสิทธิ์เลขที่  ว.047960 

สื่อในการดูแลตนเองของผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ จัดทำขึ้นโดยนำเทคโนโลยี QR code มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสื่อในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น การดูแลตนเองของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และข้อไหล่ติด เป็นต้นการสร้างสื่อนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงสื่อในการดูแลตนเองได้อย่างรวดเร็ว ดูข้อมูลได้ตลอดเวลา สามารถมองเห็นภาพและข้อมูลภายในสื่อได้อย่างชัดเจน จึงช่วยส่งเสริมให้ประสิทธิภาพการรักษาทางกายภาพบำบัดเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการประหยัดทรัพยากรกระดาษช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กร 

ผลงานที่ได้รับการรับรองลิขสิทธิ์ ประเภทงานวรรณกรรม

สื่อในการดูแลตนเองของผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

นางสาวอัมพร ครุธวงษ์  สังกัด งานการพยาบาลผู้คลอด และ
อ.ดร.ณัฐพัชร์ บัวบุญ สังกัด คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ได้รับลิขสิทธิ์เลขที่  ว.047962 

ภาวะตกเลือดหลังคลอดเป็นสาเหตุการตายของมารดาทั่วโลกที่พบมากที่สุด โดยมีสาเหตุมาจากการหดรัดตัวของมดลูกไม่ดี การฉีกขาดของช่องคลอด การมีรกค้าง ภาวะซีด หรือปัญหาเกี่ยวกับกลไกการแข็งตัวของเลือด อันจะส่งผลกระทบต่อตัวมารดาทั้งทางด้านร่างกาย และจิตสังคมด้วยพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในห้องคลอดมีบทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การป้องกันการตกเลือดระยะแรก จึงมีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติการพยาบาลในการป้องกันการตกเลือดหลังคลอดระยะแรก โดยใช้การสืบค้นข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบตามขั้นตอนของสถาบันโจแอนนาบริกส์จากงานวิจัยที่ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นสตรีในระยะคลอด และหลังคลอด 2 ชั่วโมง ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ในช่วง พ.ศ.2553  ถึง 2563 จำนวน 5 เรื่องโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติการพยาบาลของประเทศไทยในการป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอดระยะแรกในห้องคลอด ผลการศึกษาพบว่า แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกในการป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอดระยะแรก ประกอบไปด้วย การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงเรื่องการป้องกันการตกเลือดหลังคลอด การกำหนดทีมพยาบาลและบทบาทหน้าที่ของพยาบาลในการปฏิบัติงานร่วมกับทีมการพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งในระยะแรกรับที่เน้นการประเมิน ค้นหาความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด ในระยะรอคลอดที่เน้นการประเมินความก้าวหน้าในการคลอดที่มีประสิทธิภาพ และมีการเตรียมพร้อมผู้รับบริการเพื่อป้องกันการตกเลือดระยะหลังคลอด ในระยะคลอดเน้นการดูแลช่วยเหลือผู้รับบริการในระยะคลอดอย่างปลอดภัย  ในระยะ ที่ 3 ของการคลอด เน้นการดูแลแบบ Active Management of the Third Stage of labor (AMTSL) รวมถึง ในระยะหลังคลอด 2 ชั่วโมง เป็นระยะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทั้งในมารดาที่มีภาวะปกติและมีความเสี่ยงต่อการตกเลือด รวมถึงมีการส่งต่อที่เป็นระบบ 

ผลงานที่ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรในผลงานเรื่อง

อุปกรณ์รองรับอากาศสำหรับประกอบสายให้ออกซิเจนทางจมูกเพื่อติดตามการหายใจ

นางสาวฐาปวี ลิขิตการไพบูลย์

งานการพยาบาลผู้ป่วยวิสัญญี

ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร เลขที่ 18777

ลักษณะการหายใจมีความสำคัญสามารถบอกคุณภาพของการหายใจความสัมพันธ์กับการหลับตื่นการติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านอัตราการหายใจที่ไม่คงที่ ผู้ป่วยผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดที่ได้รับยาที่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราการหายใจ เพื่อสังเกตอาการและประเมินผลการตอบสนองต่อยา ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับอุปกรณ์เครื่องติดตามสัญญาณชีพ อุปกรณ์สายให้ออกซิเจนทางจมูกที่ใช้ในสถานพยาบาล เพื่อติดตามลักษณะการหายใจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยไม่ต้องรุกล้ำทางเดินหายใจ ติดตามจากกราฟหน้าจอแสดงสัญญาณชีพเพื่อแสดงให้ผู้ดูแลผู้ป่วยทราบ ซึ่งสามารถประเมินผู้ป่วยได้ทันท่วงทีจากภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจผู้จัดทำจึงได้มีการพัฒนาและออกแบบ อุปกรณ์รองรับอากาศสำหรับประกอบสายให้ออกซิเจนทางจมูกเพื่อติดตามการหายใจ เพื่อใช้ติดตามและใช้เฝ้าระวังการหายใจที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ติดตั้ง ถอดประกอบร่วมกับสายให้ออกซิเจนทางจมูกได้ง่าย รองรับอากาศไว้เพื่อนำส่งให้เครื่องดูดอากาศเข้าเครื่องประมวลผลแสดงค่าปริมาณออกซิเจน (O2) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และกราฟคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจ (Capnography) บนเครื่องวัดสัญญาณชีพได้