แนวคิดนิทรรศการฯ

  1. มิวเซียมสยามดำเนินการรวบรวมประสบการณ์ความทรงจำบนถนนราชดำเนิน โดยการเรียกรับวัตถุจัดแสดง (Call for objects) ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ล่อง รอยราชดำเนิน” ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และมีผู้สนใจส่งวัตถุจัดแสดงหายากมาจัดแสดงไว้ในนิทรรศการนี้ด้วย

  2. การสร้างสรรค์นิทรรศการฯ ร่วมกับกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อตอบรับกับสถานการณ์ "Aging Society" ในประเทศไทย

  3. การนำเทคโนโลยีสร้างอรรถรสในการเข้าถึงประสบการณ์บนถนนราชดำเนินผ่านด้วยสื่อ ดิจิตัล สมาร์ทโฟน และปริศนาที่ซ่อนไว้ในแต่ละช่วงของนิทรรศการ ที่จะทำให้การชมนิทรรศการที่ผ่านมาเปลี่ยนไป


ขนาดไฟล์ 35 MB

สูจิบัตรนิทรรศการ "ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย" ฉบับตีพิมพ์ มีจำนวนจำกัด เนื้อหาอัดแน่นด้วยเนื้อหานิทรรศการกว่า 50 หน้า พิมพ์ 4 สี สวยงาม เป็นคู่มือ "ล่องรอยราชดำเนิน" บนถนนราชดำเนินของจริงได้ด้วยนะ

1. บทนำ และเส้นเวลาของถนนราชดำเนิน

การบอกเล่าประวัติศาสตร์สังคมไทยผ่านถนนราชดำเนินโดยเฉพาะเรื่องพัฒนาการทางความคิด ดังจะเห็นว่าพื้นที่ทางกายภาพเกือบทุกจุดบนถนนสายนี้ล้วนผ่านการประชันความคิดของคนแต่ละยุคสมัยอย่างแหลมคม กล่าวได้ว่า แนวคิดใหม่ๆ ที่ล้ำสมัยของสังคมไทยล้วนได้รับการถกเถียงผ่านเรื่องราว ความทรงจำ และรูปแบบสถาปัตยกรรมบนถนนราชดำเนิน จึงเป็นธรรมดาที่แนวคิดใหม่ๆ เหล่านี้ย่อมต้องขับเคี่ยว ปะทะ หรือกระทั่งผสานกับแนวคิดที่มีอยู่เดิม

นำเสนอผ่านวีดิทัศน์โดยจำลองบรรยากาศ สนามมวยราชดำเนิน ซึ่งสนามมวยแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดหนึ่งที่ล้ำสมัยที่ปรากฏบนราชดำเนิน กล่าวคือ การทำให้มวยไทยมีมาตรฐานย่อมสนับสนุนให้มวยไทยสามารถโลดแล่นในแวดวงหมัดมวยโลกได้



2. “ล่อง รอย”

ขอเชิญ "ล่อง" ไปตาม "รอย" ในฐานะที่ "ราชดำเนิน" เป็นเวทีประชันความคิดอย่างแหลมคมมาตลอด 121 ปี เราขอเชิญทุกท่าน Scan QR code เส้นทาง 8 เส้น เพื่อเข้าไปสำรวจประสบการณ์และความทรงจำของผู้คนอันหลากหลายที่ผูกพันกับราชดำเนินในแง่มุมที่ต่างกัน ขอเชิญทุกท่านทะลุกรอบ นำตนเองเข้าไปสู่สถานการณ์และประสบการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจชีวิตและความเห็นต่าง อันจะนำไปสู่ “ขันติธรรม” ความเห็นอกเห็นใจ การไม่ด่วนตัดสิน อันจะช่วยให้การประชันความคิดดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์


/คนไร้บ้าน/คนศึกษายุค 14 ตุลาฯ/สถาปนิก/วัยรุ่นยุคเบบี้บูมเมอร์/วังปารุสก์/พนักงานดูแลสวนกรุงเทพฯ/รสชาติแห่งยุคสมัย/วัยรุ่นผู้หลงใหลวรรณกรรม/

3. สถานที่สำคัญบนถนนราชดำเนิน

การนำเสนอสถานที่สำคัญบนถนนราชดำเนินโดยเลือกมาทั้งสิ้น 18 จุด ที่สามารถสะท้อนประวัติศาสตร์ความคิดและประวัติศาสตร์สังคมไทยได้เป็นอย่างดี ผ่านข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมประสบการณ์และความทรงจำอันหลากหลายของผู้คนหลายช่วงอายุที่จะผสานให้ถนนราชดำเนินมีชีวิตและเป็นถนนราชดำเนินของทุกคน

4. นิทรรศการ “ภัณฑารักษ์วัยเก๋า”


มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ในฐานะสถาบันทางสังคมแห่งหนึ่งที่ย่อมต้องมีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมไทย นอกจากนี้ มิวเซียมสยาม ยังมีพันธกิจในการเป็นห้องปฏิบัติการทางด้านพิพิธภัณฑ์ ที่ย่อมต้องเท่าทันต่อประเด็นเชิงสังคมร่วมสมัย โดยที่ปัจจุบัน สังคมไทยเข้าสู่ภาวะ สังคมสูงวัย เรียบร้อยแล้ว และในปี 2564 จะเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัยสมบูรณ์” กล่าวคือ จะมีประชากรสูงวัยมากถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด มิวเซียมสยาม จึงคิดค้นช่องทางด้านพิพิธภัณฑวิทยา ในการตอบสนองต่อภาวะดังกล่าว


ดังนั้น ในปี 2562 มิวเซียมสยามจึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ภัณฑารักษ์วัยเก๋าเล่าเรื่องราชดำเนิน” ขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงวัยได้เป็น “ผู้เล่าเรื่อง” ในพิพิธภัณฑ์ แทนที่จะเป็นเพียงผู้รับบริการ โดยได้คัดเลือกผู้สูงวัยจำนวน 16 ท่าน เข้ารับการอบรมและปฏิบัติการเป็นภัณฑารักษ์ ผ่านทักษะต่าง ๆ เช่น การเล่าเรื่อง การถ่ายภาพ การตัดสินวีดิทัศน์ด้วยโทรศัพท์มือถือ การลงพื้นที่สัมภาษณ์ข้อมูลชุมชนริมราชดำเนิน จากนัั้นก็นำมาประมวลเป็น นิทรรศการขนาดย่อม “My ราชดำเนิน” และภัณฑารักษ์วัยเก๋าทุกท่าน ก็มีส่วนร่วมมาโดยตลอดในการพัฒนาเนื้อหานิทรรศการ “ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย” ชุดนี้


ข้อสรุปจากการดำเนินงาน : เราไม่พบผู้สูงวัย หากมีเพียง “หนุ่มสาวจากยุคเบบี้บูมเมอร์” เท่านั้น และการนำพาสังคมไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ที่ดีที่สุด หาใช่การเตรียมพร้อมคนวัยใกล้เกษียณไม่ เพราะเราทุกคน-ทุกเจนเนอเรชั่น ล้วนต่างเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ “การผสานวัย” ผ่านการให้คุณค่าแก่ความทรงจำและประสบการณ์ อันเป็นสิ่งที่ก่อร่างสร้างตัวตนของเราทุกคน



เว็บไซต์หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร http://www.bangkokcitylibrary.com/

เว็บไซต์มิวเซียมสยาม https://www.museumsiam.org/