รำบวงสรวงพ่อพันท้ายนรสิงห์

ในคราวประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี (จังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน) ของสมเด็จพระเจ้าเสือ (พระสรรเพชญ์ที่ ๘) แห่งกรุงศรีอยุธยา มีความบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า ครั้นเรือพระที่นั่งไปถึงคลองโคกขาม และคลองที่นั้นคดเคี้ยวมากสุดกำลังของพันท้ายนรสิงห์จะคัดวาดแก้ไขทันท่วงทีทำให้เรือพระที่นั่งพุ่งเข้าชนกิ่งไม้ใหญ่บนชายฝั่งศรีษะเรือพระที่นั่งหักตกลงไปในน้ำพันท้ายนรสิงห์จึงกราบทูลให้พระเจ้าเสือตัดศีรษะตนตามพระราชกำหนดในบทพระอัยการ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนรุ่นหลังต่อไป พระเจ้าเสือจึงดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตแล้วทำศาลเพียงตาสูงขึ้นให้เอาศีรษะเรือของพระที่นั่งซึ่งหักขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล จากความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินเคร่งครัดต่อพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล สละได้แม้แต่ศีรษะของตน แม้จะได้รับการอภัยโทษก็ตาม ทำให้ชื่อของพันท้ายนรสิงห์ ไม่เพียงแต่ได้รับการกล่าวขานมาทุกวันนี้เท่านั้น

ประเพณีบวงสรวงพันท้ายนรสิงห์ จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ความเสียสละ และคุณงามความดีของพันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือพระที่นั่งในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) โดยยึดเอาปฏิทินจันทรคติ คือ วันขึ้น ๘ - ๑๐ ค่ำเดือน ๓ ของทุกปี ในงานบวงสรวงทั้ง ๓ วัน ประกอบด้วย

วันที่ ๑ วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ประกอบพิธีสงฆ์ ช่วงเช้าทำบุญ ตักบาตร ช่วงเย็นสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้พันท้ายนรสิงห์และผู้ที่ล่วงลับ

วันที่ ๒ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ ประกอบพิธีบวงสรวง ช่วงเช้าตั้งศาลเพียงตาบริเวณด้านทิศตะวันออกของศาลพันท้ายนรสิงห์ ประกอบด้วยเสา ๔ เสา เป็นปะรำพิธี ตรงกลางมีโต๊ะวางเครื่องบวงสรวง และหลังจากเสร็จพิธีบวงสรวงแล้ว มูลนิธิพันท้ายนรสิงห์ จัดมอบทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนมีความประพฤติดี มอบบ้านและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ผู้ยากไร้ในเขตพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ และมอบประกาศนียบัตรแก่บุคคลตัวอย่าง เช่น บุคคลที่เก็บเงินได้แล้วส่งคืนให้เจ้าของ บุคคลที่อุทิศที่ดินสร้างศาลพันท้ายนรสิงห์ เป็นต้น จากนั้นในช่วงเย็นเป็นพิธีสวดมนต์เย็น

วันที่ ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ เป็นการประมูลสิ่งของ ช่วงเช้าทำพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จำนวน ๙ รูป ต่อด้วยการประมูลเครื่องบวงสรวงที่ ประชาชนนำมาร่วมในพิธีบวงสรวงแล้วไม่นำกลับ เช่น ผลไม้ ไม้พาย นวม (ชกมวย) เสาไม้หลักเขต ๔ เสา ผ้ายันต์ ไก่ปูนปั้น เป็นต้น


ประเภทแหล่งเรียนรู้ : ประเพณี

ประวัติความเป็นมาของแหล่งเรียนรู้ : กระทรวงวัฒนธรรม

สถานที่ ที่ตั้ง(พิกัด) ของแหล่งเรียนรู้ : ศาลพันท้ายนรสิงห์

สื่อประกอบ : มูลนิธิศาลพันท้ายนรสิงห์

ข้อมูลอื่นๆ : กระทรวงวัฒนธรรม

ผู้บันทึกข้อมูล : นางสาววลิดา ดีสมบูรณ์