พิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสี

พิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสี

พิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสี ที่ตั้ง หมู่ที่ 8 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

ถิ่นฐานเดิมของไทญ้อ อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ของประเทศลาวหรือจังหวัดล้านช้างของไทยสมัยหนึ่ง ไทญ้อส่วนใหญ่ได้อพยพ มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไชยบุรี ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง (ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2351 ต่อมาเมื่อเกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในสมัย รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2369) พวกไทยญ้อที่เมืองไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไปแล้วให้ไปตั้งเมืองอยู่ ณ เมืองปุงลิง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อยู่ในเขตแขวงคำม่วนประเทศลาว) อยู่ระยะหนึ่งต่อมาได้กลับมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตั้งเป็นเมืองท่าอุเทนเมื่อ พ.ศ. 2373 คือ บริเวณท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน

พระครูอุดมกิจพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดคามวาสี ซึ่งเป็นวัดประจำชุมชนบ้านโพนจึงมีดำริที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมไทญ้อให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานและพัฒนาชุมชนบ้านโพนให้เป็นชุมชนวัฒนธรรมเพื่อรองรับกระแสการท่องเที่ยวชุมชนที่กำลังเป็นที่นิยม จึงได้รวบรวมโบราณวัตถุภายในวัดมาจัดแสดงในตู้กระจกเพื่อให้นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนได้เยี่ยมชม ต่อมาจึงได้จัดสร้างเรือนไทญ้อขึ้นมา 1 หลัง โดยพยายามจำลองรูปแบบเรือนไทญ้อบ้านโพนในอดีต ตลอดจนพัฒนาบริเวณวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วัดคามวาสีจึงเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อที่มีการจัดแสดงแบบเต็มรูปแบบทั้งบริเวณวัด

นอกจากนี้ ภายในวัดคามวาสียังมีศาลาขนาดเล็กเรียงรายอยู่ภายในบริเวณวัด ตามศาลาเหล่านี้มีข้อมูลเกี่ยวกับงานประเพณีของชาวไทญ้อบ้านโพน ตลอดจนทำเป็นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียนได้ ด้านหน้ามีโรงเก็บฮางหดซึ่งทำขึ้นมาใหม่ตามแบบของเดิมที่ชำรุด มีศาลาการเปรียญทำด้วยไม้ยกพื้นสูง ชั้นล่างปล่อยโล่งเพื่อทำกิจกรรมในร่วม และยังมีลานสำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้งภายในวัดอีกด้วย


อ้างอิง : https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1560

ภาพถ่าย : เพจ พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย