ภูมิปัญญาท้องถิ่น

“กระติบน้อยอิ่มสุข...การสานกระติบข้าวจากไม้ไผ่”

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีมรดกทางวัฒนธรรมเก่าแก่มาเนิ่นนานและยังคงรักษาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเครื่องจักสานในภูมิภาคนี้คือในด้านวัตถุดิบ ความถนัดของช่างฝีมือจักสาน ขนบธรรมเนียม สภาพแวดล้อมต่างๆ เป็นต้น และเครื่องจักสานที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ก๋วย(ตะกร้า,เข่ง) ซ้งหวด(หวด,ภาชนะที่ใส่ข้าวสารนึ่ง) ก่องข้าว กระติบข้าว ขันโตก กระบุง กระจาด ตะกร้า และเครื่องจักสานประเภทจับสัตว์น้ำ เป็นต้น ดังนั้นความเข้าใจในธรรมชาติและสามารถเลือกสรรคุณสมบัติเด่นของพันธุ์ไม้บางชนิด เช่น หวาย ไผ่ กก มะพร้าว ปอป่าน ลาน ย่านลิเภาและคลุ้มเป็นต้น นำมาดัดแปลงใช้ประโยชน์ด้วยการจักสาน หรือถัก ทอ เพื่อประสานลวดลายติดต่อกันให้เป็นแผ่นใหญ่ แล้วจึงแปรสภาพเป็นภาชนะจักสานที่มีรูปร่างต่างๆมากมาย

กระติบข้าว คือ ภาชนะในการเก็บอาหารที่เป็นงานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าชนิดหนึ่งที่มากด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นของที่มีประจำบ้านของชาวไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมายาวนาน ใช้สำหรับบรรจุข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วหรือใช้เก็บเมล็ดพันธุ์พืช หรือแม้แต่ใช้เป็นเครื่องประดับในครัวเรือนหรือประดับสถานที่ต่างๆ เป็นเครื่องจักสานที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ใบจาก ใบตาล ใบลาน ต้นคล้า หรือ จากต้นพืชที่มีลักษณะยาวเรียว


จากงานหัตถกรรมในครัวเรือน ก่อให้เกิดให้เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ตกทอดและสืบสานกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจึงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความ งามบริสุทธิ์แบบธรรมชาติ สะท้อนถึงความเป็นอิสระและการแสดงออกถึงความเฉลียวฉลาดและความสามารถของผู้จักสาน ชี้ให้เห็นคุณค่าทางอารยธรรมในการเข้าใจใช้วัสดุธรรมชาติให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของการดำรงชีวิต อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานอีกด้วย

นายเอก น้อยสีมุม

นายเอก น้อยสีมุม อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ที่ 1 บ้านต้นแหน ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากบรรพบุรุษ ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน และศึกษาเองจากความชอบส่วนตัว โดยมีแนวคิดในการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ อยากให้คนรุ่นใหม่ ลูกๆ หลานๆ เยาวชนรุ่นหลังและชาวบ้านทั่วไปได้ฝึกฝน ทั้งยังเป็นการสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาที่มีค่ายิ่งนี้สืบไป และยังอยากให้งานด้านหัตถกรรมการจักสานนี้อยู่คู่กับชุมชน ลูกหลาน เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้สนใจที่จะศึกษา ซึ่งนายเอก น้อยสีมุม ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ทั้งยังเป็นวิทยากรศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนให้แก่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาแกเรื่อยมา


ชาวบ้านชุมชนบ้านต้นแหน ได้นำการสานกระติบที่เป็นงานหัตถกรรมที่มีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม มีค่านิยมในการบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักของคนในชุมชน และคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งแต่เดิมภาชนะที่ใช้บรรจุข้าวเหนียวมักทำจากต้นไม้ต้นเล็กๆ นำมาเจาะลำต้นให้กลวงแล้วตัดเป็นท่อนขนาดสั้นๆเป็นกระบอก มีฝาปิด หรือบางครั้งก็ใช้ไม้ไผ่มาตัดเป็นกระบอกสั้นๆนำมาเป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียว ต่อมามีการคำนึงถึงปริมาณไม้ไผ่ในพื้นที่ซึ่งมีมากบ้างน้อยบ้างและความสะดวก หากนำต้นไผ่มาทั้งต้นแบบเดิมต้นไผ่ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน อีกทั้งภาชนะบรรจุข้าวเหนียวรูปแบบเดิมก็เทอะทะ พกพาไม่สะดวกในการเดินทางไกล จึงมีการริเริ่มนำเอาไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีกเล็กๆ มาเหลาเป็นแผ่นบางๆ นำมาจักสานเป็นตะกร้า กระบุง บรรจุข้าวสาร และพัฒนานำไม้ไผ่มาจักสานมาเป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียว (กระติบ) ซึ่งมีน้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดีทำให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ จะทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในยังมีความร้อนและข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ พกพาง่ายเพราะมีการทำสายสะพาย อีกทั้งยังมีหลายรูปแบบ ทั้งรูปทรงกลม รูปทรงรี หลากหลายขนาดสอดคล้องกับการใช้งาน มีทั้งกระติบขนาดเล็กสำหรับบรรจุข้าวเหนียวสำหรับรับประทานคนเดียว ขนาดกลางสำหรับรับประทาน 2-3 คน และขนาดใหญ่สำหรับรับประทานทั้งครอบครัว เป็นต้น

ชาวบ้านชุมชนบ้านต้นแหนจะใช้ช่วงเวลาว่างหลังจากการทำไร่ทำนา เลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งหาได้ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นเครื่องจักสาน เพื่อความสุข สนุกเพลิดเพลินในการรวมกลุ่มกันทำงานหัตถกรรม ตลอดจนสนองประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนของตนเองและสมาชิกในครอบครัว การสานกระติบเป็นงานที่มักจะกระทำกันภายในครอบครัวหรือชุมชน ซึ่งหลังจากรับประทานอาหารเย็นแล้ว คนในครอบครัวจะมารวมกันเพื่อช่วยกันทำงาน ทำให้เกิดความรักความอบอุ่น สมัครสมานสามัคคี เพราะเมื่อมารวมตัวกันทำงาน ก็จะมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนสอนลูกสอนหลานไปด้วย

กระบวนการการสานกระติบข้าว

วัสดุ

1. ไม้ไผ่ตง

2. มีดเหลาไม้

วิธีการ

1. นำไม้ไผ่ จำนวน 1 บ้อง จำนวน 1 บ้อง แล้วมาจักตอก

2. ขูดตอกเป็นเส้นเล็ก ๆ จำนวน 180 เส้น ใช้สำหรับทำฝากระติบ

3. เริ่มด้วยการสานลาย 3 (ยก 3 ข้าม 3) ลาย 2 และลายคลุบ (ยก 2 วาง 2ให้คว่ำ 3 เส้น) สานสลับกันไปเรื่อย ๆ ใช้เส้นตอกประมาณ 87 เส้น ฝาของของกระติบข้าวสานลายตะแหล่วห้อก้นของกระติบข้าว จะสานลายขัดธรรมดา จะมีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก

4. นำไปตากแดด ประมาณ 2 - 3 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้มอดกัดไม้และตัวกระติกจะยุบตัว ถ้าไม่ได้ตากแดดให้เต็มที่

ที่มา : นายเอก น้อยสีมุม หมู่ที่ 1 บ้านต้นแหน ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , กระติบ , https://bit.ly/3yST0ww , สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2565

เรียบเรียงโดย : นางสาวเกษร สร้อยจิตร ครูผู้ช่วย กศน.อำเภอนาแก

ภาพถ่ายโดย : นางสาวแคทรียา ตรีสอน ครู กศน.ตำบลนาแก