อาชีพท้องถิ่น

วิถีชีวิตทุ่งรวงทองของชาวนาแก..."การทำนา"

การทำนา หมายถึง การปลูกข้าวและการดูแลรักษาต้นข้าวในนา ตั้งแต่ปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว การปลูกข้าวในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไปตามสภาพของดินฟ้าอากาศ และสังคมของท้องถิ่นนั้น ๆ ในแหล่งที่ต้องอาศัยน้ำจากฝนเพียงอย่างเดียว ก็ต้องกะระยะเวลาการปลูกข้าวให้เหมาะสมกับช่วงที่มีฝนตกสม่ำเสมอ และเก็บเกี่ยวในช่วงที่ฤดูฝนหมดพอดี เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีสภาพดินฟ้าอากาศที่แตกต่างกัน

สำหรับการทำนาในอำเภอนาแกมีปัจจัยหลัก 2 ประการ เป็นพื้นฐานของการทำนาและเป็นตัวกำหนดวิธีการปลูกข้าวและพันธุ์ข้าวที่จะใช้ในการทำนาด้วยหลัก 2 ประการ คือ

1.สภาพพื้นที่ ( ลักษณะเป็นพื้นที่สูงหรือต่ำ ) และภูมิอากาศ

2.สภาพน้ำสำหรับการทำนา


ฤดูทำนาปีในเขตตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ปกติจะเริ่มราวเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคมของทุกปี ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน เมื่อ 3 เดือนผ่านไปข้าวที่ปักดำหรือหว่านเอาไว้จะสุกงอมเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว ส่วนนาปรัง สามารถทำได้ตลอดปีเพราะพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกเป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เมื่อข้าวเจริญเติบโตครบกำหนดอายุก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้
การปลูกข้าวสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ
1. การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง ได้แก่ การทำนาหยอดและนาหว่าน (การทำนาหยอด ใช้กับการปลูกข้าวไร่ตามเชิงเขาหรือในที่สูง วิธีการปลูก หลังการเตรียมดินให้ขุดหลุมหรือทำร่อง แล้วจึงหยอดเมล็ดลงในหลุมหรือร่อง จากนั้นกลบหลุมหรือร่อง เมื่อต้นข้าวงอกแล้วต้องดูแลกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช)

2.
การเพาะเมล็ดในที่หนึ่งก่อน (เพาะกล้า) แล้วนำต้นอ่อนไปปลูกหรือปักดำในที่อื่นๆ ได้แก่ การทำนาดำ และ การทำนาโยน

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอำเภอนาแก เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนา หลักๆ ชาวบ้านตำบลนาแกจะทำทั้งนาดำ และนาหว่าน โดยสาเหตุที่มีทั้ง 2 วิธีเนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านภูมิประเทศและปัจจัยด้านภูมิอากาศ หากปีไหนฝนดี น้ำมาไว ฝนไม่ทิ้งช่วง ชาวบ้านจะเลือกวิธีการทำนาเป็นนาหว่าน เพราะประหยัดและทันต่อการได้น้ำของต้นข้าว หากปีไหนน้ำมาช้า ฝนทิ้งช่วง ชาวบ้านจะทำการปลูกกล้าไว้ก่อน พอน้ำมาหรือฝนเริ่มตกบ่อย ปริมาณน้ำในทุ่งนาเพียงพอ ก็จะถอนกล้าที่ปลูกไว้ไปดำตามพื้นที่ๆได้เตรียมไว้ การชลประทานในพื้นที่มีแต่ว่าบางปียังคงมีปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเลยทำให้พื้นที่ๆอยู่สูงขึ้นไปอาจจะขาดน้ำในการทำนา วิธีแก้ไขคือใช้แหล่งน้ำชลประทาน

ข้าวที่นิยมปลูกของชาวบ้านตำบลนาแกคือข้าวเหนียว กข.6 เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก และข้าวหอมมะลิรองลงมา ในปัจจุบันได้มีการทดลองปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ เป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวสายพันธุ์ท้องถิ่น กข.6 ผสมกับพันธุ์ข้าวเจ้าต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง คัดสายพันธุ์มาเป็นข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ “หอมนาคา” เป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวเหนียวจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเกษตรกรลุ่มน้ำโขง ให้มีคุณภาพ และได้ปริมาณผลผลิตมากขึ้นจากเดิม เพิ่มมูลค่า ยกระดับคุณภาพการผลิตข้าวเหนียว สร้างรายได้ สร้างอาชีพที่ยั่งยืน แก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ พร้อมส่งเสริมช่องทางการตลาด เพิ่มรายได้ให้กับเกษตร

อย่างไรก็ดีถึงแม้ลักษณะภูมิประเทศของตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม จะมีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสม มีดินที่อุดมสมบูรณ์มีคุณสมบัติในการปลูกข้าวสูง แต่เกษตรกรส่วนมากก็ยังคงพึ่งยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี เป็นหลัก ทำให้ผลผลิตที่ได้ในบางปีอาจไม่ดีเท่าที่ควรและสภาพดินจะเกิดการแข็งกระด้าง สะสมนานวันเข้าดินก็จะเสื่อมสภาพ ซ้ำยังปัญหาเรื่องน้ำที่อาจไม่เพียงพอในบางพื้นที่ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาแก เล็งเห็นปัญหาต่างๆในจุดนี้ จึงได้มีการเข้าไปสนับสนุนศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กลุ่มการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ โดยให้ประชาชนกลุ่มสนใจเข้ามาร่วมอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆเพื่อร่วมกันเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพและการนำไปใช้อย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ตนเอง และครอบครัว

การทำปุ๋ยหมักชีวภาพของชุมชน

ลักษณะนาดำ

ลักษณะนาดำ

ลักษณะนาดำ

ลักษณะนาดำ

ลักษณะนาหว่าน

ลักษณะนาหว่าน

ลักษณะนาหว่านเวลาข้าวออกรวง

รวงข้าวสีทอง

ที่มา : https://www.toyota.co.th/rrc/knowledge_farmgarden.php , สืบค้นเมื่อ10กรกฎาคม2565

https://www.77kaoded.com/news/tawee/2285143, สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2565
เรียบเรียงโดย : นางสาวเกษร สร้อยจิตร ครูผู้ช่วย กศน.อำเภอนาแก
ภาพถ่ายโดย : นางสาวเกษร สร้อยจิตร ครูผู้ช่วย กศน.อำเภอนาแก