ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี

“กุศโลบายวิถชาวนา สืบสานประเพณีอันล้ำค่า บุญกองข้าวของชาวภูไท ”

ประเพณีบุญกองข้าว เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของคนอีสาน จัดทำขึ้นใเดือนสาม ตรงกับขึ้นสามค่ำของทุกปี เหตุเพราะคนอีสานเชื่อว่า ในเดือนสาม ขึ้นสามค่ำของทุกปีฟ้าจะไข (เปิด) ประตูฝน ฟ้าจะร้องฝนจะตก คนโบราณจะคอยสังเกตเสียงของฟ้าร้อง ว่าร้องมาจากทางทิศใด เพื่อมาทำนายน้ำฝนว่าจะมากหรือน้อย และเตรียมตัวรับกับสถานการณ์น้ำในฤดูกาลทำนาในปีถัดไป

งานประเพณีบุญกองข้าว เป็นประเพณีบุญที่เปิดโอกาสให้ชาวนาในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ทำบุญร่วมกัน หลังจากที่เสร็จสิ้นภาระในการเก็บเกี่ยวข้าวในนา ดังนั้นช่วงเวลาในการทำบุญกุ้มหรือบุญกองข้าวใหญ่ จึงกำหนดเอาเวลาระหว่างเดือนยี่ถึงเดือนสาม ในส่วนของการทำบุญนั้นชาวนาทุกคนจะมาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

จุดมุ่งหมายของการทำบุญกองข้าวใหญ่คือ เพื่อร่วมกันจัดหาทุนทรัพย์ให้แก่ทางวัดเพื่อเป็นกองทุนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ในการบริจาคคราวนี้ชาวบ้านจะไม่บริจาคเงินแต่จะบริจาคเป็นข้าวเปลือก เหตุผลเพราะชาวนาไม่มีเงินแต่มีข้าว อันเป็นผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของตนเป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สองก็เพื่อจะได้ทำบุญด้วยข้าวในยุ้งของตนเอง


ในปัจจุบัน ยุคสมัยเปลี่ยน เยาวชนและชาวบ้านบางส่วนได้หลงลืมศิลปวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไป แม้กระทั่งการรู้บุญคุณของข้าว ละเลยการให้ความสำคัญแก่สถาบันครอบครัว หลงลืมถิ่นเกิดเมืองนอน ผู้เฒ่าผู้แก่และผู้นำชุมชนจึงได้มีแนวคิดหรือกุศโลบายวิถีชีวิตของชาวนาขึ้น เพื่อสืบสานประเพณีอันล้ำค่าที่มีมาอย่างช้านานของคนในชุมชน ก่อเกิดเป็นประเพณี "บุญกองข้าวของชาวภูไท"
สำหรับ
ประเพณีบุญกองข้าวของชุมชนทุ่งสว่าง ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ได้จัดทำขึ้นในเดือนสาม ตรงกับวันขึ้นสามค่ำของทุกปี โดยเปิดโอกาสให้ชาวนาในชุมชนทุ่งสว่างได้ทำบุญร่วมกัน หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจจากการเก็บเกี่ยวข้าวในนา ดังนั้นช่วงเวลาในการทำบุญกองข้าวใหญ่ จึงกำหนดช่วงเวลาระหว่างเดือนยี่ถึงเดือนสาม โดยชาวนาทุกคนในชุมชนจะเป็นเจ้าภาพร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายในการทำบุญร่วมกันคือ

1. เพื่อร่วมกันจัดหาทุนทรัพย์ให้แก่ทางวัด และเป็นกองทุนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

2. เพื่อร่วมจัดหาทุนทรัพย์ที่ใช้ในการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานของทางชุมชเช่น ซ่อมแซมถนน ช่วยเหลือผู้ยากจน ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

3. เพื่อสร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน

4. เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณี ในการทำบุญกองข้าวของชาวภูไท ที่อาศัยอยู่ในชุมชน ให้คงอยู่สืบไป
5. เฉลิมฉลองถวายพระแม่โพสพตามประเพณีหลังฤดูการเก็บเกี่ยว


ชาวชุมชนทุ่งสว่างได้บริจาคข้าวในการทำบุญกองข้าว หากครอบครัวใดไม่ได้ทำนาหรือไม่มีข้าวก็จะบริจาคเป็นตัวเงินหรือสิ่งของอื่นๆที่ใช้ในการทำบุญ ผู้ที่มีข้าวก็จะนำข้าวมากองรวมกันที่วัด เพื่อที่จะประกอบพิธีทางศาสนา มีการสวดมนต์ในตอนเย็นรอบกองข้าว ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนจะมารวมตัวกันที่วัด และฟังธรรม ส่วนในตอนเช้า จะมีการทำบุญตักบาตร ฟังธรรม บุญกองข้าวของชาวภูไทจึงถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันโดดเด่นที่มีเอกลักษณ์ และในปัจจุบันยังคงมีการสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เห็นความสำคัญของประเพณีบุญกองข้าวที่มีมาอย่างช้านาน และสืบสานให้คงอยู่สืบไป


ชาวบ้านร่วมกันทำบุญตักบาตร

ที่มา : นายชัยณรงค์ คำมุงคุณ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลนาแก , 9 กรกฎาคม 2565

https://www.thailocalwisdom.com/index.php/localdata-2/socialsystem/item/155-2019-06-08-10-11-59 , สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2565

เรียบเรียงโดย : นางสาวเกษร สร้อยจิตร ครูผู้ช่วย กศน.อำเภอนาแก

อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดย : นายชัยณรงค์ คำมุงคุณ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม