ชื่อเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชุมชน ตำบลบางกรวย

ผ้าไหมไทย เป็นผ้าไหมซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากผ้าไหมทั่วไป กล่าวคือ มีแสงแวววาวเป็นมันเลื่อม เนื้อผ้าเเข็งไม่เรียบ อ่อนนุ่ม มีน้ำหนักบางชนิดเป็นปุ่มปมอันเนื่องมาจากระดับคุณภาพซึ่งเกิดในกระบวนการผลิตแต่ก็ทำให้ได้รับความนิยมของคนบางกลุ่มเพราะดูแล้วมีความแปลกในปัจจุบันมีการนำเข้าวัตถุดิบเส้นไหม และเส้นใยสังเคราะห์จากต่างประเทศ ทั้งมีการนำเข้าถูกกฎหมายและลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมาย ทำให้วัตถุเส้นไหมจึงมีทั้งคุณภาพได้มาตรฐานและคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานทำให้ผ้าไหมไทยมีคุณภาพต่ำลง กระนั้นผู้ผลิตก็ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์ว่า "ผ้าไหมไทย" หรือ "Thai Silk" เพื่อการค้า

“ผ้าไหม” นอกจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า สืบทอดภูมิปัญญาที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของชาติไทย โดยเสน่ห์ของผืนผ้าไหมไม่เพียงอยู่ที่เส้นใยที่นำมาถักทอแล้ว ยังมีลวดลายและเรื่องราวปรากฏอยู่บนผืนผ้าไหม เช่น ลายไทย ดอกไม้รูปทรงเลขาคณิต รูปสัตว์ สัญลักษณ์ประจำท้องถิ่นต่างๆ มากมาย ที่มีความละเอียดอ่อน สวยงาม เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มงานแฮนด์เมดผู้สูงวัยบางกรวย” นำผ้าไหมมาประยุกต์ใช้กับ “โอ่ง” เครื่องปั้นดินเผาที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนนทบุรี มาผสมผสานสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดเป็น “โอ่งผ้าไหม” สร้างอัตลักษณ์ใหม่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น


คุณสิริกร นาคโต หรือ “พี่ตุ๊” เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเป็นผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนฯ ได้นำทักษะจากการเรียนเอก-วิชาศิลปะและโท-อุตสาหกรรมศิลป์ที่โรงเรียนเพาะช่างหรือวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน รวมถึงทักษะจากการเป็นครูสอนศิลปะ หัตถกรรม และครูคอมพิวเตอร์ เสริมกับการเข้ารับฟังการอบรมจากวิชาชีพต่างๆ ที่ทางเทศบาลเมืองบางกรวยได้จัดอบรมอยู่เป็นประจำ นำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางศิลปะ เช่น ศิลปะการตกแต่งผ้าไทย ศิลปะการปักริบบิ้น หรือการทำงาน D.I.Y. ด้วยการจัดตั้งกลุ่มงานอาชีพก่อน กระทั่งวันหนึ่ง สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนนทบุรี ได้เสนอให้เขียนโครงการกลุ่มวิชาชีพ เพื่อทำการจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มงานแฮนด์เมดผู้สูงวัยบางกรวย”หลังจากได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนฯ ขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ก็ได้แบ่งแยกกลุ่มงานตามความถนัดของสมาชิกผู้สูงวัย อาทิ กลุ่มงานผ้า กลุ่มงานสาน กลุ่มงานเย็บปัก งานปั้น รวมถึงการจัดกลุ่มงานสำหรับผลิตสินค้าที่ตรงกับเทศกาล วันสำคัญต่างๆ อาทิ การจัดทำดอกไม้วันเกิด ซึ่งได้รับความนิยม

ในการผลิต “โอ่งผ้าไหม” มีการผลิตที่หลากหลายรูปแบบ หลายขนาด จำเป็นต้องจัดทำแบบให้เหมาะสมกับขนาดของโอ่งแต่ละขนาดไว้แล้ว และวาดแบบลงบนโอ่งไว้ให้พร้อมครบทุกชิ้นส่วนก่อนลงมือทำ ทั้งนี้เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการทำงานความยากง่ายของแบบขึ้นอยู่กับแนวคิดของกลุ่มว่าจะออกแบบมาในลักษณะใด ก็ต้องออกแบบและตัดแบบมาให้ได้ตามนั้น โอ่งใบใหญ่ที่มีฝาปิดจะมีรูปแบบที่ยากกว่าโอ่งใบเล็ก ซึ่งอาจต้องใช้ผู้สูงวัยที่มีความชำนาญมากกว่า จึงต้องมีการแบ่งงานกันทำตามความสามารถของแต่ละคน เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ สำหรับผลิตภัณฑ์โอ่งผ้าไหมนอกจากจะนำมาเป็นของประดับตกแต่งบ้านแล้ว ยังได้ออกแบบให้เป็นของใช้ เช่น โอ่งผ้าไหมใส่กระดาษทิชชู โอ่งใส่ดินสอ ปากกา หรือเครื่องเขียนอื่นๆ

งานรังสรรค์ผลิตภัณฑ์โอ่งดินธรรมดาเป็นโอ่งผ้าไหม ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งแสดงถึงความสวยงาม ประณีตวิจิตร บรรจง ด้วยกระบวนการประดิษฐ์ที่ประกอบไปด้วยขั้นตอน หรือศาสตร์ที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญเฉพาะด้านที่เป็นที่ยอมรับของผู้สูงวัยในชุมชน เกิดเป็นผลงานปรากฏให้เห็นคุณค่า มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป แม้มีอุปสรรคในเรื่องคุณภาพของโอ่งดินที่ไม่ได้มีรูปทรงที่สวยงาม จำเป็นต้องมาขัดกลึงให้กลมเกลี้ยงเท่ากันทุกใบก็ตาม