การแทงหยวก

การแทงหยวก เป็นวิชาความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยใช้วัสดุที่หาง่ายคือต้นกล้วย มาสร้างงานฝีมือซึ่งมักใช้ในงาน ตกแต่งประดับประดา เมรุเผาศพ งานบวช งานกฐิน และงาน ตกแต่งอื่นๆ สืบทอดกันมาหลายร้อยปี ขั้นตอนการแทงหยวกและประกอบเข้าเป็นลายชุด นั้น มี 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือขั้นเตรียมหยวกกล้วย ขั้นแทงลวดลายลงบนหยวก และขั้นประกอบเป็นลายชุด ซึ่งแต่ละขั้นตอนนั้น มีคุณค่าสูงด้านศิลปะ จิตใจ ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น การแทงหยวก เป็นภูมิปัญญาที่นับวันจะเลือนหายไปจากสังคมไทย จึงควรได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน เผยแพร่ ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

การแทงหยวกเริ่มจากการเขียนแบบ วาดลวดลายลงในกระดาษ จากนั้นร่างในตัวหยวกแล้วแทงด้วยมีดแทงหยวกเจาะตามลวดลายที่วาดไว้ ซึ่งมีลวดลายที่โดดเด่นหรือได้รับความนิยมกันมาก เช่น ลายกนกเปลว หรือแล้วแต่จะออกแบบลายเองไม่มีตายตัว ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ของช่าง ส่วนมากจะเป็นลายตั้งแนวนอน

รายได้ของชาวบ้านในตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง จากการรับเหมางานแทงหยวกในงานต่างๆ ครั้งละ 5,000 – 35,000 บาท โดยทำร่วมกับทีมงานซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 – 4 คน โดยมีค่าแรงตามความยากง่ายของชิ้นงาน ช่วงที่มีงานบวช งานเทศกาล ก็จะทำให้มีรายได้มาก เดือนหนึ่งราวๆ 2 – 3 งาน ทำให้มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000 บาท/คน


การแทงหยวกเป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญและใช้สมาธิสูง ช่างที่แทงหยวก ต้องเป็นช่างที่มีฝีมือเพราะไม่มีการวาดลวดลายหรือร่างภาพบนหยวก ช่างต้องจดจำแบบแผนของลายที่จะฉลุลงไปบนหยวกได้อย่างแม่นยำ ลวดลายที่นำมาใช้ต้องเหมาะสมกับประเภทของงานและเหมาะสมกับการทำงานด้วย นอกจากนี้ ยังต้องรีบทำให้เสร็จโดยเร็วเนื่องจากหยวกกล้วยเหยี่ยวเฉาได้ง่าย จะคงรูปอยู่ได้ประมาณ 1-2 วันเท่านั้น ดังนั้น ช่างแทงหยวกจึงต้องทำงานให้เสร็จภายในวันเดียว คือ ถ้าทำในเวลาเช้าจะต้องใช้งานเวลาบ่าย หรือทำกลางคืนก็จะใช้ในวันรุ่งขึ้น จึงต้องมีผู้ช่วยหลายคนคอยช่วยเหลือแบ่งงานกันทำ