สืบเนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม เชื่อว่าจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม จึงขอความร่วมมือจากกรมแผนที่ทหาร(กองบัญชาการทหารสูงสุด)ดำเนินการตรวจสอบตามหลักวิชาการ ทำให้ทราบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานมีศูนย์กลางอยู่ที่พิกัด เส้นรุ้ง 16 11 54.3209N หรือ เส้นแวง 103 04 24.9818E ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินเอกชนบริเวณบ้านเขวา ตำบลเหล่า ทางทิศใต้ของอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ทางจังหวัดจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดมหาสารคามให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และศูนย์กลางวัฒนธรรมทั้ง 20 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายใต้ชื่อ“อนุสรณ์สถานสะดืออีสาน”


คำว่า“สะดือ”ในภาษาอีสานเรียกว่า“บือ”ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของร่างกายและสิ่งต่างๆ จึงมีแนวคิดเรื่องกึ่งกลางของพื้นที่เพื่อสร้างความสำคัญของจุดพิกัดดังกล่าว การออกแบบสัญลักษณ์สะดืออีสานยังสะท้อนถึงความสำคัญเกี่ยวกับภูมิปัญญาบรรพบุรุษและเป็นศูนย์รวมแห่งใหม่ของชาวอีสานด้วย จึงได้กำหนดพื้นที่ตั้งโครงการไว้ที่โรงเรียนบ้านเขวา ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งและห่างจากจุดพิกัดสะดืออีสานไปประมาณ 400 เมตร

เคยได้ยินเรื่องสะดืออีสานหรือจุดกึ่งกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมานาน เลยขอมาสำรวจอำเภอโกสุมพิสัยด้วยคนเพราะอยากทราบเช่นกันว่า ใจกลางของภาคอีสานอยู่ตรงไหนกันแน่ วันนี้เราเดินทางมาที่บ้านเขวา(อ่านว่า“ขะ-เหวา”)เพื่อชมอนุสรณ์สถานสะดืออีสานซึ่งอยู่ใกล้กับจุดกึ่งกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด

บน – ประมาณสองกิโลเมตรจากบึงกุยก่อนถึงบ้านเขวา ริมทางบนถนนใหญ่จากตัวเมืองโกสุมพิสัยจะมีแลนด์มาร์กสะดืออีสานเป็นใบเบิกทางก่อน


เมื่อเลี้ยวขวาเข้าบ้านเขวาจากถนนใหญ่ แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางโรงเรียนบ้านเขวาอีกร้อยเมตร ก็จะเจออนุสรณ์สถานสะดืออีสานอยู่ติดกับโรงเรียนเลย

ซ้ายบน – พอเดินผ่านประตูทางเข้า เราจะเห็นอนุสรณ์สถานสะดืออีสานโดดเด่นอยู่เบื้องหน้า

ขวาบน – ถ้ามองไปซ้ายมือ บรรยากาศดูโปร่งสะอาดตา มีทางเดินคอนกรีตโดยรอบทิศพร้อมสนามหญ้า ส่วนอาคารมุมไกลคือศาลาอเนกประสงค์พื้นหินอ่อน

ซ้ายกลางบน – สี่มุมของอนุสรณ์สถานสะดืออีสานมีหอหลักเขตครบทั้งสี่ด้าน (จากภาพ ไกลออกไป เราจะเห็นทางเข้าจากประตูด้านหน้าด้วย)

ซ้ายกลางล่าง – แต่ถ้าไปทางขวา จะมีศาลาที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในให้ผู้คนได้กราบไหว้กัน ขณะที่รอบนอกมีสนามหญ้าและต้นลั่นทมปลูกไว้

ขวากลาง - คราวนี้ขึ้นไปด้านบนบ้าง ภาพนี้เป็นบันไดพื้นกรวดล้างก่อนขึ้นสู่อนุสรณ์สถานสะดืออีสาน

ซ้ายล่าง – เมื่อขึ้นมาแล้ว ด้านบนจะมีหลักเขตตั้งอยู่กลางฐานอย่างที่เห็น

ขวาล่าง – และภาพนี้ก็คือ เพดานสี่เหลี่ยมด้านบนถ้าเราแหงนหน้ามองขึ้นไป (อนึ่ง อนุสรณ์สถานสะดืออีสานแห่งนี้ห่างจากบ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นตำแหน่งสะดืออีสานจริงๆเพียงไม่กี่ร้อยเมตร)