วัฒนธรรม ประเพณี

วัฒนธรรมประเพณีของตำบลท่าเกวียน

อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

ประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟ

ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทยรวมไปถึงลาว โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทานพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ ช่วงเวลาของประเพณีบุญบั้งไฟคือเดือนหกหรือพฤษภาคมของทุกปี

1. บุญบั้งไฟ นิยมทำกันในเดือนหก ถือเป็นประเพณีสำคัญที่จะขาดไม่ได้ เพราะตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านเขาจาน ตำบลท่าเกวียน มีความเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำนา แต่ถ้าปีใดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัย งานบุญบั้งไฟจึงถือเป็นงานประเพณี ประจำปีที่สำคัญของชาวอีสาน พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสานไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้านไปร่วมงานบุญบั้งไฟซึ่งเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี


2. ประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ

ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)

บุญผะเหวด หรือที่เรียกวันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งใหญ่ อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลมนุษยชาติ ในตำนานฮีตสิบสอง ได้กล่าวถึงการทำบุญผะเหวด ไว้ว่า "ฮอดเดือนสี่ ให้พากันเก็บ ดอกจาน สานบั้งไผ่เสียบดอกจิก" ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไปของชาวอีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือนสาม พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาตินี้เอง และในงานนี้ ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิ์ผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสุขตามพุทธคติ การจัดงานประเพณีบุญผะเหวดในรอบหนึ่งปีจะจัดเพียงครั้งเดียว คือ ระหว่างเดือนสาม เดือนสี่ ไปจนถึงกลางเดือนห้า โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า ธูปเทียน วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อนและเครื่องคาวหวาน สำหรับผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดรตั้งแต่กัณฑ์ที่หนึ่ง ถึงกัณฑ์สุดท้าย


อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)

งานประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ของหมู่ 3 บ้านนางามหมู่ 1 และหมู่ 14 บ้านท่าเกวียน มีการสืบทอดประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติเป็นประจำทุกปีของตำบลท่าเกวียน โดยมีวันโฮมบุญก่อน พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อนและเครื่องคาวหวาน สำหรับผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด วันต่อมาจะมีการแห่พระเวสสันดรชาดก โดยทำเป็นขบวนแห่ มีการประดับตกแต่งขบวนแห่แต่ละขบวนให้มีความสวยงามและเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร

ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ

งานประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งใหญ่ อันมีการสละความเห็นแก่ตัว ของพระเวสสันดร เพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ มีการฟังเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์แรก ถึงกัณฑ์สุดท้าย โดยเชื่อว่าถ้าฟังเทศน์มหาชาติครบทุกกัณฑ์ภายในวันเดียวจะทำให้ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์ การได้รับรู้ถึงความเสียสละของพระเวสสันดร ทำให้ผู้คนได้ซาบซึ้งถึงความดีอันยิ่งใหญ่ เกิดความซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา มีผลต่อจิตใจของผู้คนให้ยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติ เป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงามของผู้คน จนทำให้มีการสืบทอด สืบสานประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติของหมู่ 3 บ้านนางามหมู่ 1 และหมู่ 14 บ้านท่าเกวียน จากรุ่นสู่รุ่น การจัดงานประเพณีจึงมีคุณค่าทางสังคมเพราะประเพณีทางศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในสังคม เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธทุกคนที่ประพฤติปฏิบัติแบบเดียวกันในวันดังกล่าว