การทำไม้กวาดทางมะพร้าว

"ไม้กวาดทางมะพร้าว.....สร้างรายได้"

นายกมล มีแดนไผ่ เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2498 อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38/2 หมู่ที่ 8 ตำบลไผ่ขวาง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เล่าว่า เป็นคนตำบลไผ่ขวางมาแต่กำเนิด ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กๆ ก็เห็นว่าภายในหมู่บ้านมีไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก อาชีพของพ่อแม่ในสมัยนั้นก็จึงจะต้องหาใช้สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาทำให้เกิดประโยชน์คือ ทำจักสานไม้ไผ่ ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น กระด้ง กระบุง ตะกร้าต่างๆ เป็นต้น ส่วนตัวลุงกมล มีแดนไผ่ เองนั้น ก็ได้เรียนรู้ด้วยวิธีครูพักลักจำ จดจำขั้นตอนการทำต่างๆ ในการจักสานไม้ไผ่มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ เมื่อโตขึ้นอายุได้ 18 ปี ลุงกลม จึงได้สานต่ออาชีพของพ่อและแม่ เพื่อเป็นรายได้ให้กับครอบครัว แต่ทำได้ไม่นาน ลุงกมล ก็ค้นพบว่า ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ เป็นสิ่งที่มีอายุการใช้งานได้ยาวนาน กว่าจะเสื่อมสภาพก็เป็นเวลาหลายปี ผู้คนจึงไม่ค่อยซื้อผลิตภัณฑ์จักสานไปใช้บ่อยนัก ซึ่งทำให้ลุงกมล ไม่ค่อยมีรายได้จากการทำจักสานไม้ไผ่ ประจวบเหมาะกับในช่วงนั้น ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.ตำบลไผ่ขวาง) ได้มีโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน (กลุ่มสนใจไม่เกิน 30 ชั่วโมง) วิชาการทำไม้กวาดทางมะพร้าว มาสอนให้กับชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลไผ่ขวาง ลุงกมล จึงได้ไปเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่นั้นมาลุงกมล จึงกลับมาคิดทบทวนผนวกกับความรู้ที่ได้รับ ว่าการทำไม้กวาดทางมะพร้าว คือ ภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่คนไทยเรารู้จักคิดค้นหาวิธีประดิษฐ์ขึ้นจนสำเร็จ และสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และไม้กวาดทางมะพร้าวก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำความสะอาดที่ต้องมีติดไว้ทุกบ้าน และเมื่อใช้ไปได้ไม่นานก็เกิดการสึกหรอหักพังเป็นธรรมดา ทำให้ต้องมีการซื้อใช้อยู่บ่อยๆ อีกทั้งสามารถหาซื้อได้ง่ายในราคาไม่สูงมากนัก และซึ่งภายในตำบลไผ่ขวางก็มีวัสดุอุปกรณ์ภายในท้องถิ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ลุงกมลสนใจและหันมาหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้สามารถทำไม้กวาดทางมะพร้าวให้ได้เร็วขึ้น มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น จึงทำให้ลุงกมลได้ยึดการประกอบอาชีพทำไม้กวาดทางมะพร้าวขายเป็นหลัก ให้มีซึ่งสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงหาเลี้ยงครอบครัวได้ ลุงกมลทำอาชีพนี้มานานจนมีความชำนาญมากๆ ทางหน่วยงานต่างๆ ของราชการ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ได้เห็นถึงการมีประสบการณ์ จึงได้เชิญให้ไปเป็นวิทยากรให้ความรู้และสอนปฏิบัติด้านการทำไม้กวาดทางมะพร้าว ทำให้ความรู้และทักษะต่างๆ ได้ถูกถ่ายทอดให้กับประชาชนภายในจังหวัดพิจิตรอย่างแพร่หลาย และลุงกมล ได้กล่าวว่า หากมีใครสนใจที่จะไปเรียนรู้การทำไม้กวาดทางมะพร้าว ลุงก็สามารถสอนเทคนิค ขั้นตอนวิธีทำให้ได้ฟรีๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะลุงกมล ถือว่าเป็นการถ่ายทอดและสืบสานอาชีพให้กับคนที่อยากมีรายได้จริงๆ


ตัวอย่างขั้นตอนการทำไม้กวาดทางมะพร้าว

วัสดุอุปกรณ์

1. ก้านมะพร้าว ที่เหลาใบย่อยออกและผึ่งแดดแล้ว ประมาณ 300-350 ก้าน

2. ไม้สำหรับทำด้ามจับแนะนำไม้ไผ่ เพราะว่า น้ำหนักเบา แข็งแรง และตอกตะปูง่าย

3. เชือก ลวด มีด ค้อน คีมตัด ตะปู สีน้ำมันกันสนิม

ขั้นตอนการทำ

1. นำก้านมะพร้าวที่เหลา และผึ่งแดดให้แห้งสนิทแล้วมามัดรวมกันเป็นมัดเล็กๆ ประมาณ 6 มัด

2. จากนั้นตัดโคนก้านให้เป็นระเบียบเสมอกัน ส่วนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ให้นำมาตอกตะปูบริเวณปลายไม้ 2 จุด โดยแต่ละจุดควรห่างกันประมาณ 10เซนติเมตร และที่สำคัญต้องตอกให้เหลือหัวตะปูโผล่ไว้ประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วนำเชือกหรือลวดมามัดกับหัวตะปูด้วย

3. เสร็จแล้วให้เอาก้านมะพร้าวที่เราแบ่งไว้เป็นมัด ๆ มาล้อมปลายด้ามไม้ไผ่ โดยให้โคนก้านสูงกว่าตะปูเล็กน้อย แล้วนำเชือกหรือลวดที่เราผูกติดกับหัวตะปูไว้ทั้งสองจุดมามัดรอบก้านมะพร้าวให้แน่นชิดติดกัน

4. อาจมัดด้วยลวดทับอีกชั้นหรือตอกตะปูให้แน่น ป้องกันไม่ให้ทางมะพร้าวขยับขณะใช้งาน

5. สุดท้ายก็ทาสีน้ำมันกันสนิม จากนั้นตากแดดไว้สัก 2-3 วัน ก็จะได้ไม้กวาดทางมะพร้าวที่พร้อมใช้


ผู้ให้ข้อมูล นายกมล มีแดนไผ่

ผู้เรียบเรียง นางวาริพินทุ์ อินตา