ทอผ้าพื้นเมือง
ทอผ้าพื้นเมือง บ้านโคกถาวร ตำบลนาข่า อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
ผ้าพื้นบ้าน ผ้าทอด้วยกี่หรือหูกพื้นบ้าน ตามกรรมวิธีที่ สืบทอดกันมาแต่โบราณ มักทอด้วยฝ้ายหรือไหม ผ้าพื้นบ้านหรือผ้าทอมือมีกรรมวิธีการทอต่างๆกัน เช่น ทอเรียบ ๆ ไม่มีลาย เรียกผ้าพื้น ทอเป็นลวดลายเรียก ผ้ายก ทอเป็นลวดลายด้วยการจก เรียก ผ้าจก ผ้าทอเป็นลวดลายโดยการขิด เรียก ผ้าขิด ทอเป็นลวดลายด้วยการมัดย้อม เรียก ผ้ามัดหมี่ เป็นต้น ผ้าพื้นบ้านไทย (ภาคอีสาน)เป็นกลุ่มชนเชื้อสายลาวที่มีกำเนิดในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและยังมีกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่น ข่า ผู้ไท โส้ แสก กระเลิง ย้อ ซึ่งกลุ่มไทยลาวนี้มีความสำคัญยิ่งในการผลิตผ้าพื้นเมืองของอีสานส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากฝ้ายและไหมแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำเอาเส้นใยสังเคราะห์มาทอร่วม ด้วยผ้าที่นิยมทอกันในแถบอีสานเหนือคือผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด และผ้าแพร ผ้ามัดหมี่ เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองที่ใช้กรรมวิธีในการย้อมสีที่เรียกว่าการมัดย้อม(tie dye)เพื่อทำให้ผ้าที่ทอเกิดเป็นลวดลายสีสันต่างๆเอกลักษณ์อันโดดเด่นก็อยู่ตรงที่รอยซึมของสีที่วิ่งไปตามบริเวณของลวดลายที่ผูกมัดและการเหลื่อมล้ำในตำแหน่งต่างๆของเส้นด้ายเมื่อถูกนำขึ้นกี่ ในขณะที่ทอลวดลายสีสันอันวิจิตรจะได้มาจากความชำนาญของการผูกมัดและย้อมหลายครั้งในสีที่แตกต่างซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษการทอผ้ามัดหมี่จะมีแม่ลายพื้นฐาน 7ลายคือ หมี่ขอ หมี่โคม หมี่บักจัน หมี่กงน้อย หมี่ดอกแก้ว หมี่ข้อและหมี่ใบไผ่ ซึ่งแม่ลายพื้นฐานเหล่านี้ดัดแปลงมาจากธรรมชาติ เช่น จากลายใบไม้ ดอกไม้ชนิดต่างๆ สัตว์ เป็นต้นศิลปะการทำผ้ามัดหมี่นั้นทำได้โดยการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีและลวดลายก่อนแล้วจึงนำไปเรียงทอบนกี่ออกมาเป็นผืนผ้าวัฒนธรรมการทำผ้ามัดหมี่ของไทยนั้นนิยมทำกันที่ไหมเส้นพุ่งเท่านั้น ผ้ามัดหมี่แต่ละชิ้นนั้นมักไม่มีการซ้ำกัน ถึงแม้ว่าจะมีสีสันลวดลายเดิมวางไว้เป็นตัวอย่างก็ตาม ทั้งนี้เพราะว่าทุกขั้นตอนของการประดิษฐ์ ล้วนเกิดจากน้ำมือและน้ำพักน้ำแรงของคนทั้งสิ้น ความมีเสน่ห์ของผ้าไหมมัดหมี่ในแต่ละชิ้นก็คือ “ความเป็นชิ้นเดียวในโลก” นั้นเองจึงนับว่าเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่ายิ่ง
อุปกรณ์ในการทอผ้า
1.หูก เป็นเครื่องมือสำหรับทอผ้า มีหลายขนาดและชนิด แต่มีหลักการพื้นฐานอย่างเดียวกันคือ การขัดประสานระหว่างด้ายเส้นพุ่ง และด้ายเส้นยืน จนแน่นเป็นเนื้อผ้า
2. ฟืม หรือฟันหวี มีลักษณะคล้ายหวี ยาวเท่ากับความกว้างของหน้าผ้าทำด้วยโลหะ มีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ มีกรอบทำด้วยไม้หรือโลหะ แต่ละซี่ของฟืมจะเป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืนเข้าไป เป็นการจัดเรียงด้ายยืนให้ห่างกันตามความละเอียดของเนื้อผ้า เป็นส่วนที่ใช้กระทบให้เส้นด้ายที่ทอเรียงติดกันแน่นเป็นผืนผ้า
3.กง ใช้สำหรับใส่ไจหมี่
4. อัก ใช้สำหรับกวักหมี่ออกจากกง
5.หลักตีนกง (ไม้ที่ใช้ยึดทั้งสองข้างในการกวักด้าย)
6. หลา เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับปั่นหลอด จากอักมาสู่โบกเพื่อทำเป็นทางต่ำ (เส้นพุ่ง) เข็นหรือปั่นหมี่ 2 เส้นรวมกัน เรียกว่า เข็นรังกัน เข็นควบกันหรือเข็นคุรกัน ถ้าเป็นหมี่คนละสีเข็นรวมกันแล้วเรียกว่า มับไมใช้แกว่งหมี่ ขั้นตอนนี้เป็นการเก็บปุ่มที่เรียกว่า ขี้หมี่ออกจากเส้นหมี่และยังทำให้เส้นหมี่บิดตัวแน่นขึ้น ใช้ทำเป็นทางเครือ
7.กระสวย ใช้บรรจุหลอดหมี่พุ่งสอดไประหว่าง ช่องว่างของเส้นหมี่ยืน ต้น และปลายเรียวตรงกลางเจาะเป็นช่องสำหรับใส่หลอดด้าย
8. หลอดใส่ด้าย หลอดด้ายค้น (ลูกค้น) เอุปกรณ์สำหรับใช้ในการค้นเส้นด้าย โดยเส้นด้ายทุกเส้นจะถูกม้วนหรือพันเก็บไว้ในหลอดค้น ลักษณะเป็นหลอดยาว 8 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้วหลอดค้นทำจากไม้ไผ่
9. หลักเฝีย ใช้ในการค้นฝ้าย
10. โฮงมี่ ใช้สำหรับมัดหมี่
11.กี่ ใช้สำหรับทอผ้า
ขั้นตอนในการทอผ้า
1. สืบเส้นด้ายยืนเข้ากับแกนม้วนด้ายยืน และร้อยปลายด้ายแต่ละเส้นเข้าในตะ กอแต่ละชุดและฟันหวี ดึงปลายเส้นด้ายยืนทั้งหมดม้วนเข้ากับแกนม้วนผ้าอีกด้านหนึ่ง ปรับความตึงหย่อนให้พอเหมาะ กรอด้ายเข้ากระสวยเพื่อใช้เป็นด้ายพุ่ง
2. เริ่มการทอโดยกดเครื่องแยกหมู่ตะกอ เส้นด้ายยืนชุดที่ 1 จะถูกแยก ออกและเกิดช่องว่าง สอดกระสวยด้ายพุ่งผ่าน สลับตะกอชุดที่ 1 ยกตะกอชุดที่ 2 สอดกระสวยด้ายพุ่งกลับ ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ
3. การกระทบฟันหวี (ฟืม) เมื่อสอดกระสวยด้ายพุ่งกลับก็จะกระทบ ฟันหวี เพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกัน ได้เนื้อผ้าที่แน่นหนา
4. การเก็บหรือม้วนผ้า เมื่อทอผ้าได้พอประมาณแล้วก็จะม้วนเก็บใน แกนม้วนผ้า โดยผ่อนแกนด้ายยืนให้คลายออกและปรับความตึงหย่อนใหม่ ่ให้พอเหมาะ
อ้างอิงจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน
ผู้เขียน นายภาคภูมิ คำพันธุ์
ผู้ถ่ายภาพ นายภาคภูมิ คำพันธุ์