ภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลนาคูณใหญ่ การสานกระติบข้าว

ชาวบ้านตำบลนาคูณใหญ่ ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมหลังจากพ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนใหญ่จะว่างงาน ผู้นำครอบครัวที่เป็นผู้ชายก็ต้องทำงานรับจ้างตามฤดู ส่วนแม่บ้านจะทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรหลานส่วนหนึ่งรับจ้างทั่วไป หารายได้พอจุนเจือครอบครัว เพื่อรอฤดูการเพาะปลูกครั้งต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวม ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่นและไม่มีอาชีพเสริมขาดรายได้ นางสดใส ปิลอง ได้มีแนวความคิดที่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่ชาวบ้านในชุมชนไปทำงานที่อื่น โดยเริ่มรวมกลุ่มแม่บ้านที่มีฝีมือด้านการจักสานซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นมรดก

นางสดใส ปิลอง ประธานกลุ่ม ซึ่งมีพื้นฐานในการจักรสานและสมาชิกได้มีการ ถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการทำกระติบข้าวให้แก่สมาชิกเองและผู้สนใจ โดยกศน.อำเภอนาหว้า ให้คำแนะนำให้ความรู้ ในการบริหารจัดการกลุ่ม จึงก่อเกิด “กลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านหนองหัวงัว” ขึ้น นางสดใส ปิลอง เป็นประธานกลุ่ม โดยมีกระติบข้าวเป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่ม ที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่ที่ ศูนย์หัตถกรรมชุมชน หมู่ 5 ตำบลนาคูณใหญ่ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

ต่อมากลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านหนองหัวงัว ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีสมาชิกเพิ่มจานวนมากขึ้นจากเดิม 10 คน แต่ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 25 คน หน่วยงานส่วนราชการท้องถิ่น เห็นความมุ่ง มั่นของกลุ่มจึงให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ จึงนำเงินมาใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม และจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ในการจักสาน กลุ่มกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านหนองหัวงัว ได้พัฒนาสินค้าให้หลากหลาย ให้ทันสมัย รูปแบบที่แปลกใหม่ และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าซึ่งกลุ่มสามารถสานกระติบข้าวและของใช้ที่ทำจากไม้ไผ่ ลวดลายและตัวอักษรตามที่ลูกค้าต้องการ กระติบข้าว เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวของชาวอีสานที่ทรงคุณค่า มากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบ หรือกระติบข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากกระติกน้ำแข็ง ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าขาวบางรองอีกที ก่อนบรรจุข้าวเหนียว แต่เม็ดข้าวที่อยู่ชิดรอบขอบกระติกก็ยังคงแฉะอยู่ดี ทาให้ผลิตภัณฑ์กระติบข้าวที่ทำจากไม้ไผ่นี้เป็นที่ยอมรับ และยังคงอยู่ตลอดมา สร้างรายได้ให้กับชุมชนในการสร้างงาน และยังสืบสานความรู้ของการจักสานไว้


ผู้ให้ข้อมูล นางสดใส ปิลอง

ผู้เรียบเรียง นายภูริวัจน์ วะชุม