วัดหนองปลิง

อุโบสถศิลาแลงแห่งเดียวในโลก

ภณิดา บุญจันทึก.(2565).ภาพถ่าย

ภณิดา บุญจันทึก.(2565).ภาพถ่าย

ภณิดา บุญจันทึก.(2565).ภาพถ่าย

ภณิดา บุญจันทึก.(2565).ภาพถ่าย

ภณิดา บุญจันทึก.(2565).ภาพถ่าย

ภณิดา บุญจันทึก.(2565).ภาพถ่าย

วัดหนองปลิง อุโบสถศิลาแลงแห่งเดียวในโลก

ภณิดา บุญจันทึก.(2565).ภาพถ่าย

ภณิดา บุญจันทึก.(2565).ภาพถ่าย

อุโบสถ ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำ สังฆกรรม ซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของ พระภิกษุสงฆ์จะ ใช้เพียงพื้นที่โล่งๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรมโดยการกำหนดตำแหน่ง “สีมา” เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้นอีกทั้งภายในพระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ทำให้มีผู้มาสักการบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้าง ขึ้นเป็นอาคารถาวรและมักมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

ศิลาแลง เป็นวัสดุธรรมชาติที่เกิดขึ้นบริเวณมรสุมเขตร้อน ซึ่งคนในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอดีตได้มีการนำศิลาแลงมาบดผสมกับยางไม้ใช้เป็นสีในการวาดภาพตามถ้ำและหน้าผาหินและได้นำศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างวัดและปราสาทหินดังที่พบเห็นในประเทศไทย กัมพูชา และลาว ซึ่งสถานที่ที่สามารถพบศิลาแลง ได้แก่ บริเวณเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร วัดพระแก้ว
วัดพระธาตุ วัดอาวาสใหญ่ วัดซุ้มกอ วัดสิงห์ วัดกรุสี่ห้อง และบ่อศิลาแลงพรานกระต่าย

อุโบสถที่สร้างด้วยศิลาแลงจากหินธรรมชาติแห่งเดียวในโลก ที่วัดหนองปลิง ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร รอบอุโบสถแกะสลักลวดลายเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างวิจิตรงดงาม อุโบสถแห่งนี้สร้างจากศิลาแลง ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของเมืองกำแพงเพชร โดยทางวัดได้จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวผู้สนใจทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชม

วัดหนองปลิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2540 โดยมี พระครูวิเชียรธรรมนาท หรือหลวงพ่อสีหนาท เป็นท่านเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งแต่เดิมสถานที่บริเวณนี้เคยเป็นที่พักรบและซ้อมรำดาบ รำทวน ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาก่อน ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านชื่อว่า “เมืองเนินทอง” ปัจจุบันวัดหนองปลิงเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกำแพงเพชร ภายในวัด ประกอบด้วย อาคารขนาดใหญ่สามชั้น ชั้นแรกเป็นห้องพักสำหรับผู้มาอาศัยปฏิบัติธรรม ชั้นที่ 2 เป็นห้องสำหรับประกอบพิธีบุญ และชั้นที่ 3 เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ที่ใช้อบรมสัมมนา จุดเด่นของวัดหนองปลิง ที่ใครเห็นก็ต้องทึ่ง นั่นคือ โบสถ์ศิลาแลงสุดตระการตา ที่ใช้หินศิลาแลงในการสร้าง ด้วยความตั้งใจของหลวงพ่อสีหนาท เพราะศิลาแลงเป็นวัสดุขึ้นชื่อของกำแพงเพชร ดั่งคำขวัญจังหวัดท่อนหนึ่งว่า “ศิลาแลงใหญ่” โดยให้ช่างผู้ชำนาญเป็นคนแกะสลักศิลาแลงเป็นลวดลายต่างๆ ที่ประณีตและละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว ตรงบันไดทางขึ้น ประดับด้วยรูปปั้นของนาคี-นาคา เป็นผู้คอยปกปักรักษาโบสถ์และรูปปั้นช้างทรงเครื่อง หน้าประตูทางเข้าโบสถ์ ประดับด้วยเท้าเวสสุวรรณ ส่วนผนังโบสถ์ด้านหลังสลักเป็นพระพุทธรูปปางเปิดโลก อิริยาบถยืนอยู่เหนือดอกบัว ข้างใต้เป็นภาพ 12 ราศี เปรียบเหมือนพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ ตลอดจนกำแพงรอบโบสถ์ก็ยังแกะสลักเป็นคติสอนธรรมและพุทธประวัติมีมากกว่า 100 ช่อง

เมื่อเข้ามาด้านในโบสถ์ จะพบเพียงห้องโล่งๆ ที่กรุด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง เนื่องจากยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ มีพระประธานโบสถ์ คือ พระพุทธเจ้าเงินไหลมา เนื้อทองบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 32 นิ้ว เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้สักการบูชา และเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองกำแพงเพชรสืบไป

ปัจจุบันวัดหนองปลิงเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกำแพงเพชร โบสถ์ที่วัดหนองปลิงสร้างด้วยศิลาแลงจากหินธรรมชาติทั้งหลัง จนกลายมาเป็น โบสถ์ศิลาแลงแห่งเดียวในโลก แกะสลักลวดลายเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างงดงามบนเนินเขา ริมสายน้ำปิงลมพัดโบกโบยเย็นสบายตลอดทั้งวันริมคลองบางทวนดินแดนทางประวัติศาสตร์ เป็นวัดที่สวยงามและออกแบบแปลกไม่เหมือนใคร

สถานที่ตั้งวัด เลขที่ 733 ม.3 ตำบล หนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร กำแพงเพชร 62000สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดกำแพงเพชร แล้วมุ่งหน้าไปทางบ่อสามเสน เลยไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเข้าสู่ตำบลหนองปลิง และวัดหนองปลิงห่างจากตัวเมืองกำแพงเพชร 6.8 กิโลเมตร

วัดหนองปลิง มีองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นมิติทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมได้อย่างดี เช่น โบสถ์ศิลาแลง มีพระประธานภายในโบสถ์ คือ พระพุทธเจ้าเงินไหลมาซึ่งจะแสดงสถาปัตยกรรมการออกแบบตามแบบแผนสกุลช่างของจังหวัดกำแพงเพชร และยังเป็นที่แสดงภาพแกะสลักที่ปรากฏภายนอกตามผนังโบสถ์ และกำแพงรอบโบสถ์ซึ่งแสดงพระไตรปิฎก พระธรรมจักร ภาพคติธรรมและพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ใช้เป็นหลักยึดถือร่วมกันภาพแกะสลักนี้ในแต่ละช่องจะมีภาพที่แสดงแตกต่างกันเพื่อต้องการสื่อสารให้ผู้มาเที่ยวชมได้รับทราบถึงแง่คิด ความเชื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนมิติทางความเชื่อและวัฒนธรรมของผู้สร้างได้ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาทัศนศึกษาจะเข้าใจสังคมไทยได้อย่างดี

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกำแพงเพชร.(2565).“วัดหนองปลิง”[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก: https://kpt.onab.go.th/th/content/category/detail/id/20/iid/6587. สืบค้น 15 สิงหาคม 2565.

MGRONLINE.(2565).“เยือนกำแพงเพชรชม“โบสถ์ศิลาแลง”งดงามแปลกตาหนึ่งเดียวในโลก”[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/travel/detail/9640000046673. สืบค้น 15 สิงหาคม 2565.

ฐานข้อมูลท้องถิ่นกำแพงเพชร-ตาก. (2565). “โบสถ์ศิลาแลง วัดหนองปลิง จังหวัดกำแพงเพชร” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://arit.kpru.ac.th/ap2/local//?nu=pages&page_id=2114&code_db=610009&code_type=01. สืบค้น 15 สิงหาคม 2565.

ภณิดา บุญจันทึก.(2565).ภาพถ่าย


เขียนโดย นางสาวภณิดา บุญจันทึก ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย กศน.อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพภ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวภณิดา บุญจันทึก

ข้อมูลเนื้อหาโดย นางสาวภณิดา บุญจันทึก