เจ้าแม่เซ่งเนี๊ย ได้โปรดคุ้มครองให้ตนและครอบครัว รวมทั้งคณะเดินทางให้ประสบกับความปลอดภัย แคล้วคลาดจากภยันตรายในท้องเลให้มีชีวิตมาถึงแผ่นดินสยาม เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวประวัติศาลเจ้าแม่แซ่งเนี้ย (เพ็คเล่งตึ้ง) ที่ตั้งอยู่ท้ายตลาดน้ำดอนหวาย ตามที่มีแผ่นหินอ่อนสีแดงสลักของความไว้ เสียงบทสวดภาษาจีนลวดลายมังกรเป็นร่องรอยวัฒธรรมไทยเชื้อสายจีน 80 ปี โพ้นทะเลแห่งนี้

เมื่อมีโอกาสได้มาเยือนตลาดน้ำดอนหวาย ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ส่วนหนึ่งของสถานที่นี่แห่งนี้ยังคงมีเรื่องราวและวัฒธรรมประเพณีซ่อนไว้ให้ค้นหา ทางด้านท้ายตลาดน้ำดอนหวายหรือต้นทางของตลาดน้ำดอนหวาย ที่กล่าวแบบนี่เพียงเพราะการเลือกสถานที่จอดรถถ้าจอดรถไว้ทางลานจอดรถของวัดดอนหวาย ศาลเจ้าเจ้าแม่เซ่งเนี๊ย จะอยู่ท้ายตลาดน้ำดอนหวาย แต่ถ้าเลือกจอดรถทางด้านศาลเจ้าแม่เซ่งเนี๊ย จะนับว่าเป็นต้นทางเริ่มต้นของตลาดน้ำดอนหวาย

จุดเด่นที่สะดุดตาคงหนีไม่พ้น สีแดง เป็นสีแห่งความเป็นมงคลในความเชื่อของคนจีน จึงถ่ายทอดพลังงานออกเป็นความหมายของ “ธาตุไฟ” ตามสมดุลของธาตุในจักรวาล กราบสักการะศาลเจ้าเจ้าแม่เซ่งเนี๊ย (เพ็คเล่งตึ้ง)จุดธูป ตามที่มีแผ่นหินอ่อนสีดำสลักไว้เป็นวิธีสักการะ ที่นี่ยังมีประวัติศาลาเจ้าไว้ให้ศึกษาได้มีเวลายืนอ่านจนจบแผ่นหินอ่อน ใจความลึกซึ้งทำให้หวนย้อนตามไปในอดีต ศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย (เพ็คเล่งตึ้ง) ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน โดยบรรพบุรุษชาวจีนโพ้นทะเล ที่อพยพมาจากมณฑลตอนใต้ของประเทศจีน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยรัชกาลที่6

“เจ้าแม่เซ่งเนี้ย” เป็นปางหนึ่งของเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนตอนใต้ให้ความเคารพนับถือมาก จนได้รับการขนานนามว่า “เจ้าแม่ทะเลใต้” ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ทางด้านปกปักรักษาการเดินทางทางน้ำและท้องทะเล และด้านโชคลาภค้าขาย โดยคำว่า “เนี้ย” ในภาษาจีนแปลว่า “แม่” สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาทางเรือจากทางตอนใต้ของประเทศจีนในสมัยโบราณจะต้องรอนแรมฝ่าภยันตรายทั้งพายุ คลื่นลมและโรคร้ายมาเป็นเวลาแรมเดือนกว่าจะถึงแผ่นดินสยาม ในขณะเดินทางคาดว่าคงจะมีการบนบานศาลกล่าวให้องค์ “เจ้าแม่เซ่งเนี้ย” ได้โปรดคุ้มครองให้ตนเองและครอบครัว รวมทั้งคณะเดินทางให้ประสบกับความปลอดภัย แคล้วคลาดจากภยันตรายในท้องทะเลให้มีชีวิตมาถึงแผ่นดินสยามเพื่อมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

ครั้นเมื่อเรือเดินทางอย่างปลอดภัยเข้าเขตราชอาณาจักสยาม ก็แล่นเข้ามาถึงปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน ผ่านตามลำน้ำขึ้นมาตามลำดับ บรรพบุรุษก็ได้เลือกเอาชัยภูมิที่เป็นคุ้งน้ำในลักษณะท้องพญามังกรซึ่งเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง เป็นที่พำนักอาศัยและก่อสร้างชุมชนขึ้น แต่ก็ยังได้คำนึงถึงพระคุณขององค์ “เจ้าแม่เซ่งเนี้ย” ที่ปกปักรักษาพวกตนมาจนอยู่รอดปลอดภัยจากการเดินทางแรมเดือนในท้องทะเล จึงรวมตัวกันสร้างศาลเจ้าไม้เล็กๆ ตามกำลังศรัทธาที่มีในขณะนั้น โดยหันหน้าลงสู่แม่น้ำท่าจีน เพื่อสักการะและเป็นที่ประดิษฐานองค์ “เจ้าแม่เซ่งเนี้ย” เทพเจ้าแห่งท้องทะเล และโชคลาภ ตามที่ตนและคณะเดินทางได้บนบานศาลกล่าวไว้ขณะเดินทาง โดยตั้งชื่อศาลว่า ศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย (เพ็คเล่งตึ๊ง) ซึ่งคำว่า “เพ็คเล่งตึ๊ง”แปลความหมายว่า “ศาลเจ้าพญามังกรหยก” ตามชัยภูมิที่ตั้งศาลแห่งนี้

บรรยายโดยรอบคึกคักควันธูปที่ฟุ้งกระจายตามลมพัดแข่งกับการค้าขายในตลาดน้ำดอนหวาย เหมือนดูไม่สงบแต่กลับสมดุลมีมนต์เสน่ห์น่าทึ่ง ค่อย ๆ เดินมองดูรายละเอียดศิลปะที่อยู่โดยรอบศาลเจ้า แล้วนั่งสั่งชาหวาน ๆ เย็นสักแก้วที่ร้านขายตั้งอยู่ด้านหน้าของศาลเจ้า เพ่งมองสิ่งต่างรอบสายตาก็ไปสะดุดกับงานรูปปั้นมังกรสองตัวที่พันอยู่กับเสาประตูซ้ายขวาหน้าทางเข้าศาลเจ้า เงยหน้ามองขึ้นไปบนหลังคาก็ยังเห็นมังกรตัว มองแล้วก็เกิดความสงสัยว่า มังกร มีความสำคัญกับศาลเจ้าจีนอย่างไร

บริเวณจุดสำคัญในศาลเจ้า อาทิ เสา ประตูต่างๆ และหลังคา นอกจากมังกรแล้วเรายังสังเกตเห็นกำแพงหน้าต่างข้างประตูทางเข้ามีประติมากรรมแกะสลักรูปหงส์อยู่ทั้งสองด้าน ยิ่งพินิจพิจารณาศิลปะรูปสัตว์เหล่านี้คงไม่ใช่เพียงสัตว์ของตกแต่งประจำศาลเจ้า ขณะนั่นเองแลเห็นผู้ชายใส่เสื้อขาว ใส่แว่นตา นั่งอ่านหนังสือจากชั้นวางบ้านหนังสือชุมชนตลาดน้ำดอนหวายพร้อมด้วย ชุดกาน้ำชาลายคนจีนบุผ้าสีชมพู ถ้วยน้ำชาสีแดง เดินเข้าไปสอบถามข้อมูล เจ๊กเส็ง ชายผู้ดูแลศาลเจ้าศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย (เพ็คเล่งตึ๊ง) ถึงที่มาของมังกร

เจ็กเส็ง ผู้ใจดีเล่าให้ฟังด้วยหน้าอิ่มเอิบว่า “มังกร” และ “หงส์” ในศาลเจ้าจีนไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงาม ไม่ใช่เป็นเพียงภาพจิตรกรรมทั่วไปหรอก แต่ภาพสัตว์เหล่านี้มีความหมาย เพราะเป็นสัตว์มงคลตามคติความเชื่อของชาวจีน จึงนำมาไว้ที่นี่เพื่อความเป็นสิริมงคลการประดับตกแต่งศาลเจ้าด้วยสัญลักษณ์มงคล มังกร ถือเป็นสัตว์มงคลที่มีความสำคัญมากที่สุด ตามความเชื่อของชาวจีนมังกรเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ สามารถกันไฟได้ และเมื่อใช้มังกรกับไข่มุกไฟคู่กันก็ทำให้เกิดความสมบูรณ์ของพลังหยิน-หยาง ซึ่งการนำสัญลักษณ์มังกรมาใช้ในศาลเจ้าจึงมีความเกี่ยวข้องกับธาตุทั้งห้า คือ ทอง น้ำ ไม้ ไฟ และดิน

นอกจากแผ่นหินอ่อนสลักสีแดงที่ตั้งสง่ามีข้อมูลของศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย (เพ็คเล่งตึ๊ง) ไว้ให้ศึกษาแล้ว เจ็กเส็ง เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีข้อมูลเก็บบันทึกเป็นคลังชุมชนอีกเพียบ นั่งฟังจนลืมไปเลยว่าต้องไปเดินตลาดน้ำดอนหวาย ก่อนออกจากที่นี่ได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่หาเรียนรู้ในห้องเรียนไม่ได้ถ้าไม่ออกมาค้นพบสิ่งที่มีอยู่จริงชุมชนแห่งนี้อนุรักษ์วัฒธรรมไทยเชื้อสายจีน 80 ปี โพ้นทะเล สืบสาน ส่งเสริมร่วมคนคนในท้องถิ่น ชุมชนไว้อย่างสมดุล

ตำแหน่งที่ตั้ง : ศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย (เพ็คเล่งตึ๊ง) หมู่ที่ 5 ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

การเดินทาง : โดยรถยนต์ จากสะพานปิ่นเกล้า มุ่งตรงไป ถนนปิ่นเกล้า - นครชัยศรี ผ่าน ถนนพุทธมณฑล สาย 1-2-3 เมื่อผ่านถนนพุทธมณฑลสาย 4 สังเกต ป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายเข้าพุทธมณฑลสาย 5 ขับเข้ามายังถนนพุทธมณฑลสาย 5 ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเจอสี่แยกเลี้ยวขวา มุ่งตรงสู่วัดดอนหวาย รวมระยะทางจาก สะพาน ปิ่นเกล้า - วัดดอนหวาย 27 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 15 - 30 นาที - ใช้เส้นทาง ถนนเพชรเกษม จากสี่แยกท่าพระ ตรงมาเรื่อยๆ ผ่าน บางแค หนองแขม ผ่านทางแยกเข้าพุทธมณฑล สาย 4 ตรงมาเรื่อยๆ เมื่อถึงทางแยกถนนพุทธมณฑลสาย 5 เลี้ยวขวา ตรงมาระยะทาง 6 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายมุ่งตรงสู่วัดดอนหวาย รวมระยะทาง 30 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 30 - 60 นาที

โดยรถประจำทาง รถตู้ปรับอากาศ เมอรี่คิงส์ปิ่นเกล้า - วัดดอนหวาย - วัดไร่ขิง ราคา 40 บาท ใช้เวลาประมาณ 20 -40 นาที ถนนเพชรเกษม คุณสามารถใช้บริการ รถโดยสารปรับอากาศสาย ( ปอ.) 84 (12- 19 บาท) ลงตรงปากทางเข้าวัดไร่ขิง (ให้สังเกตสวนสามพราน ก็ลงป้ายถัดไปได้เลย) และต่อรถสองแถวประจำทาง เข้ามาวัดดอนหวาย (10 บาท) หรือใช้บริการรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง (40 -50 บาท) - สถานีขนส่งสายใต้ สามารถใช้บริการรถโดยสารที่จะไปยัง จังหวัด นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรีเมื่อถึงปากทางใช้บริการ รถสองแถวได้ทั้งสองฝั่ง ทั้งทาง ถนนเพชรเกษมและถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางอนงค์ ทั่งทอง

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางอนงค์ ทั่งทอง