บทที่ 1

เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวัดละเอียด

จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

1. บอกความหมายของการวัดได้

2. บอกถึงวัตถุประสงค์ของการวัดได้

3. บอกถึงองค์ประกอบของขนาดวัดได้

4. บอกถึงที่มาของมาตรฐานด้านความยาวได้

5. แยกประเภทของการวัดได้

6. อธิบายความแตกต่างของคำว่า Accuracy, Precision และ Resolution ได้

7. เลือกใช้เครื่องมือวัดได้อย่างเหมาะสมกับชิ้นงาน ทั้งการวัดเพื่อหา

ข้อมูลและการวัดเพื่อการตรวจสอบ

8. บอกถึงความผิดพลาดของการวัดได้

นิยามของการวัด

การวัดขนาดหรืองานวัดขนาด เป็นวิธีการเปรียบเทียบขนาดกับตัววัด หรือเครื่องมือวัดที่กำหนดเป็นมาตรฐานในการบอกขนาด เพื่อให้ทราบว่าขนาดของชิ้นงานนั้น มีขนาดจริงเท่าใด

คนเราไม่ว่าจะทำอะไร ล้วนเกี่ยวข้องกับการวัดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการวัดในเรื่องของเวลา ความยาวหรือน้ำหนัก ในชีวิตประจำวันนับแต่ตื่นจากที่นอน จนกระทั่งกลับเข้าไปนอนใหม่ ล้วนอยู่ใต้อิทธิพลของนาฬิกาที่ใช้สำหรับวัด ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำขึ้น กำหนดซื้อขายเป็นความยาว หรือเป็นปริมาณของน้ำหนัก ดังนั้นจะเห็นว่าเราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงจากการวัดไปได้

ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก ๆ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและควบคุมขนาดให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบการวัด เพื่อควบคุมขนาดเพื่อเป็นหลักประกันว่า ชิ้นส่วนที่ผลิตสำเร็จออกมาแล้วนี้สามารถใช้สำหรับเป็นชิ้นส่วนสับเปลี่ยนทดแทนกันได้ หรือเมื่อเกิดการชำรุด ก็สามารถที่จะสับเปลี่ยน หรือสามารถที่จะสวมประกอบเข้ากันได้อย่างพอดี

ดังนั้นงานวัดขนาดด้วยเครื่องมือต่าง ๆ จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับงานช่าง โดยผู้เป็นช่างจะต้องศึกษาการใช้เครื่องมือวัดของแต่ละชนิดที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะสามารถวัดหาขนาดของชิ้นงานได้ถูกต้อง


วัตถุประสงค์ของการวัด

ทำไมต้องทำการวัดหรือการวัดมีความสำคัญอย่างไร ขอยกตัวอย่างเช่นในการส่งตัดเหล็กเพื่อป้อนขบวนการผลิต การที่เราจะทราบขนาดของชิ้นงานได้ เราจะต้องทำการวัดขนาดของชิ้นงานจริงเสียก่อนเพื่อบันทึกค่าวัดขนาดต่าง ๆ ลงในแบบ (Drawing) หลังจากนั้นจึงส่งแบบ (Drawing) ไปยังฝ่ายพัสดุเพื่อการจัดเตรียมตัดเหล็กให้ได้ขนาด

การที่จะทราบได้ว่าเหล็กที่ตัดมาแล้วนั้นได้ขนาดหรือไม่ เราก็ต้องทำการวัดขนาดเหล็กที่ตัดมาแล้วอีกครั้งและเปรียบเทียบกับขนาดที่แบบ (Drawing) ที่กำหนด ดังนั้นจึงแยกวัตถุประสงค์ของการวัดออกได้เป็นสองประเด็นคือ

  • การวัดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล

  • การวัดเพื่อการควบคุมหรือตรวจสอบ

องค์ประกอบของขนาด

คำว่า ขนาด (Dimensions) ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก ๆ 4 ส่วน คือ

  • จุดเริ่มต้น

  • ทิศทาง

  • ระยะทาง

  • จุดสุดท้าย


การจะกำหนดระยะห่าง จากคนไปยังกรอบสี่เหลี่ยมนั้นจะต้องอ้างอิงดังนี้

1 จุดเริ่มต้น คือ ตำแหน่งพิกัดจุดเริ่มต้นและระนาบอ้างอิง เช่น ดังในภาพที่ 1-3 การกำหนดจุดเริ่มต้นคือตำแหน่งที่ยืนอยู่หันหน้าไปทางทิศเหนือ

2 ทิศทาง คือ การกำหนดแนวทางของเป้าหมายในทิศทางเมื่อเทียบกับระนาบอ้างอิง

3 ระยะทาง คือ การกำหนดระยะห่าง (Distance) จากจุดเริ่มต้นไปตามแนวทางที่กำหนดจนถึงจุดเป้าหมายโดยระยะทางที่วัดได้จะต้องเทียบกับขนาดมาตรฐาน

4 จุดสุดท้าย คือ จะต้องมีการกำหนดพิกัดจุดสุดท้ายในตำแหน่งที่ชัดเจน ที่สำคัญคือตำแหน่งจุดสุดท้ายและปลายของระยะทางจะต้องเป็นจุดเดียวกัน