ประวัติความเป็นมา

ห้องสมุดประชาชนอำเภอท่าวังผา ได้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยมีคุณหญิงอารี กุลตัณฑ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณให้เป็นจำนวนเงิน 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) และทางอำเภอท่าวังผาได้สบทบเงินอีก เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 700,000 บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน) โดยก่อสร้างในบริเวณที่ว่าการอำเภอท่าวังผา มีเนื้อที่ 720 ตารางวา หรือ 1 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ลักษณะอาคารเป็นคอนกรีต ชั้นเดียว มีนายศิริพงษ์จันทร์ชุ่ม นายอำเภอท่าวังผา นายคงเดช พรมยา ศึกษาธิการอำเภอท่าวังผา นายอุดม มาระวิชัย หัวหน้าศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดน่าน พร้อมนายวิสิทธิ์ วาทิกทินกร จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดน่าน เป็นผู้ดูแลการสร้างห้องสมุดประชาชนอำเภอท่าวังผา ต่อมานายวิสิทธิ์  วาทิกทินกร ติดภารกิจราชการ ไม่สามารถมาดูแลการสร้างห้องสมุดได้ ทางจังหวัดน่าน นายชัยวัฒน์หุตะเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายทวีศักดิ์  สีหราช และนายทวีศักดิ์  คูอาริกูล  มาดูแลการสร้างแทน ซึ่งสร้างโดยห้างจัดการพันธุ์แก้วการช่าง เป็นผู้รับเหมาจ้างสร้างห้องสมุดประชาชนอำเภอท่าวังผา ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2525 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2526 จนแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2526 โดยทางศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดน่าน ได้ส่งนายกาจ ดวงแก้ว นักการภารโรงประจำศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดน่าน มาทำหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุด เป็นการชั่วคราว และทางอำเภอท่าวังผา ได้ให้นายคงเดช  พรมยา ศึกษาธิการอำเภอท่าวังผา เป็นผู้ดูแลให้คำปรึกษา ซึ่งได้เปิดบริการมาจนถึงปัจจุบัน

เกี่ยวกับห้องสมุด


สถานที่ตั้ง

บริเวณที่ว่าการอำเภอท่าวังผา หมู่ที่ 4 ถนนน่าน-ทุ่งช้าง 

ตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน รหัสไปรษณีย์ 55140 

หมายเลขโทรศัพท์ 0-5479-9172 เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.30 - 17.00 น.  (ไม่เว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)


สังกัด

ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอท่าวังผา  

สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดน่าน

กรมส่งเสริมการเรียนรู้

กระทรวงศึกษาธิการ


วิสัยทัศน์

           ห้องสมุดประชาชน เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้บริการประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านและเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต


พันธกิจ 

   1. พัฒนาห้องสมุดประชาชนให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต

   2. พัฒนาห้องสมุดประชาชน โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการ

   3. พัฒนาห้องสมุดประชาชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ อื่น ๆ ในชุมชน


ระเบียบการยืมหนังสือ

   1. แสดงบัตรประชาชนทุกครั้ง

   2. หนังสือทั่วไป ยืมได้ครั้งละไม่เกิน 4 เล่ม นาน 7 วัน

   3. นิตยสาร วารสาร และหนังสืออ้างอิง ไม่สามารถยืมได้

   4. หากทำหนังสือชำรุด หรือสูญหาย ให้ชดใช้ตามราคาหนังสือ